"มาคาเลียส" สตาร์ทอัพท่องเที่ยวเติบโตแรง รับพฤติกรรมยุคไฮบริด - Forbes Thailand

"มาคาเลียส" สตาร์ทอัพท่องเที่ยวเติบโตแรง รับพฤติกรรมยุคไฮบริด



มาคาเลียส ประเทศไทย แพลตฟอร์มท่องเที่ยวน้องใหม่ที่เกิดและเติบโตในช่วงโควิด ด้วยโมเดลธุรกิจที่แตกต่าง และใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและการปรับแผนที่รวดเร็ว สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในยุคไฮบริดนี้

    

    บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย ก่อตั้งโดย ณีรนุช ไตรจักร์วนิช Travel Blogger สาวที่หลงใหลในการท่องเที่ยวในสไตล์นักท่องเที่ยวขี้สงสัย จากเพจ “Trip and Tech-ไปตามน้ำ” จนทำให้มีผู้ติดตามเพจกว่า 47,000 คน จนได้เจอกับ Darius Lebedzinskas เจ้าของแพลตฟอร์ม Makalius ชาวลิทัวเนีย เปิดบริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย ขึ้นเมื่อปี 2562 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มาคาเลียส เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังยุคโควิด

    มาคาเลียส ถือเป็นแหล่งรวม e-Voucher ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ โดยร่วมมือกับกลุ่มมผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตั้งแต่ระดับ 5 ดาว จนถึงโฮมสเตย์กว่า 300 แห่ง รวมทั้งเรือดินเนอร์แม่น้ำเจ้าพระยา และร้านอาหารที่ถูกนำมาจัดเป็นแพคเกจเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ซึ่งเน้นเที่ยวด้วยตัวเองมากกว่าซื้อทัวร์เหมือนแต่ก่อน จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น รูปแบบธุรกิจของมาคาเลียสตอบโจทย์ผู้บริโภคได้และเติบโตอย่างรวดเร็ว

    


ท่องเที่ยวปรับตัวสู่ยุคไฮบริด

    ณีรนุช เล่าว่า ธุรกิจของมาคาเลียสในประเทศไทย เกิดขึ้นก่อนสถานการณ์โควิดไม่นาน แต่มาคาเลียสยังสามารถเติบโตสวนวิกฤตโควิด 19 ด้วยการทำยอดขายถึง 120 ล้านบาทในปี 2563 เติบโตจากปีแรกถึงเท่าตัว ซึ่งเป็นเพราะการบริหารองค์กรแบบกระชับ ยืดหยุ่น และปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ที่ผันผวน 

    หลังจากรัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์ ห้ามท่องเที่ยว ห้ามเดินทาง บริษัทต้องปรับรูปแบบธุรกิจจากการขายแพคเกจที่พัก หันมาขายแพคเกจดินเนอร์เรือสำราญแทน ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจจากบุฟเฟ่ต์ร้านอาหารและเรือสำราญ มีสัดส่วน 30% และยังคงเติบโตต่อเนื่อง 

    ขณะที่ e-Voucher แพคเกจโรงแรมที่พัก ซึ่งมีสัดส่วน 70% ทยอยเติบโต พร้อมกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งปี 2564-2565 ถือว่าทรงตัว และเริ่มฟื้นในปี 2566 นี้ 

    “การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยยังไม่ถึง 100% แต่ดีกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเริ่มทยอยกลับมาเปิดดำเนินธุรกิจ ทั้งรายเดิมและรายใหม่ ทำให้การขายแพคเกจโรงแรมที่พักคึกคักมากขึ้น และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังยุคโควิดทำให้ธุรกิจมีโอกาสมากขึ้น” 



    ณีรนุช กล่าวว่า ในปีนี้ เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการท่องเที่ยว โดยมีการหันมาเที่ยววันธรรมดามากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังโควิด ที่หลายองค์กร บริษัทต่างๆ ยังคงใช้รูปแบบการทำงานแบบไฮบริด เปิดให้พนักงานทำงานได้จากที่บ้าน (Work from Home) หรือทำงานได้ทุกที่ (Work from Everywhere) ทำให้สัดส่วนการเข้าพักในวันธรรมดาเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากปกติผู้บริโภคจะท่องเที่ยววันเสาร์-อาทิตย์ถึง 90%

    

ปรับแพคเกจรองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

     

    จากการวางรูปแบบธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ ทำให้มาคาเลียสมี Data และสามารถปรับเปลี่ยนแพคเกจที่พักให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลียนไป เป็นแพคเกจที่สามารถใช้ได้ทุกวัน และออกแบบให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์คนทำงาน ทั้งการเลือกโรงแรม ที่พัก ที่ต้องการมีความพร้อมรองรับการทำงานของแขกผู้เข้าพัก และสิ่งที่ยังเน้น คือการมัดรวมความคุ้มค่าต่อการท่องเที่ยว 1 ครั้ง ทั้งที่พักและที่กิน 


    ณีรนุช กล่าวว่า มาคาเลียส ออกแบบแพคเกจท่องเที่ยวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อใช้ได้กับทุกวัน และพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ก็คือพัทยา ซึ่งระยะทางสอดรับกับการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการเปลี่ยนที่ทำงาน ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วย พ่วงด้วยกิจกรรมสำหรับครอบครัว รวมถึงทำเลยอดนิยมใกล้กรุงเทพฯ เช่น ชะอำ เขาใหญ่ นครนายก กาญจนบุรี ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

    “พฤติกรรมของผู้บริโภคตอนนี้ อยากกิน อยากเที่ยว ครบ จบที่เดียว ยิ่งเป็นคนทำงาน ทำงานเสร็จก็พักผ่อน และทานอาหารให้ครบในที่เดียว ซึ่งเราก็ต้องออกแบบแพคเกจให้ตรงกับความต้องการของคนกลุ่มนี้มากขึ้น สิ่งสำคัญที่ลูกค้าต้องการ คือความคุ้มค่า ทั้งส่วนลดที่ให้ และของแถม” 



    พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค สอดรับกับการดำเนินธุรกิจของมาคาเลียส ที่เน้นการออกแบบแพคเกจให้คุ้มค่ามากที่สุด สำหรับคนโสด วัยทำงาน ครอบครัวขนาดเล็ก รวมถึงครอบครัวขนาดใหญ่ ที่อยากเดินทางไปพักผ่อน เปลี่ยนที่นอน และทานอาหารให้จบในที่เดียว โดยไม่ต้องเดินทางไปไหน 

    

เน้นบริหารองค์กรสู้ความเสี่ยง

    

    ณีรนุช กล่าวว่า จากความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจหลังเกิดสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี ให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริการลูกค้า ลดความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน ที่สำคัญช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายและสะดวกด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ช่วยบริหารต้นทุนขององค์กรให้สามารถยืนหยัดฝ่าวิกฤตได้ 

    “องค์กรของเราเน้น LEAN ใช้คนไม่เยอะ แต่เน้นลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการลูกค้า และสามารถปรับแผน ปรับรูปแบบการบริการได้อย่างรวดเร็ว สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เชื่อว่าหลังการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ธุรกิจของเราจะกลับมาเติบโตอยางก้าวกระโดด เพราะธุรกิจท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้ประเทศ” ณีรนุชกล่าวทิ้งท้าย

    อ่านเพิ่มเติม : ลุ้นการเมืองไทยจบส.ค.นี้ เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine