NIA เปิดความสำเร็จย่านการแพทย์โยธีกับโมเดล “อินโนเวชันแชร์ริ่ง” - Forbes Thailand

NIA เปิดความสำเร็จย่านการแพทย์โยธีกับโมเดล “อินโนเวชันแชร์ริ่ง”

FORBES THAILAND / ADMIN
16 May 2023 | 05:04 PM
READ 2004

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี หรือ YMID อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ภาครัฐกับการสร้างศูนย์กลางการแพทย์ของเอเชีย



    สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี หรือ YMID อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ภาครัฐกับการสร้างศูนย์กลางการแพทย์ของเอเชีย พร้อมสร้างแบรนด์นวัตกรรมการแพทย์ไทยเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

    โดยปัจจุบันมีนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนภายในย่านกว่า 163 โครงการ รวมถึงระบบการแบ่งปันเตียงผู้ป่วยข้ามสถานพยาบาล (Bed Sharing) และเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมกว่า 11,000 ล้านบาทจากการสร้างศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND CENTER: Medical Innovations Development Center) พื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co Working Space) ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสมของการใช้งาน และศูนย์วิจัยทางคลินิก (Clinical research center) สำหรับบริหารจัดการการทำวิจัยทางคลินิก รวมถึงการขยายพื้นที่ให้บริการผู้ป่วยที่มากขึ้น โดยทั้งหมดจะอยู่ภายในอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีหลังใหม่

    นอกจากนี้ ยังมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ซึ่งขณะนี้มีธุรกิจนวัตกรรมยื่นขอการพิจารณาคุณสมบัติเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมการลงทุนแล้ว 3 ราย


    พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า จากการที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการด้านการแพทย์และสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เทคโนโลยีด้านการแพทย์และสุขภาพเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดและกลายเป็นอุตสาหกรรมที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะสามารถสร้างประโยชน์ได้ทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ในประเทศไทยเองก็เช่นกัน โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดศูนย์กลางการแพทย์ของภูมิภาคเอเชีย

    ซึ่งนอกจากเป้าหมายในการดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสการจ้างงานและเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก โดยมุ่งเน้นขับเคลื่อนใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ 2) ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 3) ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ และ 4) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย

    ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระยะเวลากว่า 5 ปี NIA ได้ส่งเสริมและสนับสนุน “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID)” ให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการศึกษา วิจัย และทดลองนวัตกรรมการแพทย์ในประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการนวัตกรรม และนักลงทุนให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

    ซึ่งนับเป็นต้นแบบย่านนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งมิติการพัฒนาผลงานนวัตกรรม การเชื่อมโยงเครือข่ายภายในย่าน เม็ดเงินการลงทุนที่หมุนเวียนภายในย่าน รวมถึงระบบการแบ่งปันเตียงผู้ป่วยข้ามสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยในกลุ่มโรคเปราะบาง ซึ่งดำเนินงานโดยกลุ่มโรงพยาบาลภายในย่าน เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ฯลฯ

    โดยโมเดลการทำงานเป็นแบบการแชร์ข้อมูลเพื่อส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมรักษาตามอาการ เช่น กลุ่มที่ต้องรับการรักษาทันที กลุ่มที่ต้องพักฟื้นหลังการผ่าตัด กลุ่มที่อยู่ในระยะการวินิจฉัย ซึ่งช่วยแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขในด้านการจัดการให้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น การผลักดันนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพ-ธุรกิจนวัตกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจาก NIA ไปสู่โรงพยาบาลและในเชิงสาธารณะไม่ต่ำกว่า 7 โครงการ เช่น ห้องแยกผู้ป่วยที่แพร่กระจายเชื้อทางอากาศแบบถอดประกอบได้ และ Smart Pulz; เครื่องมือวัดสัญญาณชีพ และอัตราการเต้นของหัวใจระยะไกล ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น

    “นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เกิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็น Co-working Space 3 แห่ง ห้องปฏิบัติการ 36 แห่ง ศูนย์การวิจัย/เทคโนโลยี 27 แห่ง ศูนย์การบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพด้านสุขภาพและการแพทย์ 2 แห่ง และมาตรการกระตุ้นการลงทุนของบีโอไอที่มีมติเห็นชอบให้พื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี


    ตามประกาศของ NIA เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่ศูนย์กลางนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีเชิงลึกระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันหรือหน่วยงานภาครัฐ เช่น สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันวิจัย

    ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ในระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ โดยปัจจุบันมีธุรกิจนวัตกรรมขอรับสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมการลงทุนแล้ว 3 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยเน้น 11 กิจการ ได้แก่ การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล (ดิจิทัลคอนเทนต์) ศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม เมกเกอร์สเปซ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ การบริการออกแบบทางวิศวกรรม การบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ การบริการสอบเทียบมาตรฐานกิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพ และการวิจัยทางคลินิกซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการชาวไทยและต่างชาติ”

    ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2565 ที่ผ่านมา NIA ได้ประเมินความคุ้มค่าจากการดำเนินโครงการย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี พบว่าระยะเวลา 1 ปี สามารถสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพรายใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จำนวน 30 ราย เกิดเครือข่ายนวัตกรที่ได้รับการพัฒนา 150 ราย มีผลงาน/โครงการนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนในพื้นที่ จำนวน 20 โครงการ

    และมีงานวิจัยที่ได้รับการต่อยอดนวัตกรรม 7 โครงการ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 103 ล้านบาท ถือว่าความคุ้มค่าโครงการอยู่ที่ 5 เท่าของการลงทุน ซึ่งเป็นผลมาจากกการทำงานร่วมกันทั้งการสนับสนุนด้านงานวิจัย การพัฒนาเครือข่ายภายในย่าน และการสนับสนุนการลงทุน โดยย่านโยธีนับเป็นพื้นที่ที่มีบุคลากรทางการแพทย์มากที่สุดของประเทศอีกด้วย

    “การเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี NIA ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดพื้นที่ที่เหมาะสมในด้านการลงทุนนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังมีความมุ่งหวังให้ประเทศไทยสามารถลดการนำเข้านวัตกรรมทางการแพทย์มากกว่าที่ผ่านมา ช่วยให้คนไทยเข้าถึงการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกแบรนด์ไทยที่มีความแม่นยำและรวดเร็ว ช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ และการรักษาโรคอุบัติใหม่ที่มีความซับซ้อนขึ้น

    นอกจากนี้ ยังเป็นการปูทางไปสู่เทรนด์นวัตกรรมการแพทย์ใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น ดิจิทัลเฮลธ์ การแพทย์ทางไกล การลดคาร์บอนในวงการเฮลธ์แคร์ และทำให้คนไทยเข้าถึงการรักษาด้วยเทคนิคขั้นสูงในราคาที่เข้าถึงได้”


อ่านเพิ่มเติม: ประเดิมไตรมาสแรกปี 2023 เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงกว่าตลาดคาดการณ์


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine