บ้านปู เพาเวอร์ โชว์ผลกำไรครึ่งปีแรก 66 กำไรสุทธิ 3,452 ล้านบาท ดันศักยภาพโรงไฟฟ้า Temple ll เสริมทัพพอร์ตเมกะวัตต์คุณภาพตามเป้า - Forbes Thailand

บ้านปู เพาเวอร์ โชว์ผลกำไรครึ่งปีแรก 66 กำไรสุทธิ 3,452 ล้านบาท ดันศักยภาพโรงไฟฟ้า Temple ll เสริมทัพพอร์ตเมกะวัตต์คุณภาพตามเป้า

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Aug 2023 | 07:00 PM
READ 667

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากลที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Powering Energy Sustainability with Quality Megawatts (มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ)” รายงานผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ปี 2566 ด้วยกำไรสุทธิ 3,452 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 4,100 ล้านบาท 

    

    สะท้อนถึงความสามารถในการรักษาเสถียรภาพการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง รวมทั้งสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีกระแสเงินสดมั่นคง อีกทั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

    กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมในครึ่งแรกของปี 2566 BPP ยังคงสามารถรักษาเสถียรภาพการผลิตของโรงไฟฟ้าทุกแห่งได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถสร้างกระแสเงินสดและรายงานผลกำไรได้

    อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้เราเดินหน้าสร้างการเติบโตได้ตามแผน โดยล่าสุดได้ต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจของ BPP ในสหรัฐฯ ด้วยการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง พร้อมสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที 

    อีกทั้งยังสามารถผสานพลังร่วมกับโรงไฟฟ้า Temple l ได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการใช้ทรัพยากรร่วมกันและบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรโดยผสานพลังร่วมและดึงศักยภาพสูงสุดของทั้ง 2 โรงไฟฟ้าผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 

      1) Operation Excellence เน้นแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมและมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ต่างๆ 

      2) Strategic Trading Approach วางกลยุทธ์ซื้อขายไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการกำหนดราคาซื้อขายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และ 

     3) Hedging and Risk Management มีกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงและใช้เครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่างๆ ในการจัดการความเสี่ยงเพื่อให้ได้กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ 

    ซึ่งทั้ง 3 มาตรการนี้จะทำให้โรงไฟฟ้าของเรามีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้ BPP ได้อย่างมั่นคง

    สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2566 ของ BPP ส่วนหลักมาจากการเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงไฟฟ้าเอชพีซีใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทย โดยมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 93 ด้านโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐฯ รับรู้รายได้จำนวน 2,981 ล้านบาท เป็นผลมาจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในเขตพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา 

    นอกจากนี้ ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ที่ BPP ได้ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ในสัดส่วนร้อยละ 50 ยังคงขยายการเติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ได้เข้าลงทุนในโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มขนาดใหญ่อิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิต 58 เมกะวัตต์ชั่วโมง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 เพื่อสร้างพลังร่วมกับธุรกิจ Energy Trading ที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วในญี่ปุ่นได้ในอนาคต อีกทั้งยังได้ลงทุนในโอยิกะ (Oyika) สตาร์ทอัพสิงคโปร์ ผู้ให้บริการโซลูชันสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เป็นต้น

    ในไตรมาส 3/2566 BPP ยังคงเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้และกระแสเงินสด โดยคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า Temple II ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐเท็กซัสกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน จึงทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูง ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติ อัตราค่าไฟฟ้า และปริมาณยอดขายไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ 

    นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา BPP ได้จัดตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environment Social and Governance: ESG) อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางและนโยบาย ESG ของ BPP สู่เป้าหมายในการขับเคลื่อนอนาคตแห่งการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน โดยเน้นความโปร่งใสและความเป็นอิสระในการกำกับดูแลด้านความยั่งยืนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม กิรณกล่าวปิดท้าย

    

    อ่านเพิ่มเติม : เจาะลึกสถานการณ์และแนวโน้มในอนาคต "ตลาดบ้านหรู"

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine