ฝ่าวิกฤตด้วยแนวคิด Growth Mindset แบบฉบับ Line ประเทศไทย - Forbes Thailand

ฝ่าวิกฤตด้วยแนวคิด Growth Mindset แบบฉบับ Line ประเทศไทย

ถ้าหากคุณกำลังหามุมมองเพื่อพาองค์กรฝ่าวิกฤตโควิด-19 พร้อมปรับตัวรับวิถี New Normal อยู่ล่ะก็ แนวคิดของ Line ประเทศไทย ก็เป็นอีกแนวคิดที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบกับธุรกิจเป็นวงกว้าง ทั้งยังกระทบกับคนทำงานที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ในรูปแบบปกติอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้ก็กลับกลายเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสให้หลายองค์กรได้ปรับตัว เปลี่ยนมุมมองเพื่อฝ่าวิกฤต พร้อมเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ New Normal ที่กำลังเกิดขึ้น

อย่างเช่น Line แพลตฟอร์มที่เริ่มต้นจากการเป็นแอปแชต และขยายการเติบโตสู่บริการต่างๆ มากมาย วันนี้ในวันที่โรคระบาดสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับทุกธุรกิจ Line ประเทศไทย แม้จะได้รับผลกระทบในเรื่องของการทำงาน แต่ยังสามารถสร้างการเติบโตไว้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งองค์แห่งนี้บอกว่าเป็นผลผลิตมาจากการใช้แนวคิด Growth Mindset

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ Line ประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า Line ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงาน ซึ่งพนักงานในไทยกว่า 400 คนต้องทำงานที่บ้าน ส่งผลโดยตรงต่องานพัฒนาโปรดักต์

ขณะที่ในภาคธุรกิจ ซึ่งรายได้หลักๆ ของ Line ประเทศไทยมาจากการโฆษณา (ซึ่งรวม Line ออฟฟิเชียล) ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แม้ Nielsen จะมองว่าภาพรวมการใช้เม็ดเงินโฆษณาของธุรกิจต่างๆ จะลดลงอย่างน่าตกใจ แต่ในสื่ออนไลน์จะเพิ่มขึ้น แต่สำหรับ Line ประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น

"เท่าที่คุยกับลูกค้าในหลายธุรกิจ ทุกคนมีความรู้สึกไปในทางเดียวกันว่าจะชะลอการใช้เงินโฆษณาออกไปก่อน เพื่อรอดูพฤติกรรมของผู้บริโภค

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร

กระนั้น ในทุกๆ วิกฤตยังมีโอกาสอยู่เสมอ เมื่อเม็ดเงินโฆษณาจากธุรกิจขนาดใหญ่ลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ SME ไทยต่างพยายามดิ้นเอาตัวรอด ส่งผลให้บริษัทคนไทยมุ่งสู่ดิจิทัล และเปิดตัว Line Official และ MyShop ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซของ Line เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมี Line Official Account ราว 4 ล้านบัญชี ส่วน MyShop ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมานั้น ปัจจุบันมีร้านค้าเพิ่มขึ้นมาเป็นมากกว่า 1 หมื่นร้านค้า มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 180% เมื่อเทียบระหว่างเดือนมกราคมและเดือนเมษายน ขณะที่สินค้าที่วางขายมีตั้งแต่ผลผลิตจากเกษตรกร ไปจนถึงสินค้าชักชัวรี

แม้ My Shop จะเป็นบริการที่ให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ Line Official นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่มีค่าใช้จ่าย การเติบโตของจำนวนบัญชีอย่างเป็นทางการของผู้ประกอบการ SME ไทยในช่วงโควิด-19 ก็ช่วยชดเชยรายได้จากลูกค้าองค์กรใหญ่ให้กับ Line ประเทศไทยได้

ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นของการซื้อของออนไลน์จนสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วให้กับ MyShop ส่งผลให้ Line ประเทศไทยเองก็ปรับไปป์ไลน์การทำงานใหม่ ด้วยการปล่อยฟีเจอร์ต่างๆ ออกมาเร็วกว่าที่ตั้งไว้ พร้อมปรับการทำงานให้ทีมที่พัฒนาสินค้ามาพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อรับกับโจทย์ในปัจจุบัน

นรสิทธิ์ ชี้ว่า แนวคิดที่ Line ประเทศไทยใช้เพื่อฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ก็คือ Growth Mindset ซึ่งมีหลักสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

1.สร้างเป้าหมายให้ชัดเจน - การสร้างเป้าหมายให้ชัดเจนนั้นทำเพื่อให้ทุกคนในองค์กรรู้ว่าเราจะทำอะไร โดยเซตเป้าหมายให้มากกว่าที่เราสามารถทำได้ เพราะถ้าตั้งเป้าไว้ใกล้นิดเดียว ผลลัพธ์ก็อาจไม่ต่างจากปีที่แล้วมากนัก ดังนั้น จึงขึ้นอยู่ที่ว่าผู้บริหารจะเซตเป้าหมายอย่างไร

ในเมื่อทุกคนมีเวลาเท่ากัน ทำไมเราต้องเซตเป้าหมายต่ำ ถ้าเราเซตไว้สูง แล้วเราทำไม่ได้ อย่างน้อยเราอาจจะทำได้ครึ่งหนึ่งซึ่งอาจมากกว่าที่เราเซตไว้ต่ำก็ได้

ทั้งนี้ การสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้มีหลายๆ อย่างตามมา ทั้งในเรื่องของแพสชั่นและการแข่งขัน ซึ่ง Line เป็นบริษัทที่ให้แต่ละประเทศดูแลธุรกิจของตัวเอง เพราะเชื่อว่าคนในประเทศนั้นจะรู้จักประเทศนั้นมากที่สุด ทำให้เกิดการแข่งขันในกลุ่ม Line Company ด้วยกัน และกลายเป็นเป้าหมายให้ Line แต่ละประเทศอยากเป็น Line ที่เติบโตเร็วที่สุด

2.ความไว้ใจและการสนับสนุน - ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องให้พนักงานทำงานที่บ้าน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้บริหาร เพราะจะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานอยู่ที่บ้านนั้นทำงานจริงๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Line มองคือจะทำอย่างไรให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างสะดวกสบายมากที่สุด เช่น หากใช้เก้าอี้ที่บ้านแล้วปวดหลัง ก็สามารถยืมเก้าอี้ที่ออฟฟิศกลับไปได้

สิ่งที่เรากังวลคือการทำงานที่บ้านจะทำให้พนักงานเครียดไม่รู้ตัว เพราะไม่สามารถแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกันได้ ดังนั้น เราจึงให้ทุกคนมาแชร์กิจกรรมหลังเลิกงานของตนว่าเป็นอย่างไร

นรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือพนักงานรู้สึกเครียดน้อยลง เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เพราะเขารู้ว่าองค์กรไว้ใจ และดูแลในสิ่งที่เขาอยากให้ดูแล

3.สร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน - Line ประเทศไทย รวมถึงหลายๆ องค์กรอาจเป็นเหมือนกันคือเป็นองค์กรที่แบ่งทีมการทำงานไม่ชัดเจน ส่งผลให้บางครั้งการทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะพนักงานอาจไม่มั่นใจว่าเป็นหน้าที่ของใคร

ส่วน Line ประเทศไทยแก้ปัญหาด้วยการปลูกฝังว่าบริษัทนี้เป็นของพนักงานทุกคน และโปรดักต์ที่ทำ ก็สร้างขึ้นเพื่อให้คนไทยได้ใช้ ถ้าหากไม่มีใครทำงาน คนไทยก็อาจต้องรอโปรดักต์ชิ้นนี้ออกไปอีก โดยหลังจากสร้างวัฒนธรรมเหล่านี้ลงไป ส่งผลให้พนักงานสร้างผลงานออกมาเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ การใช้แพลตฟอร์ม เทคโนโลยีให้เหมาะสมเพื่อต่อยอดแนวคิด Growth Mindset ก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ จะเห็นได้ว่าหลากหลายองค์กรได้มีการปรับตัวโดยใช้ Line เป็นช่องทาง New Normal ในการทำธุรกิจออนไลน์ ภายใต้แนวคิด Growth Mindset ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างกลุ่มธุรกิจที่เห็นได้ชัด เช่น กลุ่มแบรนด์สินค้าหรูต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในแวดวงรถยนต์อย่างเปอโยต์ ประเทศไทยที่เปิดบริการซื้อขายรถ ทำการนัดหมายนำรถทดลองขับถึงบ้านด้วยการใช้ Line OA ร่วมกับเครื่องมือใหม่อย่าง MyShop รวมไปถึงแวดวงการค้าปลีก แวดวงแฟชั่น และเครื่องสำอางอีกมากมายที่ต่างทยอยตบเท้าเข้าสู่โลกออนไลน์ด้วยการเปิด Line OA และใช้เครื่องมือ MyShop เป็นต้น

อีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับในภาคการเกษตรกับแพลตฟอร์มอย่าง ‘Find Food’ ที่ช่วยให้เกษตรไทยสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ ด้วยการขยายช่องทางธุรกิจสู่การเกษตรดิจิทัลแบบเต็มตัว ผ่านการใช้ Line Official Account ร่วมกับ MyShop มาช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและชุมชนในท้องที่ต่างๆ ให้เกษตรกรสามารถขายและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคตัวจริงได้โดยตรง

“วิกฤตโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจไทยต้องกลับมาคิดวางแผนโครงสร้างธุรกิจกันใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจจะไม่มีความหมาย หากคุณไม่เริ่มต้นด้วยการมี Mindset ที่ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งการนำแนวคิดแบบ Growth Mindset มาประยุกต์ใช้บนแพลตฟอร์มที่เหมาะสมด้วยเครื่องมือที่ถูกต้องคือกุญแจสู่การปรับตัวสู่ยุค New Normal หรือความปกติใหม่ได้อย่างแท้จริง” นรสิทธิ์ กล่าวสรุป

   
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine