'BOSCH' สบช่องรัฐหนุนอีอีซี ตั้งเป้าโตต่อในไทย หลังทุ่มเม็ดเงินลงทุน 5 ปีที่ผ่านมากว่า 100 ล้านยูโร มั่นใจตลาดไทยศักยภาพสูง เผยรายได้รวมปี 60 กว่า 12.8 พันล้านบาท เดินเครื่องโรงงานผลิตระบบส่งกำลังรถยนต์อัจฉริยะแห่งแรกในไทยที่นิคมฯ เหมราชเต็มสูบ หลังลงทุนไปเมื่อปี 2560 ชูเทคโนโลยี 'ไอโอที' แกนหลักพัฒนานวัตกรรม ชี้ภายในปี 2563 ผลิตภัณฑ์-โซลูชั่นของบ๊อชจะเชื่อมต่อถึงกันได้หมด ย้ำไทยยังเป็นเบอร์ 1 ทำรายได้สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
BOSCH บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีและบริการชั้นนำของโลกสัญชาติเยอรมนีเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของ BOSCH ในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้จนสร้างรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5
Joseph Hong กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นตลาดสำคัญของบ๊อชในภูมิภาคนี้ทำรายได้สูงสุดอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 ยอดขายรวมในไทย 12.8 พันล้านบาท หรือ 335 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 7.5 % เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้วยมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.6 พันล้านบาท หรือราว 42 พันล้านยูโรในปี 2560 ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจของบ๊อชในไทย ขณะที่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา BOSCH ลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านยูโร
ชี้ไทยตลาดใหญ่ศักยภาพดี “ไอโอที-อีอีซี” ดึงนักลงทุน
Hong บอกว่า ไทยยังเป็นตลาดใหญ่ มีศักยภาพ และมีแนวโน้มเศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น มีการลงทุนจากนักลงทุนหลายประเทศภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor project) หรืออีอีซี รวมไปถึงการลงทุนเรื่องเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ และนวัตกรรมการผลิตอัจฉริยะ เป็นโอกาสที่ BOSCH ได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดสอดคล้องนโยบายไทยแลนด์ 4.0
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่ทำรายได้สูงสุดของบ๊อชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจยานยนต์ที่เติบโตแข็งแกร่ง โครงการอีอีซีที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนดึงดูดนักลงทุน รวมไปถึงการปรับตัวของธุรกิจในเรื่องไอโอที หรืออินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) บ๊อชจึงต้องเร่งเพิ่มจำนวนโซลูชั่นส์และบริการต่างๆ ให้ครอบคลุม”
ทั้งนี้ บริษัท ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2563 ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นของ BOSCH จะสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมด้านการออกแบบ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคไอโอที
“ปี 2561 เป็นอีกปีที่ดีของ บ๊อช ประเทศไทย ตั้งเป้ารายได้จะเติบโตขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 2-3% ซึ่งในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ ยอดขายบริษัทก็อยู่ในระดับสูงสอดคล้องช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 และหากปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว พบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นราว 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว”
ขณะที่ องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรม ทำให้ BOSCH สามารถสนับสนุน และเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเชื่อมต่อ ขณะที่โครงการอีอีซีของรัฐบาลไทยคืบหน้ามากได้รับการยอมรับระดับสากล และได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทย (Thailand’s Eastern Seaboard)
“บ๊อช ร่วมมือใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านการผลิตอัจฉริยะ ซึ่งเป็นไปตามแผนงานไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งบริษัทฯ ยังได้นำโซลูชั่นส์ต่างๆ มาปรับใช้กับโรงงานของเราหลายแห่งด้วย”
ปี 60 รายได้โดดเด่น-โรงงานเดินเครื่องการผลิต
Hong กล่าวว่า ปี 2560 เป็นปีที่โดดเด่นสำหรับกลุ่มธุรกิจโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อนของบ๊อช โดยเติบโตขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากแผนกระบบควบคุมแชสซี (Chassis Control) และโซลูชั่นส์ระบบส่งกำลัง (Powertrain Solutions) สำหรับกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ยังคงมีการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายต่อเนื่อง พร้อมขยายธุรกิจไปยังช่องทางอีคอมเมิร์ซ
ส่วนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน และอาคาร สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2560 ซึ่งเป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมการผลิต ที่กำลังขยายตัว อีกทั้งการใช้จ่ายรัฐบาลด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอุตสาหกรรมก็เติบโตขึ้น เป็นผลจากธุรกิจด้านระบบอัตโนมัติในโรงงาน และการสร้างรากฐานที่มั่นคงของธุรกิจอุตสาหกรรมที่เชื่อมต่อกัน (connected industry)
ปีนี้ BOSCH ยังพร้อมเดินเครื่องกำลังการผลิตเต็มสูบในโรงงานผลิตระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด ที่เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2560 และยังเป็นที่ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งแรกของ BOSCH ในไทย รองรับฐานลูกค้าผู้ผลิตยานยนต์ที่กำลังโต พร้อมทั้งช่วยให้บ๊อชพัฒนาโซลูชั่นส์ใหม่เพื่อให้บริการลูกค้ายานยนต์ทั้งในและต่างประเทศ
“โรงงานแห่งใหม่นี้ เป็นโรงงานอัจฉริยะรองรับโซลูชั่นส์อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นของบ๊อชด้านเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายโรงงานของบ๊อชที่มีอยู่กว่า 250 แห่งทั่วโลก ระหว่างปี 2558-2560 บ๊อชลงทุนรวมกว่า 80 ล้านยูโรในโรงงานอัจฉริยะแห่งใหม่นี้”
สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในปี 2560 BOSCH มียอดขาย 23.6 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 13.5% ปัจจุบัน บ๊อชมียอดขายในเอเชียแปซิฟิกคิดเป็น 30% ของยอดขายทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 27%
นวัตกรรมใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ก่อนหน้านี้
Volkmar Denner ซีอีโอกลุ่ม BOSCH กล่าวในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นในเมืองเรนนิงเก็น บอกว่า BOSCH เป็นบริษัทผู้นำที่ผสานความชำนาญด้านเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อที่ครอบคลุม เข้ากับองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
“การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสนับสนุนด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของบ๊อช แนวคิดเทคโนโลยีเพื่อชีวิต หรือ Invented for Life ของบริษัทถือเป็นแรงกระตุ้นให้เราในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมเพื่อสิ่งแวดล้อม”
Denner บอกในครั้งนั้นด้วยว่า BOSCH ได้ลงทุนมหาศาลทั้งการพัฒนาการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (electro mobility) และการพัฒนาระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน ปัจจุบัน BOSCH พัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ดีเซลที่ล้ำหน้า เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของบ๊อชในการพัฒนาเครื่องยนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ลงไปได้มาก โดยเฉลี่ยยานยนต์ทดสอบที่ติดตั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้ จะปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ออกมาไม่เกิน 13 มิลลิกรัมต่อกิโลเมตร ถือเป็นอนาคตเครื่องยนต์ดีเซล เป็นส่วนหนึ่งการขับเคลื่อนแห่งอนาคต
รายงาน: เอกรัตน์ สาธุธรรม