Google, Temasek และ Bain & Company คาดเศรษฐกิจดิจิทัลไทยปี 2567 มีมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) 4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ e-Conomy SEA 2024 Report เมื่อเร็วๆ นี้
แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยการสนับสนุนจากภาครัฐ ตั้งแต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จนถึงกลยุทธ์ 4 ปีของรัฐบาล สู่การเป็นดิจิทัลฮับชั้นนำในภูมิภาคฯ ด้านศูนย์ข้อมูลและ AI พร้อมทั้งส่งเสริมให้บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกเข้ามาลงทุนในไทย ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและลดขั้นตอนกระบวนการต่างๆ
ธุรกิจดิจิทัลไทยขยายตัว โดยอีคอมเมิร์ซเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก คาดว่าจะโตขึ้น 19% และมีมูลค่าสินค้ารวม 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะมีการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ ได้แก่ วิดีโอคอมเมิร์ซ สำหรับการช็อปปิ้งออนไลน์ แบบอินเทอร์แอคทีฟและคอนเทนต์วิดีโอ
ด้านการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ คาดว่าจะมีมูลค่าสินค้ารวมกันกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โตขึ้น 6% จากปีที่ผ่านมา การขนส่งกลับมาฟื้นตัว และสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ขณะที่บริการส่งอาหารออนไลน์ยังมีการแข่งขันสูง
การท่องเที่ยวออนไลน์เป็นภาคธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในไทย คาดว่ามูลค่าสินค้ารวมจะแตะ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือโตขึ้น 32% จากปี 2566 และมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคฯ
นอกจากนี้ มาตรการใหม่ในการตรวจวีซ่า ซึ่งรวมถึงมาตรการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 93 ประเทศ (เพิ่มขึ้นจากเดิม 57 ประเทศ) โครงการวีซ่าสำหรับกลุ่มบุคคลที่สามารถทำงานจากทุกที่บนโลก (Digital Nomad) และโครงการขอวีซ่าที่ผู้ถือพาสปอร์ตสามารถขอได้ ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศ (Visa on Arrival หรือ VOA) ยังช่วยส่งเสริมให้มีการเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
โดย 45% ของการใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวในไทยมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 270% นับตั้งแต่ปี 2563 โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยเกือบ 70% ใช้จ่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สำหรับสื่อออนไลน์ ซึ่งได้แก่ โฆษณา วิดีโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ และเกม เติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 7% โดยคาดว่ามูลค่าสินค้ารวมจะแตะ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังคงเติบโตแข็งแกร่ง
ส่วนบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services หรือ DFS) ก็ขยายตัวเช่นกัน โดยการชำระเงินดิจิทัลโตขึ้น 5% และคาดว่าจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (Gross Transaction Value หรือ GTV) สูงถึง 1.41 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล คาดว่าจะมียอดคงค้างสินเชื่อ (Loan Book Balance) สูงถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 28% เร็วเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลและความมั่งคั่งทางดิจิทัลจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2573
ที่น่าสนใจคือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) กำลังพลิกโฉมภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม การศึกษา เกม และการตลาด
ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความต้องการแอป บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีฟีเจอร์ AI ขณะที่ธุรกิจต่างๆ ใช้ประโยชน์ด้านโฆษณา แบบกำหนดเป้าหมายเฉพาะบุคคล โดยยังมีการลงทุนเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ความจุ (Capacity) ของศูนย์ข้อมูลที่วางแผนไว้เพิ่มขึ้น 550% โดยเติบโตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Willy Chang, Partner, Bain & Company กล่าวว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมูลค่าสินค้ารวมและรายได้เติบโตในระดับเลขสองหลัก กำไรยังพุ่งสูงขึ้นในทุกภาคส่วน ซึ่งประเทศไทยกำลังเป็นแหล่งบ่มเพาะด้าน AI และโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI
“การลงทุนจากภาคเอกชนในครึ่งปีแรกของปี 2567 คิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น กว่า 92% เป็นการลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัล ซึ่งมาจากปัจจัย 4 ประการ ดึงดูดการลงทุน ได้แก่ การประเมินมูลค่าในการเข้าลงทุนที่สมจริง โมเดลการสร้างรายได้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง แนวทางในการทำกำไรที่ชัดเจน และทางออกสำหรับธุรกิจที่ทำได้จริง โดย 3 ปัจจัยแรกประสบความสำเร็จแล้ว
ความไว้วางใจในระบบดิจิทัล (Digital Trust) และการปลดล็อกศักยภาพของ AI รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์ที่อาชญากรรมทางไซเบอร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น การเข้ารหัส (Encryption) และการตรวจสอบสิทธิ์แบบ 2 ปัจจัย (Two-Factor Authentication หรือ 2FA) ด้านแพลตฟอร์มต่างๆ ได้นำการตรวจจับกลโกงที่ทำงานด้วยระบบ AI และมาตรการการปฏิบัติตามข้อกำหนดมาใช้กันมากขึ้น การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและโปร่งใส
“การนำ AI มาใช้ สามารถช่วยเสริมสร้างเกราะป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และกลโกงออนไลน์ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัย ครอบคลุม และมีความยืดหยุ่น ซึ่ง Google ได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ป้องกันกลโกง” แจ็คกี้ กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดตัว YouTube Shopping ในไทยแล้ว โปรแกรมแอฟฟิลิเอตร่วมกับ Shopee คนดูได้ช็อป-ครีเอเตอร์มีช่องทางหารายได้เพิ่ม
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine