"รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์" จากนักวิจัยสู่ผู้ประกอบการ ปั้น "เอนจินไลฟ์" ต้นแบบ “enterprise” ของจุฬาฯ - Forbes Thailand

"รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์" จากนักวิจัยสู่ผู้ประกอบการ ปั้น "เอนจินไลฟ์" ต้นแบบ “enterprise” ของจุฬาฯ

    "มหาวิทยาลัย" แหล่งเรียนรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพขั้นสูง ผลักดันเด็กจบใหม่ออกสู่ตลาดแรงงานปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 คน ขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งรวบรวมงานวิจัยจากคณาจารย์ที่เป็นมันสมองของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาติดกับดักที่ว่าไม่สามารถผลักดันงานวิจัย "จากหิ้งสู่ห้าง" ได้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น Research University that Teaches ได้จัดตั้งบริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ (CU Enterprise) ปั้นนักวิชาการให้เป็นผู้ประกอบการ เป็นอีกหนึ่งทางรอดของมหาวิทยาลัยในอนาคต

    

    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท นอกเหนือจากค่าการศึกษา และรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงพอในการดูแลเจ้าหน้าที่และคณาจารย์ที่มีเกือบ 8,000 คน ที่ผ่านมา งานวิจัยก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรายได้แต่น้อยมาก ปีละประมาณ 6 ล้านบาท จึงเกิดโมเดลในการผลักดันงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการจัดตั้งบริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CU Enterprise) ขึ้นมา และผลักดันอาจารย์จากนักวิจัยสู่ผู้ประกอบการ ปัจจุบันมีมากกว่า 300 บริษัท

    บริษัท เอนจินไลฟ์ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทสปินออฟ (Spinoff) ที่บริษัท CU Enterprise และบริษัท CU Engineering Enterprise ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมถือหุ้น โดยรศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท เจ้าของงานวิจัยจากการสกัดโปรตีนของไหมไทยมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ ได้ผลิตภัณฑ์ ชื่อว่า “SilkLife” เป็นวัตถุดิบทางการแพทย์ที่สามารถนำไปใช้ผลิตยา หรือวัคซีนได้

    

จากงานวิจัยสู่นวัตกรรมที่ใช้ได้จริง


 

    รศ.ดร.จุฑามาศ เล่าที่มาของการก่อตั้งบริษัท เอนจินไลฟ์ ภายใต้ร่มของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ว่า “ได้ทำงานวิจัยการประยุกต์ใช้ไหมไทยทางการแพทย์มากว่า 17 ปี ตั้งแต่เรียนระดับปริญญาเอก และเป็นอาจารย์อีก 10 ปี มีงานวิจัย บทความวิชาการต่างๆ มากมาย สุดท้ายก็ไปอยู่บนหิ้ง ได้คุยกับอาจารย์ศรัณย์ (ผู้ก่อตั้งและ CTO) ว่าอยากสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การใช้งานจริง ถ้ายังทำบทบาทเดิมยากมาก พอดีจุฬาฯ สนับสนุนการตั้งบริษัท จึงตั้งเอนจินไลฟ์ขึ้นมา” 

    รศ.ดร.จุฑามาศ และ ดร.ศรัณย์ กีรติหัตถยากร ผู้ก่อตั้งเอนจินไลฟ์ เป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาชีววัสดุ เกี่ยวข้องกับการคิดค้นวัสดุ อุปกรณ์ รวมไปถึงสารสกัดต่างๆ สำหรับใช้เพื่อซ่อมแซมอวัยวะ หรือการสร้างอุปกรณ์เพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น เป็นอีกสาขาหนึ่งของวิศวกรรมและการแพทย์ ตั้งบริษัทในช่วงโควิดระบาดพอดี จึงใช้ความเชี่ยวชาญไปพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับโควิดก่อน



    “การสร้างนวัตกรรมไม่ต้องซับซ้อนก็ได้ อะไรที่ทำได้ง่าย สามารถเข้าถึงคนและนำไปสู่การใช้จริงได้ จึงพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก” รศ.ดร.จุฑามาศกล่าว

    ช่วง 2 ปีแรก เอนจินไลฟ์ จึงทุ่มเทไปที่การสร้างนวัตกรรมรองรับสถานการณ์โควิด เช่น “รถกองหนุน” หรือ รถความดันบวก (positive pressure) เป็นรถความดันบวกที่ปลอดเชื้อ 100% ใช้สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปตรวจและทำหัตถการผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ หรือรถตรวจเชื้อพระราชทาน ที่ได้คิดค้นร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นรถต้นแบบ และพระราชทานให้จัดสร้างเพิ่มอีก 4 คัน “รถดมไว” ที่ร่วมกับคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ เปิดปฏิบัติการส่งสุนัขดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อโควิดเคลื่อนที่ ไปจนถึง “กล่องรอดตาย” ในช่วงที่โควิดระบาดหนักจนต้องเข้าระบบ Home isolation พอโควิดซาลง ทีมนักวิจัยจากเอนจินไลฟ์ จึงกลับมาที่งานวิจัยหลัก คือไหมไทย

    

ชูรูปแบบธุรกิจเป็นแพลตฟอร์ม

    

    แนวคิดในการทำธุรกิจของ CU Enterprise ภายใต้การบ่มเพาะของ CU Innovation Hub คือการสร้างเป็นแพลตฟอร์ม ที่ไม่พึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือพึ่งพาสินค้าเพียงตัวเดียว เพราะเสี่ยงล้มเหลวสูง โมเดลธุรกิจของเอนจินไลฟ์ คือการสร้างธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ คือการพัฒนากระบวนการผลิตรังไหมสำหรับการใช้งานทางการแพทย์ กลางน้ำ คือการพัฒนากระบวนการสกัดสารละลายโปรตีนไฟโบรอินจากรังไหมสำหรับเป็นวัตถุดิบเกรดการแพทย์ และปลายน้ำ คือการพัฒาต้นแบบผลิตภัณฑ์ระบบนำส่งยาจากสารละลายโปรตีนไฟรโบอินไหม



    รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวว่า เอนจินไลฟ์ได้ร่วมมือกับกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพัฒนาแปลงหม่อนอินทรีย์ รวมถึงกระบวนการผลิตรังไหมสำหรับการใช้งานทางการแพทย์แห่งแรก ที่อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มีโรงเรือนที่ได้มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ มกษ. 8203 เป็นต้นแบบ และสามารถขยายเพิ่มได้อีก เนื่องจากต้นหม่อนสามารถปลูกได้ทั่วประเทศ โดยกรมหม่อนไหมมีศูนย์ดูแลเพื่อควบคุมคุณภาพ คงความเป็นเอกลักษณ์ของไหมไทยที่มีสีทองแตกต่างจากไหมประเทศอื่นๆ และได้สารสกัดที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ สามารถกระตุ้นการทำงานของเซลล์ในร่างกายได้ดี มีคุณสมบัติในการซ่อม สร้างเนื้อเยื่อในร่างกายได้อย่างปลอดภัย

    สำหรับโครงการปลายน้ำ คือการผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์ โดยร่วมมือกับคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย และเอกชน เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น เป็นระบบนำส่งยา ซึ่งสารสกัดโปรตีนจากรังไหมช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น และอยู่ได้นาน สามารถใช้ได้ทั้งคนและสัตว์ โดยเฉพาะในปศุสัตว์สามารถลดความถี่ และลดต้นทุนการฉีดวัคซีนได้ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์แผ่นแปะรักษาแผล เจลสำหรับฉีดผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม รักษาเนื้อเยื่อต่างๆ นอกจากนี้ ดักแด้หนอนไหมยังได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์พัฒนาเป็นฟังก์ชันนอล ฟู้ด เพราะหนอนไหมให้สารอาหารโปรตีนสูง เป็นต้น

    นี่เป็นแค่ตัวอย่างเบื้องต้น ที่สารสกัดจากรังไหมไทย “SilkLife” สามารถทำได้ ซึ่งขณะนี้นักวิจัยของเอนจินไลฟ์เกือบ 20 คน กำลังพัฒนานวัตกรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่พร้อมให้ผู้สนใจนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล และพร้อมที่จะเปิดรับผู้ร่วมลงทุน โดยจุฬาฯ จะจัดงาน Demo Day ในเดือนต.ค. 2566 นี้ นำบริษัทสปินออฟด้าน Deep Tech ซึ่งมีประมาณ 10 บริษัท รวมทั้งเอนจินไลฟ์ ที่พร้อมเปิดรับผู้ร่วมลงทุนที่ไม่ใช่แค่บริษัทไทย แต่รวมถึงต่างประเทศ เพื่อสเกลธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น ภายในปี 2567 โดยมีกำลังการผลิต 1 ล้านโดสต่อปี

    

จากนักวิจัยสู่ผู้ประกอบการ

    

    รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวว่า แค่ออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ก็เจอโจทย์เยอะมาก สิ่งสำคัญ คือการปรับแนวคิดจากนักวิชาการ นักวิจัย มาสู่การเป็นผู้ประกอบการ ต้องวางแผนธุรกิจ วางแผนการเงิน บุคลากรต่าง ๆ โดย CU Innovation Hub จะเป็นศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการมีรุ่นพี่จากคณะต่างๆ มาช่วยติวเข้มในเรื่องต่างๆ ใช้เวลาถึง 3 ปี โดยสิ่งที่จะทำให้ก้าวข้ามจากจุดนี้ได้ คือการตัดสินใจเปิดบริษัทและลงมือทำ

    “ต้องปรับเยอะมาก วิธีคิดตอนเป็นอาจารย์ คนละขั้วกับการเป็นผู้ประกอบการ ตอนเป็นอาจารย์ เรารู้สึกปลอดภัยในเซฟโซนของเรา มีคนวิ่งมาหาเรา ให้ทุน ทำวิจัย เราก็คิดแค่ทำงานวิจัยให้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องหารายได้ เพราะเรามีเงินเดือน มีความมั่นคง แต่พอเป็นผู้ประกอบการ เราต้องคิดถึงพนักงาน ต้องคิดหาเงินเพื่อจะมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน ต้องบริหารแคส โฟลว์ คิดต่อยอดทางธุรกิจ ให้มีผลกำไร ปันผลให้กับผู้ถือหุ้น แรกๆ เครียดมาก แต่ถ้าไม่เริ่ม ก็ไม่เกิดสักที” รศ.ดร.จุฑามาศกล่าว



    บริษัท เอนจินไลฟ์ ของ รศ.ดร.จุฑามาศ และ ดร.ศรัณย์ เป็นหนึ่งในบริษัทสปินออฟของจุฬาฯ และยังมีอีกหลายบริษัทที่นำงานวิจัยจากบนหิ้งมาสร้างให้เกิดนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตอบโจทย์การสร้างความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของงานวิจัย และบทบาทของมหาวิทยาลัยจากนี้ไป

    

    อ่านเพิ่มเติม : “SCB TechX” จับมือ “VMware” พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการมัลติคลาวด์ด้วย Scaled DevOps

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine