หลายองค์กรใหญ่ตั้งศูนย์บ่มเพาะ-ลงทุนสตาร์ทอัพ SCG องค์กรแถวหน้าไทยไม่ตกเทรนด์ เตรียมตั้งเวนเจอร์แคปิตอล ‘AddVentures’ อนันดาฯ ปลุกปั้น 4 สตาร์ทอัพดาวรุ่ง SCB-ดีแทค ปรับตัวต่อเนื่องเพื่ออนาคต
บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ผู้พัฒนาเว็บไซต์ด้านเทคโนโลยี
techsauce.co จัดงานสัมมนา
“เปิดมุมมององค์กรยักษ์ใหญ่ ร่วมสนับสนุนสตาร์ทอัพ” โดยมีผู้บริหารทั้งจาก เอสซีจี, บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ จำกัด ในเครือธ.ไทยพาณิชย์ และ ดีแทค แอคเซอเลอเรท ร่วมให้ข้อมูลบนเวที
โดย
จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ
AddVentures เวนเจอร์แคปิตอลในเครือ
เอสซีจี เปิดเผยบนเวทีสัมมนาว่า เอสซีจีเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาตลอด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ 2 ประเด็นสำคัญ คือ
สินค้าที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) เป็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลูกค้า ตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น สินค้ากลุ่ม Elder Care เพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ, วัสดุที่สัมผัสอาหารได้อย่างปลอดภัย, การพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ และอีกประเด็นคือ การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน เร่งความเร็วในการผลิตให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น สุขาเพื่อประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งเอสซีจีสามารถประกอบติดตั้งได้ใน 3 วัน
เป็นโจทย์ที่ให้กับพนักงานภายในองค์กรในการวิจัยและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ แต่
การก่อตั้ง AddVentures ก็จะเปิดรับสตาร์ทอัพเข้ามาร่วม แต่ยังต้องเป็นสตาร์ทอัพที่พัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 3 ธุรกิจหลักของเอสซีจี ได้แก่ เคมิคอล, ปูนซิเมนต์ และแพคเกจจิ้ง หรือ 3 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในเครือเอสซีจี คือ โลจิสติกส์, เทรดดิ้ง และรีเทล
อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ AddVentures จะมีขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะมีรายละเอียดทั้งหมดเพิ่มเติม
1% ก็คุ้มค่าสำหรับอนันดาฯ
ด้าน
John Leslie Millar ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนากลยุทธ์
บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวต่อว่า อนันดาฯ ก่อตั้ง Ananda Urban Tech เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ จากแนวคิดว่า อนันดาฯ มีพนักงานกว่า 1,000 คน แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากบนโลกที่ไม่ได้สังกัดในองค์กร ซึ่งบริษัทสามารถนำแนวคิดของบุคคลภายนอกซึ่งก็คือสตาร์ทอัพมาสร้างนวัตกรรมให้กับบริษัทได้
เป็นที่มาของการเริ่มต้น และยังเปิดพื้นที่ในออฟฟิศให้สตาร์ทอัพได้ใช้ทำงานอีกด้วย เพราะต้องการให้เกิดความคุ้นเคยระหว่างสตาร์ทอัพกับพนักงานองค์กร
“มูลค่าอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์มีปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท ถ้าหากสตาร์ทอัพที่คิดค้นนวัตกรรมสามารถสร้างคุณค่าให้ได้เพียงแค่ 1% ของอุตสาหกรรมก็คิดเป็นมูลค่าถึง 1,500 ล้านบาทแล้ว ซึ่งเรามองว่าคุ้มค่าสำหรับสิ่งที่บริษัทจะได้กลับคืนมา เพราะการลงทุนในสตาร์ทอัพไม่ใช่งานการกุศลแต่เป็นธุรกิจ”
ทั้งนี้ Millar กล่าวกับ
Forbes Thailand เพิ่มเติมว่า อนันดาฯ มีการลงทุนเกี่ยวกับสตาร์ทอัพแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ 1.ลงทุนแบบ Fund of Funds เป็นการลงทุนร่วมกับเวนเจอร์แคปิตอลทั่วโลก 2.Corporate Venture Capital (CVC) เป็นการลงทุนโดยตรงในสตาร์ทอัพที่อนันดาฯสนใจ ซึ่งบริษัทไม่ได้ตั้งงบการลงทุนไว้อย่างชัดเจน หากพบว่าสตาร์ทอัพนั้นมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจก็สามารถสนับสนุนได้ทันที
ปัจจุบันเริ่มเปิดตัว Ananda Urban Tech มาเพียง 4 เดือน ทำให้ยังไม่ได้เริ่มลงทุนแบบ CVC แต่
มีการบ่มเพาะดูแลสตาร์ทอัพร่วมกับ บจ.ดิจิทัล เวนเจอร์ส ของธ.ไทยพาณิชย์ ที่บริษัทเปิดให้เข้าใช้พื้นที่ออฟฟิศ ซึ่ง 4 ใน 10 บริษัทสตาร์ทอัพที่บ่มเพาะอยู่มีนวัตกรรมที่ตรงกับแนวทางของอนันดาฯ กำลังศึกษาในช่วง pilot project ว่ามีความเป็นไปได้ทางธุรกิจเพียงใด
SCB-ดีแทคประสานเสียง ‘ปรับเพื่ออนาคต’
สุวิชชา สุดใจ กรรมการผู้จัดการ ผลิตภัณฑ์ดิจิทัล
บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด เปิดเผยในงานสัมมนาว่า บทวิจัยจากบริษัทที่ปรึกษา แมคเคนซี่ แอนด์ คอมพานี ชี้ว่าธุรกิจธนาคารอยู่ในอันดับ 4 ที่อาจจะถูกปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงจากเทคโนโลยี ทำให้ธ.ไทยพาณิชย์ต้องมีหน่วยงานศึกษานวัตกรรมเพื่อพัฒนางานภายในองค์กรเอง จนขยายเป็นบริษัทลูกเพื่อค้นหานวัตกรรมจากสตาร์ทอัพมาปฏิรูปภายใน
นวัตกรรมที่ไทยพาณิชย์สนใจจะเป็นด้านการเงินเป็นหลัก แต่ยังขยายเปิดกว้างถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง อาจนำมาปรับใช้ได้ เช่น AI (Artificial Intelligence: ปัญญาประดิษฐ์), Machine Learning (การเรียนรู้ด้วยเครื่อง) แต่ต้องตอบโจทย์ของไทยพาณิชย์คือ เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นองค์ประกอบในกระบวนการต่างๆ ของธนาคาร
ส่วน
เฉลิมยุทธ บุญมา ผู้อำนวยการโปรแกรม
ดีแทค แอคเซอเลอเรท ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพอยู่ 34 บริษัท โดยมีการประกวดคัดเลือกสตาร์ทอัพเข้าสู่โปรแกรมทุกปี มองว่า สิ่งที่ได้รับกลับมาที่ชัดเจนจากการบ่มเพาะสตาร์ทอัพคือ การปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กร เพราะกระแสการบ่มเพาะสตาร์ทอัพจากภายนอกองค์กรของดีแทค ทำให้คนภายในเกิดตื่นตัวที่จะคิดค้นนวัตกรรมบ้าง และมีวัฒนธรรมกล้าเสี่ยง กล้าที่จะล้มเหลวมากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ในอนาคต