ปัจจุบันอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน บริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ทว่าการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังมาแรงกลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม
บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ กับเป้าหมายที่ไกลเกินจริง
Google เคยประกาศว่าบริษัทฯ ได้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2007 และตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2030 น่าเสียดายที่รายงานล่าสุดเผยว่าตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้น 14.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปี 2022 และมากกว่าปี 2019 ถึง 48%
Google ยอมรับว่าสาเหตุหลักมาจากการพัฒนา AI และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง “ยิ่งเรานำ AI มาใช้กับผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้นเท่าไหร่ การลดการปล่อยคาร์บอนก็ยิ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นเท่านั้น เพราะการประมวลผลของ AI จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาล”
ฝั่งคู่แข่งอย่าง Microsoft เองก็เช่นกัน บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกรายนี้เคยประกาศในปี 2020 ว่าจะทำให้การปล่อยคาร์บอนติดลบ (Carbon Negative) ภายในปี 2030 กล่าวคือนอกจากลดการ์ปล่อยคาร์บอนแล้ว ยังจะดูดซับคาร์บอนคืนสู่ป่าหรือวิธีการอื่นอีกด้วย แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ เผยว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 17.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2020 เนื่องด้วยการลงทุนใน AI ที่กำลังเติบโต
ด้าน Meta ก็เผยว่า มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2022 ถึง 8.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นราว 68% จาก 5 ล้านตันในปี 2020
AI ผลาญน้ำและพลังงาน ตัวการสร้างคาร์บอน
การวิจัย พัฒนา และดำเนินการเกี่ยวกับ AI เกิดขึ้นในดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) เผยว่าในปี 2022 ก่อนที่ศึกพัฒนา AI จะเริ่มขึ้น ดาต้าเซ็นเตอร์ต่างๆ ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 1-1.5% ของทั้งโลก และมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานแค่ราว 1% ของทั้งโลกเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการบินที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานเป็นสัดส่วน 2% และอุตสาหกรรมเหล็กมากถึง 7-9% ของทั้งโลก
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ OpenAI เปิดตัว ChatGPT ในเดือนพฤศจิกายนปี 2022 ซึ่งเป็นเสมือนการลั่นกลองเปิดศึกสงคราม AI บริษัทเทคฯ ชั้นนำก็พากันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมหาศาล ควบคู่กับไปการผลาญพลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ต่างๆ
เว็บไซต์ข่าวและรายงานวิจัย The Conversation เผยว่า ระบบ Generative AI อาจใช้พลังงานมากกว่าซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมถึง 33 เท่า และแชทบอต AI ก็ใช้พลังงานมากกว่าระบบค้นหาแบบเก่าของ Google ถึง 10 เท่า
กระบวนการทำงานในดาต้าเซ็นเตอร์ยังก่อให้เกิดความร้อน ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาลเพื่อควบคุมอุณหภูมิของเซิร์ฟเวอร์ อ้างอิงผลการศึกษาในปี 2021 ดาต้าเซ็นเตอร์ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดใช้น้ำประมาณ 7,100 ลิตรต่อการเผาผลาญพลังงาน 1 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และเพียงแค่ดาต้าเซ็นเตอร์ของ Google รายเดียวก็ใช้น้ำไปแล้วถึง 1.27 หมื่นล้านลิตร
นอกจากนี้ หากดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใดตั้งอยู่ใกล้ชุมชน ก็อาจเกิดการแย่งชิงทรัพยากรกับผู้คนในละแวกนั้น อันจะเห็นได้ชัดเมื่อเกิดสภาวะขาดแคลนทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตความร้อน ประชาชนเปิดเครื่องปรับอากาศ แต่ดาต้าเซ็นเตอร์ก็ต้องการพลังงานเพื่อนำมารักษาความเย็นให้เซิร์ฟเวอร์ เพิ่มโอกาสที่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะเกิดปัญหาและไฟฟ้าดับได้
สุดท้ายนี้ชัดเจนว่าบริษัทเทคฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI ต้องจริงจังกับการลดการปล่อยคาร์บอนให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงการตั้งเป้าหมายเท่านั้น แต่ต้องลงมือทำให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ผู้บริหารบริษัทเทคฯ หลายคนมองว่า AI อัจฉริยะจะเข้ามาช่วยให้ความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกดีขึ้น ก่อนจะไปถึงจุดนั้น พวกเขาควรตระหนักถึงปัญหาที่มาพร้อมการทุ่มเทเร่งพัฒนา AI ในปัจจุบันด้วยเช่นกัน
แหล่งที่มา:
Power-hungry AI is driving a surge in tech giant carbon emissions. Nobody knows what to do about it
How AI Increases Carbon Production — and Puts Net Zero in Jeopardy
So much for green Google ... Emissions up 48% since 2019
Microsoft’s carbon footprint keeps growing as AI drives data center expansions
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พลังงานในดงดอกไม้ เมื่อพืชใกล้สูญพันธุ์เบ่งบานบนแหล่งแร่ลิเธียม
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine