"เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป" รุกธุรกิจทั่วอาเซียนด้วยซอฟต์แวร์ as-a-service เต็มรูปแบบในปี 2565 - Forbes Thailand

"เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป" รุกธุรกิจทั่วอาเซียนด้วยซอฟต์แวร์ as-a-service เต็มรูปแบบในปี 2565

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Mar 2022 | 04:28 PM
READ 1671

‘เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป’ บุกตลาดเวียดนามภายใต้ความร่วมมือกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ‘DKSH’ ชูศักยภาพแพลตฟอร์มเทคโนโลยีและข้อมูลอีคอมเมิร์ซที่ได้พัฒนามาแล้วกว่า 9 ปีด้วยเงินลงทุนกว่า 800 ล้านบาท เตรียมรุกธุรกิจทั่วอาเซียนด้วยซอฟต์แวร์ as-a-service อย่างเต็มรูปแบบในปี 2565

วีระพงษ์ ศรีวรกุล ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ถือเป็นผู้ให้บริการสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce enabler) ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 16.5 เมื่อพิจารณาจากยอดขายสินค้ารวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) ปี 2563 อ้างอิงข้อมูลจาก Euromonitor ปัจจุบันได้ให้บริการแก่ลูกค้าใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ปี 2565 Euromonitor ได้คาดว่ามูลค่าสินค้าที่บริหารจัดการโดย ecommerce enabler จะมีมูลค่าสูงกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดอย่างน้อยให้เท่ากับอัตราปัจจุบันที่ร้อยละ 16.5  ทั้งนี้ มูลค่าสินค้าที่บริหารจัดการโดย ecommerce enabler ในปี 2565 เพียงร้อยละ 8.3 จากมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซใน 6 ประเทศในอาเซียนที่มีศักยภาพเติบโตไปถึงประมาณ 4 ล้านล้านบาท และบริษัทฯ ได้เคยช่วยเพิ่มยอดขายให้กับลูกค้าแบรนด์ 10 อันดับแรกของบริษัทฯ ให้เติบโตถัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 71.7 ต่อปีตั้งแต่ปี 2562
ข้อมูลสำคัญ
  • ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมในปี 2568 ที่ 10,740 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2564 มีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 1,705 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 เป็น 8,520 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563
  • Euromonitor คาดปี 2563–2568 ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 20.6 โดยจะมีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 10,140 ล้านเหรียญในปี 2564 เป็น 21,712 ล้านเหรียญในปี 2568

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจมากว่า 9 ปี ได้รับความเชื่อถือจากแบรนด์ระดับโลกและระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น 3M และ Unilever โดยบางแบรนด์ยังคงใช้บริการของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจในปีแรก ผ่านมีจุดแข็งในด้านประสบการณ์ที่ยาวนานในการบริหารจัดการธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้กับแบรนด์ระดับโลกและประเทศ ทำให้บริษัทฯ สามารถให้กลยุทธการขาย โปรโมชั่น ช่องทางการโฆษณา และราคาขายที่เหมาะสมกับช่องทางออนไลน์ที่ทำให้แบรนด์สามารถรักษาภาพลักษณ์และส่งเสริมธุรกิจออฟไลน์ของแบรนด์ได้ด้วย และเมื่อประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มเทคโนโลยีลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัทฯ (EcommerceIQ) ที่สามารถรองรับการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่อย่างครบวงจรให้กับแบรนด์ และการมีความสัมพันธ์และระบบเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์กว่า 30 รายใน 5 ประเทศทำให้บริษัทฯ สามารถเลือกผู้ให้บริการที่ดีที่สุดเพื่อการจัดส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างตรงเวลาภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม รวมถึงข้อมูลที่ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีของบริษัทฯ จะได้รับการจัดเก็บวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อนำเสนอกลยุทธการขายในครั้งต่อไปให้กับแบรนด์ จุดแข็งทั้งหมดเหล่านี้ทำให้บริษัทฯ มีความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกับแบรนด์ผู้ใช้บริการ และทำให้มียอดขายสินค้าแบบที่บริษัทฯ ให้บริการครบวงจร (End-to-End Merchandise Value) เติบโตอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 51.65 ต่อปีตั้งแต่ปี 2562

