ฟูจิตสึ ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาคิดค้นเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น ที่อยู่ในตลาดประเทศไทยมานานว่า 33 ปี ได้ประกาศแต่งตั้ง "กนกกมล เลาหบูรณะกิจ" เป็นกรรมการผู้จัดการ ฟูจิตสึ ประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กร ภายใต้ Fujitsu Uvance หัวใจสำคัญที่จะนำพาองค์กรธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ไปพร้อมๆ กับการปูพรมเตรียมพร้อมธุรกิจไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน (Sustainability Transformation - SX) ซึ่งเป็นภารกิจและพันธกิจหลักของกนกกมล
ปัจจุบัน โลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาชญากรรมในโลกไซเบอร์ ความยากจน และปัญหาสิทธิมนุษยชน ความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีองค์กรหรืออุตสาหกรรมใดที่สามารถเผชิญปัญหาทั้งหมดได้ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ในปี 2573 คือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ฟูจิตสึ จึงขอเป็น่ส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนด้วยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และถือเป็นภารกิจสำคัญของ "กนกกมล เลาหบูรณะกิจ" กรรมการผู้จัดการผู้หญิงไทยคนแรกของ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย)
กนกกมล ในวัยเยาว์เป็นเด็กสาวคนหนึ่งที่หลงใหลในการ์ตูนญี่ปุ่น ชื่นชอบวัฒนธรรมและภาษาญีปุ่น จนได้ไปศึกษาต่อที่ Hiroshima University หลังจากจบมามีความตั้งใจที่จะเข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งช่วงปี 1980 ถือเป็นยุคเจแปนนิส บูม มีบริษัทญี่ปุ่นมากมายเข้าตั้งโรงงาน และบริษัทในประเทศไทย รวมถึงฟูจิตสึ จึงเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่บริษัทแห่งนี้เมื่อ 25 ปีก่อน เริ่มจากพนักงานขายอาวุโส จนปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) และเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด
“วัฒนธรรมญี่ปุ่นจะมีระเบียบและเคร่งครัด คนญี่ปุ่นมีวินัยสูง แต่ที่ฟูจิตสึ แม้จะมีความเป็นญี่ปุ่น แต่มีการผสมผสาน Global Culture มากกว่าที่อื่น รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้หญิงไทยได้ขึ้นเป็นซีอีโอในรอบ 32 ปี ถือเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว การทำงานที่ฟูจิตสึเหมือนต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองตลอดเวลา แม้จะอยู่กับองค์กรแห่งนี้มานานถึง 25 ปี แต่มีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอด” กนกกมล เล่าถึงเส้นทางการทำงานแม้จะเป็นระยะเวลานาน แต่ก็ไม่รู้สึกเบื่อ
วางกลยุทธ์สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
กนกกมล เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2565 เป็นช่วงที่สถานการณ์ของโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเทรนด์การลงทุนด้านเทคโนโลยีกลับมาขยายตัวสูงอีกครั้ง หลังจากชะลอตัวไปในช่วงโควิด และเทรนด์การลงทุนด้านเทคโนโลยีในครั้งนี้ หลายบริษัทมุ่งให้ความสำคัญในการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายนั้น
“ที่ผ่านมา เราพูดถึงดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่วันนี้องค์กรมองไปไกลกว่านั้น มองถึงการลงทุนเพื่อความยั่งยืน การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม การดูแลโลก เพื่อให้เป็นโลกที่ดีสำหรับคนรุ่นหลัง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของฟูจิตสึที่เน้นผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านไอที เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตามหลัก EESG ซึ่งประกอบด้วย Economic, Environment, Social, และ Governance ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ว่า “Make the world more sustainable by building trust in society through innovation” กนกกมลกล่าว
ฟูจิตสึ ได้ออกแบบโซลูชั่นเพื่อความยังยืน ภายใต้ Fujitsu Uvance ประกอบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 7 ด้าน ได้แก่ การผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Manufacturing), ประสบการณ์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Experience), ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (Healthy Living), การสร้างสังคมที่น่าเชื่อถือ (Trusted Society) โดยมี 3 โซลูชั่นหลักที่ช่วยสนับสนุน ได้แก่ Digital Shifts, Business Applications และ Hybrid IT
กนกกมล กล่าวว่า แนวโน้มองค์กรกลับมาให้ความสำคัญในการลงทุนด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นมากขึ้น สอดรับกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงในยุคหลังโควิด ธุรกิจที่ไม่ใช่ภาคผลิตเน้นการทำงานจากที่ไหนก็ได้ จึงมีการลงทุนโซลูชั่นการทำงานแบบดิจิทัล (Digital Workplace) ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ระบบคลาวด์ ไฮบริด ไอที เป็นต้น ขณะเดียวกันได้เพิ่มการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Transformation หรือ SX) เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับเทรนด์เรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ องค์กรยังคงให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง และมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคค่อนข้างมากอย่างค้าปลีก แต่สำหรับองค์กรที่อยู่ในภาคผลิต กลับมาให้ความสำคัญกับการวางแผนจัดการข้อมูล หรือ ดาต้าให้เรียบร้อย ก่อนจะนำระบบเอไอเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
มุ่งขับเคลื่อนองค์กรเติบโตต่อเนื่อง
สำหรับปี 2565 ที่ผ่านมา หลังการฟื้นตัวจากโควิด ฟูจิตสึ มีอัตราการเติบโตสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และปีนี้บริษัทวางเป้าหมายเติบโตต่อเนื่อง อีกร้อยละ 8 จากปีที่แล้ว หรือมีรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา ฟูจิตสึ เอเชียแปซิฟิก ได้ทยอยเข้าซื้อกิจการ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการให้บริการลูกค้า รวม 7 บริษัท โดยบริษัทล่าสุด คือบริษัท อินโนเวชั่น คอนซัลท์ติ้ง เซอร์วิส จำกัด (ICS) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านระบบ SAP ในประเทศไทย ซึ่งการซื้อกิจการในครั้งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับขีดความสามารถของ ฟูจิตสึ ในด้านบริการให้คำปรึกษาและบริหารการจัดการระบบ SAP ในไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของ กนกกมล คือการผลักดันธุรกิจใหม่ ๆ เหล่านี้ให้เติบโตเพิ่มขึ้น
“SAP เป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญในกลยุทธ์การเติบโตของเรา และเป็นหัวใจสำคัญ ที่ช่วยเหลือลูกค้าในด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน หรือการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation - DX) เพื่อการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืน (Sustainability Transformation - SX) การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ จะช่วยสร้างชุมชนของผู้ใช้ระบบ SAP ที่มีทักษะมากขึ้นในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า”
ด้วยความที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับซีอีโอหญิงแห่งฟูจิตสึ ซึ่งเธอได้วางวิสัยทัศน์ไว้ 3 ข้อด้วยกัน คือ 1. การขับเคลื่อนองค์กรรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 2. เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรรองรับความต้องการของลูกค้า และ 3. นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ลูกค้าในประเทศไทย
“ในฐานะซีอีโอ ต้องผลักดันให้พนักงานเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ให้เขาเข้าใจและเชื่อมั่นในนโยบายของบริษัทที่จะนำองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้พนักงานได้แลกเปลียนมุมมอง แนวคิด ซึ่งที่ฟูจิตสึเปิดกว้าง ให้อิสระ และเคารพความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศ เชื้อชาติ ศาสนาใดก็ตาม อยากสร้างวัฒนธรรม ที่คนในองค์กรมุ่งสร้างความสำเร็จร่วมกัน” กนกกมลกล่าวทิ้งท้าย
อ่านเพิ่มเติม : Binance แต่งตั้ง เรเชล คอลแลน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine