ตลาดศิลปะร่วมสมัยเติบโต 2200% เป็นสถานที่ปลอดภัยในยามวิกฤต - Forbes Thailand

ตลาดศิลปะร่วมสมัยเติบโต 2200% เป็นสถานที่ปลอดภัยในยามวิกฤต

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Oct 2023 | 05:32 PM
READ 2176

อาร์ตไพรซ์ (Artprice) โดยอาร์ตมาร์เก็ต (Artmarket) เปิดตัวรายงานตลาดศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art Market Report) ประจำปี 2566 ประจวบเหมาะกับงานนิทรรศการศิลปะฟรีซ (Frieze) ของกรุงลอนดอน และงานปารีสพลัส โดยอาร์ต บาเซิล (Paris+ by Art Basel) ในเมืองหลวงของฝรั่งเศส โดยประเด็นสำคัญของรายงานฉบับนี้อยู่ที่ ตลาดศิลปะที่เติบโตขึ้นมากกว่า 2,200% นับตั้งแต่ปี 2543 สถิติใหม่ที่ค่อยๆ ถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง และศิลปะยังคงเป็นสถานที่ปลอดภัยในยามวิกฤต


    เธียร์รี เออร์มันน์ (Thierry Ehrmann) ผู้ก่อตั้งอาร์ตไพรซ์และซีอีโอของบริษัทแม่อย่างอาร์ตมาร์เก็ต ระบุว่า ตลาดศิลปะร่วมสมัยได้เปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยการประมูลที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 2,200% จำนวนศิลปินร่วมสมัยที่มามีส่วนร่วมมากขึ้น (จากศิลปิน 5,400 คน เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 38,000 คน) และปริมาณการแลกเปลี่ยนผลงานที่เพิ่มขึ้น (จาก 12,000 ล็อตที่เสนอขายสู่ 123,000 ล็อต) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในเชิงโครงสร้าง รวมถึงเชิงภูมิศาสตร์ด้วยโดยมีประเทศที่เข้าร่วมในตลาดนี้ 64 ประเทศ เมื่อเทียบกับ 39 ประเทศเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แน่นอนว่า ตลาดศิลปะร่วมสมัยเร่งตัวขึ้นด้วยอินเทอร์เน็ตและความลื่นไหลในการทำธุรกรรมทางไกล และตอนนี้ตลาดนี้ได้กลายเป็นตัวแทนของตลาดศิลปะที่มีชีวิตชีวาและทำกำไรได้มากที่สุดในศตวรรษที่ 21

    ในรายงานประจำปีฉบับที่ 27 อาร์ตไพรซ์ โดย Artmarket.com นำเสนอและสำรวจตลาดศิลปะร่วมสมัย (Contemporary) และศิลปะร่วมสมัยพิเศษ (Ultra-Contemporary) ซึ่งมีชีวิตชีวามากกว่าครั้งไหนๆ โดยรายงานตลาดศิลปะร่วมสมัยประจำปี 2566 ของอาร์ตไพรซ์มีเนื้อหาที่น่าสนใจสรุปได้ ดังนี้



ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary หรือศิลปะโดยศิลปินเกิดหลังจากปี 2488)

    มูลค่าการซื้อขายของตลาดศิลปะร่วมสมัยกลุ่มนี้อยู่ที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์ทั่วโลก ตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม 2565 – มิถุนายน 2566) ถือเป็นช่วงเวลาที่ทำผลงานได้ดีที่สุดเป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์ของตลาดศิลปะร่วมสมัย โดยมูลค่าการประมูลในภาคส่วนนี้เพิ่มขึ้น 22 เท่า นับตั้งแต่ปี 2543/2544 (103 ล้านดอลลาร์)

    ศิลปะร่วมสมัยมีสัดส่วนคิดเป็น 16% ของตลาดการประมูลวิจิตรศิลป์ (Fine Art) และเอ็นเอฟที (NFT)

    ภาคส่วนนี้มีการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นทำลายสถิติที่ยอดขาย 123,450 ล็อต ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา (+2%) ปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น 10 เท่า นับตั้งแต่ปี 2543/2544 (ซึ่งศิลปะร่วมสมัยถูกจำหน่ายเพียง 12,500 ล็อต) ราคาประมูลเฉลี่ยของศิลปะร่วมสมัยอยู่ที่ 18,600 ดอลลาร์ ส่วนราคาสูงสุดที่มีการจ่ายให้กับผลงานศิลปะร่วมสมัยคือ 67.1 ล้านดอลลาร์สำหรับผลงานของฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat)

    สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำระดับโลกในภาคส่วนนี้ด้วยมูลค่าการประมูลที่ 857 ล้านดอลลาร์ ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ตลาดสหรัฐฯ มีมูลค่าอยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564/2565 ส่วนตลาดจีนตามมาเป็นอันดับ 2 โดยมีมูลค่า 744 ล้านดอลลาร์ สหราชอาณาจักรครองอันดับ 3 ด้วยมูลค่า 376 ล้านดอลลาร์ ฝรั่งเศสเป็นอันดับที่ 4 ด้วยมูลค่า 46 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นตามมาเป็นอันดับที่ 5 ด้วยมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์

    คริสตีส์ (Christies) เป็นผู้ดำเนินการประมูลระดับโลกชั้นนำในภาคส่วนนี้ โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 650 ล้านดอลลาร์ (คิดเป็น 31% ของมูลค่ารวมทั่วโลก) บริษัทประมูลซัทเทบีส์ (Sotheby) ครองอันดับ 2 ด้วยมูลค่า 595 ล้านดอลลาร์ (คิดเป็น 28%) และบริษัทประมูลฟิลิปส์ (Phillips) ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยมูลค่า 260 ล้านดอลลาร์ (คิดเป็น 12%)


The Nile ผลงานมูลค่า 67.1 ล้านดอลลาร์ โดยศิลปิน Jean-Michel Basquiat


    ไชนา การ์เดียน (China Guardian) เป็นบริษัทประมูลชั้นนำของจีน โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 82 ล้านดอลลาร์ (คิดเป็น4%) ส่วนเคตเทเรอร์ (Ketterer) เป็นบริษัทประมูลชั้นนำของยุโรป โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 11 ล้านดอลลาร์ (0.5%)


ศิลปะร่วมสมัยพิเศษ (Ultra-Contemporary หรือศิลปะโดยศิลปินอายุไม่เกิน 40 ปี)

    กลุ่มศิลปะร่วมสมัยพิเศษกวาดรายได้ 127 ล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยมูลค่าการซื้อขายทั่วโลกลดลง 38% เมื่อเทียบช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 เป็นช่วงครึ่งปีที่ดีที่สุดอันดับ 3 ในกลุ่มศิลปะร่วมสมัยพิเศษ นับตั้งแต่ปี 2543

    ในระยะเวลา 23 ปี มูลค่าการซื้อขายของภาคส่วนนี้เพิ่มขึ้น 8.5 เท่า (จาก 14.9 ล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2543)

    ศิลปะร่วมสมัยพิเศษมีสัดส่วน 12% ของตลาดการประมูลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งหมด และมีสัดส่วน 2% ของมูลค่าการซื้อขายงานวิจิตรศิลป์และ NFT ทั่วโลก

    ผลงานศิลปะร่วมสมัยพิเศษจำนวน 4,520 ชิ้นถูกขายในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

    ราคาเฉลี่ยของผลงานศิลปะร่วมสมัยพิเศษแตะ 28,100 ดอลลาร์ โดยภาพจิตรกรรมมีสัดส่วน 80% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด ซึ่ง NFT นับเป็นสื่อกลางที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มนี้ คิดเป็น 11% สร้างรายได้รวม 14.2 ล้านดอลลาร์ ส่วนภาพวาดมีสัดส่วน 5.8% และประติมากรรม 1.5%

    สหรัฐก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางชั้นนำในการซื้อขายผลงานศิลปะร่วมสมัยพิเศษที่ 41 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 32% ตามด้วยฮ่องกงที่มีมูลค่าการซื้อขายงานของกลุ่มนี้ 31% และจีนอยู่ที่ 7% ส่วนสหราชอาณาจักรมีมูลค่าการซื้อขายรวม 26 ล้านดอลลาร์ ทำรายได้ 20% ของมูลค่าการซื้อขายงานศิลปะร่วมสมัยพิเศษทั่วโลก

    ศิลปินอายุไม่ถึง 40 ปี จำนวน 2,646 ราย ประมูลผลงานอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดย แมทธิว หว่อง (Matthew Wong) (2527-2562) ทุบสถิติใหม่ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 6.6 ล้านดอลลาร์


River at Dusk ผลงานมูลค่า 6.6 ล้านดอลลาร์ โดยศิลปิน Matthew Wong

ศิลปะ สินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางวิกฤต

    โดยสรุป แม้ภาคส่วนอื่นของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากบริบททางภูมิศาสตร์การเมืองและการเงินในปัจจุบัน แต่ตลาดศิลปะก็ยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยสร้างสถิติการซื้อขายอยู่บ่อยครั้งสำหรับผลงานจากทุกยุคศิลปะและในหลากหลายประเทศในการขายครั้งล่าสุด นอกจากนี้ ยังไม่มีการยกเลิกการขายตามแคตตาล็อกคลาสสิกและ/หรือเพรสทีจสำหรับปี 2566 หรือ 2567 ยอดขายเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในตลาดงานศิลปะทั้งหมด

    บริษัทประมูลและนักลงทุนรายใหญ่ต่างรู้ดีว่าศิลปะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและเป็นการลงทุนที่ดี ตามที่แสดงให้เห็นผ่านดัชนี Artprice100 ซึ่งสร้างผลตอบแทนดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นแบบดั้งเดิม ช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนในตลาดหุ้นในปัจจุบันยังส่งผลให้มีการนำเงินทุนและการลงทุนใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดศิลปะอีกด้วย

    ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา อาร์ตไพรซ์ได้สังเกตเห็นแล้วว่าตลาดศิลปะได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดการเงินและเศรษฐกิจ แนวโน้มนี้เกิดขึ้นจริงในระหว่างเหตุการณ์ ดัชนี Nasdaq เกิดฟองสบู่แตกในปี 2543, หลังการโจมตี 9/11 ในปี 2544, สงครามอัฟกานิสถานในปี 2544, สงครามอิรักในปี 2546, วิกฤตซับไพรม์และ CDS ในปี 2550, อัตราดอกเบี้ยติดลบที่เริ่มขึ้นในปี 2554 และวิกฤตโควิด-19 ในปี 2562 แม้ปัจจุบันจะเกิดความไม่สงบทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่และความหวาดกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลาดศิลปะก็ยังสามารถรักษาความแข็งแกร่งได้



อ่านเพิ่มเติม : Gartner เปิด 5 เทคโนโลยีพลิกองค์กรสู่อนาคตดิจิทัล

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine