ไทยเวียตเจ็ท ขยายเที่ยวบินต่างประเทศ ประเดิมกัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ ปลุกตลาดท่องเที่ยวและการเดินทาง หลังโอไมครอนกระทบน้อย หลายประเทศเริ่มเปิดเดินทาง หวังกระตุ้นบรรยากาศการเดินทาง หนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เร่งฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ชงการบินพลเรือนเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันรับมือสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ
วรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยว่า สายการบินเวียตเจ็ทเปิดการเดินทางในเส้นทางต่างประเทศอีกครั้ง เริ่มที่พนมเปญ เวียดนาม และสิงคโปร์ หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนส่งผลกระทบไม่มากนัก แม้อัตราการติดเชื้อจะสูง ทำให้หลายประเทศเริ่มเปิดการเดินทาง และผ่อนคลายกฎการเดินทางโดยไม่ต้องกักตัว ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลก “ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มเปิดการเดินทางท่องเที่ยว และวางยุทธศาสตร์ในการชิงนักท่องเที่ยว อย่างสิงคโปร์ เวียดนาม ประกาศผ่อนคลายกฎการเดินทางเข้าประเทศ แม้แต่ไต้หวัน ประกาศลดวันกักตัว รวมถึงเกาหลี ญี่ปุ่น คาดว่าไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเห็นการผ่อนคลายกฎ ระเบียบในการเดินทาง เหลือแต่ไทยที่ยังต้องมีการกักตัว” วรเนติกล่าว ทั้งนี้ ไทยเวียตเจ็ทจะเพิ่มเครื่องบินอีก 4–8 ลำเพื่อรองรับการให้บริการเที่ยวบินต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเปิดให้บริการเที่ยวบินพนมเปญ เวียดนาม สิงคโปร์ ในเดือนมีนาคมถึงเมษายนนี้ มีแผนจะเปิดให้บริการเที่ยวบินเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะเป็นเดือนกรกฎาคมรวมทั้งมีแผนขยายเที่ยวบินในอาเซียน เอเชียเหนือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้นไทยเวียตเจ็ทชูยุทธศาสตร์เชิงรุก
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยว่า ไทยเวียตเจ็ท ถือเป็นสายการบินเพียงไม่กี่แห่งในโลกนี้ที่ขยายฝูงบินในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์เชิงรุกอย่างระมัดระวัง โดยเพิ่มเครื่องบินจาก 11 ลำ เป็น 16 ลำ ซึ่งช่วงก่อนโควิด ไทยเวียตเจ็ทให้บริการชาร์เตอร์ไฟลท์จากจีนเป็นหลัก ช่วงโควิดเปิดให้บริการสายการบินในประเทศรวม 10 เส้นทาง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี จากเป็นผู้ให้บริการอันดับ 5–6 ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 และบางเส้นทางขึ้นเป็นผู้นำตลาดอันดับ 1 สำหรับสายการบินไทยเวียตเจ็ท เป็นธุรกิจสายการบินของไทย ที่ซื้อแฟรนไชส์จากเวียตเจ็ท ประเทศเวียดนาม เพื่อดำเนินธุรกิจนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย เริ่มดำเนินธุรกิจโดยการให้บริการชาร์เตอร์ไฟลท์นำนักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทย แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ปรับมาให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ ทำให้สามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้น พร้อมเพิ่มเครื่องบินและพนักงานอีกร้อยละ 35 เพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีพนักงานราว 900 คน “ขณะที่สายการบินอื่น เขาเน้นการชะลอธุรกิจ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ปกติ แต่กลยุทธ์ของเราเน้นการขยายอย่างระมัดระวัง เพราะทั้งการระบาดของโควิด และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยที่มากระทบ ดังนั้นในแง่ผลกำไร ยังไม่ดีนัก แต่เราเน้นการเติบโตเป็นหลัก ขยายส่วนแบ่งการตลาด การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ซึ่งในส่วนของรายได้สำหรับปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว” วรเนติกล่าว นอกจากนี้ จากการที่ไทยเวียตเจ็ทเป็นสายการบินขนาดเล็ก การได้รับผลกระทบน้อยกว่าสายการบินขนาดใหญ่ ขณะที่มีโอกาสในการเติบโตสูง จากช่วงก่อนโควิดมีผู้โดยสารประมาณ 3 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่ดีที่จะขยายเที่ยวบินไปต่างประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมาสัดส่วนเที่ยวบินต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 5 ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด และภายใน 5 ปี คาดว่าจำนวนผู้โดยสารเที่ยวบินต่างประเทศจะเพิ่มเป็นร้อยละ 70 และจะทำให้บริษัทมีอัตราการเติบโตร้อยละ 20-30 ต่อปีหนุนปลดล็อกสงกรานต์ฟื้นท่องเที่ยว
วรเนติ กล่าวว่า หากนักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้นตัว และยิ่งในช่วงสงกรานต์ปีนี้ภาครัฐให้จัดงานได้แบบมีมาตรการควบคุม เชื่อว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจท่องเทียวในประเทศ ซึ่งไทยเวียตเจ็ทพร้อมจะสนับสนุนมาตรการของภาครัฐในการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวให้กลับมา โดยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการโปรโมตท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชา เวียดนาม “ธุรกิจสายการบิน เป็นธุรกิจต้นน้ำ หากสายการบินเดินหน้าได้ จะมีธุรกิจปลายน้ำรออยู่ เช่น โรงแรม ท่องเที่ยว ร้านอาหาร เราหวังว่าการขยายสายการบินในต่างประเทศ จะสามารถนำพานักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัว และทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น” วรเนติกล่าว สำหรับปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่งทางสมาคมสายการบินได้ยื่นเรื่องต่อกรมการบินพลเรือนให้แยกการคิดค่าธรรมเนียมน้ำมันอ อกจากราคาตั๋ว เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจนถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับภาษีสนามบิน แต่ทั้งนี้กรมการบินพลเรือนยังไม่อนุมัติ ทั้งนี้ต้องจับตาดูต่อไปว่าสถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด อ่านเพิ่มเติม: “Money Adwise” มองโอกาสสร้างแผนการเงินการลงทุนไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine