เสิร์ฟ Smart Manufacturing ภาคธุรกิจด้วย "5G" - Forbes Thailand

เสิร์ฟ Smart Manufacturing ภาคธุรกิจด้วย "5G"

วิกฤตโควิด 19 เป็นตัวเร่งให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีและความเร็ว สองปัจจัยช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวและพลิกเกมให้เท่าทันสถานการณ์ อีกด้านหนึ่งโครงข่ายเทคโนโลยีก็มีความสำคัญโดยเฉพาะ 5G ที่ปัจจุบันหลายค่ายโทรคมนาคมได้พัฒนาโครงการข่ายที่ก่อเกิดประโยชน์และรองรับ Smart Manufacturing ให้กับธุรกิจได้

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS ที่เข้าร่วมงานกับ AIS ได้ประมาณ 10 เดือน กำลังจัดทัพองค์กรและเดินหน้าหาพันธมิตรธุรกิจที่ต้องการใช้ประโยชน์จาก AIS 5G  "ประเทศไทยมีจุดแข็งที่โครงข่ายเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง 5จี ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ" สิ่งที่ เอไอเอส มีอยู่ในมือตอนนี้คือโครงข่าย 5จี ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ และมีความถี่ในการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความถี่ 700 2.6 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ถือเป็นจุดแข็งที่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย แม้เพิ่งเข้าร่วม เอไอเอสได้ได้นาน แต่ ธนพงษ์ มีประสบการณ์การทำงานในแวดวงไอทีกว่า 24 ปี ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ อาทิ IBM ประเทศไทย, Microsoft ประเทศไทย, เลอเนอโว ประเทศไทย และชไนเดอร์ อิเลกทริกส์ ทำให้มีมุมมองที่หลากหลายในธุรกิจโทรคมนาคม และเซกเมนต์ต่างๆ และนำมาเป็นข้อดีในการทำงานร่วมกับองค์กรในฐานะเทคโนโลยี พาร์ตเนอร์ ที่มุ่งตอบสนองเป้าหมายสูงสุดของแต่ละองค์กร “คนที่จะอยู่รอดได้ ต้องปรับตัว การใช้เทคโนโลยีที่ดีสุดไม่ได้หมายความว่าจะประสบผลสำเร็จเสมอไป การประยุกต์ใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์องค์กรถือเป็นสิ่งสำคัญ” เอไอเอสได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับ Microsoft  ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มส์รองรับการก้าวสู่ดิจิทัลขององค์กร ขณะเดียวกัน มีการลงทุนในแง่บุคคลากรภายในองค์กร ต้องพัฒนาทักษะ ทั้งอัพสกิล รีสกิล และเปิดรับบุคลากรใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 100 ตำแหน่ง เพื่อเจาะกลุ่มองค์กรธุรกิจให้มากขึ้น “เราเหมือนเป็นเชฟที่จะเตรียมอาหารจานที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า เราต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เน้นให้ทีมต้องเรียนรู้ตลอดเวลา” ธนพงษ์กล่าว

ขยายฐานลูกค้าครอบคลุมทุกกลุ่ม

เอไอเอส ได้ทยอยลงนามความร่วมมือกับลูกค้าหลายรายเพื่อต่อยอดความสำเร็จ จากต้นแบบสู่ “การใช้งานจริง” โดยล่าสุดได้ลงนาม (MOU) ระหว่าง บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อพลิกโฉมหน้าของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีแบบ Total Industrial Solution ที่ใช้งานได้จริงในภาคการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทบนศักยภาพของ AIS 5G และโซลูชั่น e-F@ctory สำหรับความร่วมมือกับมิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น ที่มีจุดแข็งในสายการผลิตของโรงงานในประเทศไทย และ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ผู้จำหน่ายสินค้าและดำเนินการใช้งานระบบควบคุมการผลิตอัตโนมัติในโรงงาน โดยร่วมกันนำเสนอโซลูชั่น e-F@ctory ที่พร้อมให้บริการและยกระดับภาคการผลิตด้วย Smart Manufacturing ที่ใช้งานจริงบนเครือข่าย AIS 5G ที่จะมาเสริมประสิทธิภาพการทำงานภายในภาคการผลิต ทั้งการเพิ่มคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต และตอบรับความต้องการการใช้งานในรูปแบบเครือข่ายเฉพาะ (Private Network) นอกจากนี้ ได้ออกแบบให้รองรับการทำงานระยะไกล สอดรับกับสถานการณ์โควิดด้วยฟังก์ชันอาทิการ Remote Monitoring, Remote Maintenance, Remote Development และ Remote Service ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิคส์ จำกัด หรือ ออมรอน (OMRON) ผู้นำด้าน Smart Manufacturing - Autonomous Mobile Robot โซลูชั่นที่ตอบโจทย์ภาคการผลิตอัจฉริยะ “ในอนาคต เราวางโรดแมปที่จะเข้าเป็นพันธมิตรให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เฮลธ์แคร์ ระบบโลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่ง รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการผสมผสานเทคโนโลยี IOT ค่อยๆ พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมของแต่ละองค์กร” ธนพงษ์ กล่าว สำหรับกลุ่มธุรกิจองค์กรของ AIS ถือเป็น New S-Curve ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าผู้บริโภคทั่วไปที่ใช้งานมือถือ และอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2564 กลุ่มธุรกิจองค์กร มีรายได้ที่ 1,217 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 13 – 14 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของรายได้รวม ทั้งนี้จากการสำรวจผู้บริหารบริษัทเอกชน 2,750 คน ใน 33 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ร้อยละ 69 ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นส่วนสำคัญที่เร่งให้องค์กรเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลซึ่งในประเทศไทยบริษัทส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็น digital evaluator มาสู่การเป็น Digital Adopter มากขึ้น “โอกาสกับอุปสรรคมักจะมาด้วยกันเสมอ สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนเร็วมาก ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เป็นปลาเร็วกินปลาช้า การเรียนรู้จึงสำคัญเพื่อหาช่องทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และในเวลาที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาทักษะและการประยุกต์ใช้ จึงทำให้การใช้เทคโนโลยีประสบผลสำเร็จ” ธนพงษ์กล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: SEAC แนะกลยุทธ์สำคัญนำองค์กรฝ่าวิกฤตโควิด-19
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine