พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัล Ai จนถึง ChatGPT เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน รวมไปถึงการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ถือเป็นภารกิจสำคัญของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ okmd ในฐานะเป็น "ดิสรัปเตอร์" (disrupter) ของวงการศึกษาไทย โดยมี ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการคนล่าสุด มาร่วมขับเคลื่อนสร้างองค์ความรู้ในประเทศไทย
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร เข้ารับตำแหน่งที่ okmd เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านพลังงาน เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รองปลัดกระทรวงพลังงาน และก่อนเข้ารับตำแหน่งที่ okmd เป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ผ่านการดูแลนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ขณะที่ด้านการศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน
“เรื่องการศึกษาของประเทศเป็นเรื่องใหญ่เช่นเดียวกัน แต่มีความยากกว่า เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วอย่างที่ตั้งใจ การเข้ารับตำแหน่งนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก” ดร.ทวารัฐกล่าว
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ okmd เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกวางบทบาทให้เป็น "ดิสรัปเตอร์" ของวงการการศึกษาไทย โดยการสร้างแนวทางการศึกษาใหม่ๆ ที่อยู่นอกกรอบ นอกห้องเรียน มีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายใต้การบริหารของ okmd เช่น TK Park มิวเซียม สยาม เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการขยายตัวของโซเชี่ยล มีเดียที่ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น
4 เทรนด์ความรู้ที่คนไทยต้องมี
ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า ในยุคที่การเรียนรู้มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงคนได้จำนวนมาก แต่องค์ความรู้สำคัญที่คนไทยจะต้องมี และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต มี 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1. ความรู้เรื่องสุขภาพและสาธารณสุข (Health Literacy) 2. ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการเงิน (Financial Literacy) 3. ความรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และ 4. เรื่องความยั่งยืน (Climate change Literacy)
“ทั้ง 4 เรื่อง เป็นเรื่องสำคัญตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหลักการสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยดำรงชีวิตได้อย่างดีในศตวรรษหน้า เป็นองค์ความรู้ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ พลังงานทดแทน การดูแลสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเรื่องสุขภาพ และรายได้ของประชาชน ซึ่งจุดประกายให้ okmd นำไปต่อยอด พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้อีกมากมาย”
ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี วิถีชีวิตแบบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังโควิด ทำให้กระบวนการเรียนรู้ต้องปรับตัว การ UpSkill และ ReSkill ถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการศึกษาสมัยใหม่ และครู ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่ต้อง UpSkill และ ReSkill ซึ่งดร.ทวารัฐ มองว่าสิ่งที่จะเข้ามาช่วยในการปรับกระบวนการในครั้งนี้มีสองส่วนที่สำคัญ คือการใช้ Digital Media และ นวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น Problem–based Learning การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะได้ในหลายมิติ เช่น แปลงความรู้ออกมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ ผ่านห้องปฏิบัติการสร้างต้นแบบนวัตกรรม (Fabrication LAB : Fab LAB) รวมไปถึงการฝึกฝนทักษะ Soft skill อย่างการทำงานเป็นทีม การแสดงภาวะผู้นำ ถือเป็นทักษะที่จำเป็นในอนาคต
เสริมเทคโนโลยีลดเหลื่อมล้ำ
ด้วยความพร้อมในด้านเทคโนโลยี okmd ได้ยกระดับพื้นที่เรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ okmd Knowledge Portal เพื่อกระจายความรู้สู่คนไทยอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นเหมือน Search Engine ด้านการศึกษาของประเทศ ที่สร้างอัลกริทึมการสืบค้นที่เน้นคีย์เวิร์ด ไม่เน้นความถี่ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงบทความ หรืองานวิจัยที่นักวิชาการเขียนไว้ในเชิงความรู้ หรือข้อเท็จจริงต่างๆ โดยรวบรวมข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 20 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบเนื้อหา วิดีโอคลิป และพอตคาสต์ โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ วันที่ 7 ก.ย. 2566 นี้
“okmd Knowledge Portal จะเป็นช่องทางให้คนสามารถค้นหาความรู้ในโลกดิจิทัล ที่มีข้อมูลมากมายมหาศาล ช่วยให้คนเข้าถึงข้อมูลการศึกษาได้ง่ายขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาของประชาชน” ดร.ทวารัฐระบุ
นอกจากนี้ okmd จะนำเทคโนโลยีไปพัฒนาการให้บริการ ทั้งห้องสมุด TK Park ในรูปแบบ e-Library หรือ Digital Museam การท่องพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบ Metaverse ที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น และมีแผนจะทำ Read Cafe นำห้องสมุด TK park ไปเชื่อมต่อกับเชนร้านกาแฟต่างๆ เพื่อให้คนเข้าถึงการอ่านหนังสือได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหนังสือกว่า 20,000 เรื่องที่สามารถอ่านผ่านไอแพดหรือสมาร์ตโฟนได้
“อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเรื่องการศึกษาเป็นงานใหญ่ ที่มีคนให้ความสำคัญน้อย จึงต้องใช้เวลา เป็นความท้าทาย ที่รู้สึกดีใจและสนุกที่ได้มาทำงานตรงนี้ สิ่งสำคัญคือการทำให้คนในองค์กรเป็นดิสรัปเตอร์ที่พร้อมจะลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืนในอนาคต” ดร.ทวารัฐกล่าวทิ้งท้าย
อ่านเพิ่มเติม : SABINA ร่วมให้ข้อมูล Opp Day เดินหน้าปันผล 100% ของกำไรสุทธิ พร้อมโชว์อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ครึ่งแรกปี 66 ทุบสถิตินิวไฮที่ 13.3%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine