LINE Thailand เปิดเกมรุกโลกดิจิทัลเต็มรูปแบบ รักษาฐานธุรกิจเดิมให้แข็งแกร่ง ประกาศเดินหน้า “เป็นมากกว่าแอพฯ แชท” ขยายตลาดผู้ใช้และพันธมิตร ด้วยผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนไทยยุคปัจจุบัน พร้อมเผย 4 เทรนด์มาแรงแห่งปี 2016
อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เผยในงานแถลงข่าว
“2016 LINE Beyond Chat” ว่า ปี 2015 รายได้รวมของ LINE ทั่วโลก อยู่ที่ราว
1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 40% จากปี 2014 ที่มีรายได้รวมราว 718 ล้านเหรียญ ด้าน
LINE ประเทศไทย ซึ่งเปิดสาขาอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2014 นั้น นับถึงสิ้นปี 2015 มีผู้ใช้งานรวมทั้งสิ้นราว
33 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น และระยะเวลาที่ผู้ใช้ LINE ในไทย ใช้ในการสนทนาผ่าน LINE อยู่ที่
83.7 นาที/วัน/คน
กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ LINE มี 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
- Games
- e-commerce ได้แก่ LINE Shop
- Content ประกอบด้วย LINE TV, Music และ Sticker
- Business Solutions นำเสนอ Official Account แก่ลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย
- Payment ได้แก่ LINE Pay
ทั้งนี้ 3 ธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้
LINE ประเทศไทย คือ Game, Business Solutions และ Content ซึ่งในปีนี้ จะมีธุรกิจเพิ่มขึ้นมาคือ
New Service ซึ่ง
อริยะ ยังไม่ขอเปิดเผยว่าจะเป็นรูปแบบใด
หัวเรือใหญ่ของ LINE ประเทศไทย ยังกล่าวถึง
เทรนด์ในปี 2016 ด้วยว่า ประกอบไปด้วย 4 อย่าง คือ
- Mobile-First ขณะนี้คนไทยเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น มีปัจจัยขับเคลื่อนคือเทคโนโลยี โดยเฉพาะ 4G ทำให้ในปีนี้มีการคาดการณ์ว่า จำนวนคนไทยที่เข้าอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านคน
- จอโทรศัพท์มือถือคือจอโทรทัศน์ มากกว่า 80% ของ video content ที่คนไทยเสพผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือคือ content ที่มาจากโทรทัศน์
- e-commerce จะเป็น M-commerce & Social Commerce ในปีที่ผ่านมานั้น 60% ของ traffic ของ e-commerce มาจากโทรศัพท์มือถือ และพฤติกรรมการเข้าไปดูภาพสินค้าใน Facebook, Instagram และ LINE ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือก็เพิ่มขึ้น อีกทั้งจำนวน mobile banking ก็เติบโตเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน มีการคาดการณ์ว่าจาก 9 ล้านบัญชีในปี 2015 จะเพิ่มเป็น 12 ล้านบัญชีในปีนี้
- อนาคตของแอพพลิเคชั่น เกิดทิศทางของ O2O Services หมายถึงจากโลกออนไลน์สู่ออฟไลน์ เช่น Grab และ Uber ที่ผู้ใช้บริการเรียกรถผ่านแอพฯ แต่สุดท้ายคือการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออฟไลน์
ผู้บริหาร LINE ประเทศไทย กล่าวเพิ่มว่า ด้วยเหตุนี้
LINE ประเทศไทย จึงต้องการเป็นแพลตฟอร์มในการช่วยผู้ใช้งาน องค์กรธุรกิจ แบรนด์ต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการ SME ให้ใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้นแบบครบวงจร ด้วยวิธีการ เช่น รวบรวมแอพฯ ที่ผู้ใช้ต้องการใช้งานอย่างแท้จริงมารวมเข้าไว้ในที่เดียว ร่วมมือกับ startup คนไทย เพื่อนำบริการเหล่านั้นมาเชื่อมกับ LINE เปิดระบบให้แบรนด์ต่างๆ สามารถพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ของตนเองบนแพลตฟอร์มของ LINE รวมทั้งเปิดให้บริการ LINE@ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ได้มีช่องทางสื่อสารกับลูกค้าผ่านโลกดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบันมี SME อยู่ราว 2.8 ล้านราย แต่มีเพียง 5 แสนรายที่อยู่ในโลกออนไลน์ และไม่ได้มีกิจกรรมบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่องทุกราย
“ในฐานะการเป็นตลาดอันดับ 2 ของ LINE ดังนั้น LINE ประเทศไทย จึงต้องทำสิ่งพิเศษให้เกิดขึ้นด้วยการบุกเบิกสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อขยายธุรกิจให้เป็นมากกว่าแอพฯ แชทเพียงอย่างเดียว” กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าว