ชู e-commerce IQ SaaS

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ ซอฟต์แวร์ as-a-service (SaaS) ซึ่งปัจจุบันให้บริการ Market Insights และ Client Analytic ที่บริษัทฯ ได้รับค่าธรรมเนียมแบบสมัครสมาชิก โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนา Ecommerce IQ SaaS นี้ เพิ่มเติมให้เป็น Full-suite โดยการนำ function ที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มเทคโนโลยี Ecommerce IQ ที่ให้กับแบรนด์ผู้ใช้บริการแบบ end-to-end solution อยู่แล้วของบริษัทฯ เพื่อให้แบรนด์ SME หรือแบรนด์ขนาดใหญ่ สามารถใช้บริการได้ด้วยตนเอง (self-service) เป็นการขยายฐานลูกค้า และเพิ่มอัตราการทำกำไร เนื่องจาก SaaS นั้นพัฒนาบนแพลตฟอร์มเทคโนโลยี Ecommerce IQ ของบริษัทฯ ที่ได้รับการพัฒนามากว่า 9 ปีแล้ว ภายใต้งบที่ได้ลงทุนไปแล้วกว่า 800 ล้านบาท การให้บริการสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจรของบริษัทฯ ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้แก่ 1) แพลตฟอร์มเทคโนโลยี "EcommerceIQ" ที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้ประโยชน์จากชุดเครื่องมือต่างๆ ของบริษัท 2) ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ ‘EcommerceIQ SaaS’ ซึ่งติดตั้งภายใต้แพลตฟอร์ม EcommerceIQ โดยให้บริการในรูปแบบสัญญาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงแก่ผู้ใช้บริการให้สามารถเข้าใจผู้บริโภคและคู่แข่ง กำหนดราคาสินค้า วางตำแหน่งการตลาดให้กับแบรนด์ได้อย่างถูกต้อง พัฒนากลยุทธ์ด้านอีคอมเมิร์ซและความสัมพันธ์กับผู้บริโภคในทุกช่องทาง นอกจากนี้คาดว่าระหว่างปี 2565–2566 จะนำเสนอบริการเพิ่มเติม ได้แก่ การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ การบริหารจัดการช่องทางการขายและคำสั่งซื้ออีคอมเมิร์ซ การเปิดตัวและบริหารร้านค้าออนไลน์ และการขายออนไลน์ตรงถึงผู้บริโภค (DTC) และ 3) ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์หรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง (Value Added Services) ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น การพัฒนาเว็บสโตร์, บริหารจัดการคลังสินค้าและโลจิสติกส์ เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจมากว่า 9 ปี โดยเชื่อมต่อเข้ากับซอฟต์แวร์ช่องทางการเชื่อมต่อ (Application Programing Interfaces หรือ APIs) ของบริษัทมีจำนวนกว่า 300 การเชื่อมต่อไปยังแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ประกอบด้วย แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ให้บริการรับชำระเงิน แพลตฟอร์มสินค้าคงคลัง ลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์การขายสินค้าออนไลน์ จึงทำให้แบรนด์สินค้าไม่ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีเองเพื่อรองรับการใช้บริการอีคอมเมิร์ซ

จับมือกับ DKSH

นับจากเริ่มดำเนินธุรกิจปี 2556 บริษัทฯ เชื่อมต่อแบรนด์กับผู้บริโภคปลายทางแล้วกว่า 12 ล้านราย โดย ณ สิ้นปี 2564 บริษัทฯ มีแบรนด์สินค้าในไทยและระดับโลกที่ใช้บริการถึง 168 ราย ซึ่งมาจากหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ 3เอ็ม, ยูนิลีเวอร์, ควิกซิลเวอร์, นารายา ฯลฯ บริหารจัดการสินค้ากว่า 39,221 รายการ และบริหารจัดการคำสั่งสั่งซื้อถึง 8.02 ล้านรายการ ขณะที่มูลค่าคำสั่งซื้อสินค้าเฉลี่ยใน 5 ประเทศที่ให้บริการ ณ ไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 1,331.2 บาทต่อออเดอร์ เทียบกับไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 1,059 บาทต่อออเดอร์ และเป็นไตรมาสที่บริษัทฯ เริ่มมีกำไรสุทธิอยู่ที่กว่า 45.9 ล้านบาท “นอกจากการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ DKSH ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการขยายตลาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย และ DKSH ยังเป็นพันธมิตรที่ยอดเยี่ยมและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เชิงกลยุทธ์ของเรามาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยข้อตกลงใหม่นี้ DKSH จะร่วมมือเป็นพาร์ตเนอร์กับ aCommerce เพียงรายเดียว สำหรับการให้บริการธุรกิจ online แบบ B2C ทั้งหมดในประเทศที่ aCommerce ดำเนินการได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศเวียดนาม โดย DKSH จะโอนและแนะนำแบรนด์ที่ต้องการขยายธุรกิจ online B2C ในประเทศดังกล่าวมาให้กับ aCommerce ทั้งหมด ในไตรมาสที่ 4/ 2564 แบรนด์ที่ใช้บริการของเราแบบ end-to-end เพิ่มขึ้นจาก 120 แบรนด์ เป็น 168 แบรนด์ ส่วนใหญ่รับโอนมาจาก DKSH โดยเฉพาะลูกค้าในมาเลเซีย และสิงคโปร์ ทำให้เรามีโอกาสได้ให้บริการแก่แบรนด์ใหม่ๆ หลายรายจาก DKSH และเราวางแผนที่จะเร่งขยายธุรกิจไปยังเวียดนามหลังจากที่เสนอขายหุ้น IPO เพื่อสนับสนุน DKSH และแบรนด์ในระดับโลกและภูมิภาคที่เป็นลูกค้าของเราในปัจจุบัน ที่ต้องการให้เราให้บริการในประเทศเวียดนาม” วีระพงษ์ กล่าว

อาเซียน ภูมิภาคแห่งศักยภาพ

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำ Euromonitor คาดการณ์ว่าภาพรวมการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์) จะมีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 52,302 ล้านเหรียญในปี 2563 เป็น 129,152 ล้านเหรียญในปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 19.8 ต่อปี จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19  การเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตอย่างครอบคลุมและการพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับภาพรวมตลาดผู้ให้บริการสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 2,331 ล้านเหรียญในปี 2563 เป็น 10,740 ล้านเหรียญในปี 2568 จากการปรับตัวของแบรนด์สินค้าที่ต้องการจำหน่ายสินค้าแบบหลากหลายช่องทาง (Omnichannel) บริษัทฯ จึงวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องใน 6 ด้าน การมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรกับกลุ่มผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรระดับโลกของบริษัทฯ การลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ การขยายพื้นที่ให้บริการไปยังประเทศเวียดนามและยกระดับการดำเนินธุรกิจในมาเลเซีย การขยายฐานผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรรายใหม่และกลุ่มสินค้าใหม่ๆ ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ EcommerceIQ SaaS ทั้งในด้านคุณสมบัติการใช้งานและความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลเพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้น และส่วนสุดท้ายคือพิจารณาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและขยายตลาดในประเทศใหม่ๆ ทั้งนี้ โอกาสในการควบรวมกิจการมีอยู่เป็นจำนวนมากสำหรับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด ecommerce enabler ที่มีความ fragmented ตัวอย่างเช่น ผู้เล่นอันดับ 1-5 ในประเทศเวียดนามมีมูลค่าสินค้าที่บริหารจัดการรวมกันทั้งหมดน้อยกว่า GMV ของ aCommerce ในปี 2563 ทำให้ aCommerce มีโอกาสเข้าซื้อกิจการหรือเข้าร่วมทุนและพัฒนาศักยภาพของของกิจการร่วมทุนในอนาคตให้เติบโต

อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตควบคู่ภูมิภาคอาเซียน

ด้าน เพ็ญสิริ เสถียรวงศ์นุษา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำประเทศไทย บริษัท เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 1,705 ล้านเหรียญในปี 2559 เป็น 8,520 ล้านเหรียญในปี 2563 หรืออัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 49.5 จากข้อมูลของ Euromonitor นอกจากนี้ Euromonitor คาดการณ์ว่า ในปี 2563 – 2568 ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 20.6 โดยจะมีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 10,140 ล้านเหรียญในปี 2564 เป็น 21,712 ล้านเหรียญในปี 2568 เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาระบบจัดส่งสินค้าและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คาดว่าจะสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ต่อไป ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอนาคตจะคลี่คลาย ทั้งนี้ บริษัทฯ ถือเป็นผู้ให้บริการสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจรที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในประเทศไทย ในปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 39.1 ของส่วนแบ่งทางการตลาดของยอดขายสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทาง (EMV) ในประเทศไทยที่ 192.8 ล้านเหรียญ จากข้อมูลของ Euromonitor “บริษัทฯ วางแผนขยายฐานลูกค้าผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ใช้บริการรายใหม่และผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละประเทศ โดยจะขยายพื้นที่ให้บริการไปยังประเทศใหม่ๆ และขยายฐานผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซกลุ่มสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีศักยภาพการเติบโต สามารถสร้างอัตรากำไรและกระแสเงินสดสูง เช่น กลุ่มของเล่น สินค้าตกแต่งบ้านและสวน”เพ็ญสิริ กล่าว อ่านเพิ่มเติม: ไทยเวียตเจ็ท เปิดบินต่างประเทศ ฟื้นท่องเที่ยว

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine