Aristotle วางรากฐานให้วงการด้วยคำกล่าวที่ว่า ศิลปะของการโน้มน้าวใจหรือ ‘วาทศิลป์’ นั้นสามารถเรียนรู้ได้ แม้ว่าแนวคิดของ Aristotle จะถูกต้อง แต่เขาน่าจะไม่เคยคาดการณ์ไว้ว่าวันหนึ่ง 'หุ่นยนต์ AI' จะสามารถเรียนรู้การโต้แย้งได้ ถึงจะต้องใช้เวลากว่า 2,300 ปีกว่าที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้น แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วในที่สุด
แปลและเรียบเรียงจาก Here's What Happened When IBM's Advanced AI Machine Challenged An International Debate Champion เขียนโดย Carmine Gallo ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้กับแบรนด์และวิทยากรที่ Harvard University ตีพิมพ์ครั้งแรกใน forbes.com
เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ผมมีโอกาสเข้าร่วมชมเวทีการโต้วาทีระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์อย่างใกล้ชิด การดีเบตสดเป็นครั้งแรกระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์นี้เกิดขึ้นหลังจากการทำงานยาวนาน 6 ปีของนักวิทยาศาสตร์จาก
IBM Research ผู้ค้นคว้าวิจัยเพื่อไปสู่หมุดหมายครั้งใหญ่ครั้งต่อไปของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI นับจากหมุดหมายแรกในปี 1996 เมื่อ
Deep Blue สามารถเอาชนะแชมป์หมากรุกได้ ต่อมาในปี 2011
Watson สามารถชนะแชมป์เกมโชว์รายการ Jeopardy สำเร็จ ในปี 2019 นี้ หุ่นยนต์ AI จะสามารถเอาชนะแชมป์โต้วาทีที่ครองสถิติโลกได้หรือไม่?
ผลลัพธ์คือ ผู้ชมหลายร้อยคนที่ได้รับเชิญมาชมการแข่งขันครั้งนี้เทคะแนนให้ “มนุษย์” ได้ชัยชนะ อย่างไรก็ตาม
Project Debater ของ IBM ก็ยังนับได้ว่า
สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะหุ่นยนต์ AI ตัวแรกที่สามารถโต้แย้งและโน้มน้าวใจในหัวข้อที่มันไม่เคยถูกตั้งโปรแกรมให้เรียนรู้มาก่อนได้สำเร็จ
Harish Natarajan คือชายผู้ครองสถิติชัยชนะมากที่สุดในโลกบนเวทีการดีเบตระดับนานาชาติ แต่การโต้วาทีในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมาคือเวทีที่ผิดธรรมดาและอาจจะท้าทายมากที่สุดที่เขาเคยประสบ เนื่องจาก Project Debater สามารถเข้าถึงคลังประโยคได้กว่า 1 หมื่นล้านประโยคจากเอกสารหลายล้านรายการ แต่ Natarajan ไม่สามารถใช้ได้แม้แต่อินเทอร์เน็ต เขามีเพียงปากกา กระดาษโน้ต และสมองของเขาเองเท่านั้น
แต่ละมุมเวที ทั้งมนุษย์และหุ่นยนต์ มีเวลาเตรียมตัวโต้วาทีฝั่งละ 15 นาทีเท่ากัน พวกเขาได้รับญัตติการดีเบตคือ
“เราควรอุดหนุนโรงเรียนอนุบาลหรือไม่” Project Debater จะเป็นผู้เสนอญัตติ ส่วน Natarajan จะเป็นฝ่ายค้านญัตตินี้ ย้ำอีกครั้งว่าเขามีเพียงสมองของเขา ศิลปะการโน้มน้าวใจ และทักษะอันน่าทึ่งของมนุษย์ในการเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ชม
AI ของ IBM ได้พูดก่อน เธอใช้การนำเสนอกรณีศึกษาที่มีเหตุผลและตรรกะยาว 4 นาทีเพื่อสนับสนุนความคิดของเธอ โดยเธอมุ่งเน้นไปที่ 3 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลสามารถส่งเสริมความสำเร็จทางการศึกษาของเด็ก ช่วยเอาชนะความยากจน และนำไปสู่จำนวนอาชญากรรมที่ลดลง หุ่นยนต์ตัวนี้ค้นเอกสารหลายล้านชิ้น ดึงข้อความที่เกี่ยวข้องมาเพื่อสนับสนุนแนวคิดของเธอ และนำเสนองานวิจัยจำนวนมากที่มีผลเชิงประจักษ์เพื่อสนับสนุนประเด็นของเธอ
https://youtu.be/m3u-1yttrVw?t=685
คลิปวิดีโอการโต้วาทีระหว่าง Project Debater และ Harish Natarajan (เริ่มต้นที่นาทีที่ 11:25)
จากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ผู้พัฒนาโครงการนี้ พวกเขาเห็นว่าความสำเร็จครั้งนี้โดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะ Project Debater สามารถวางโครงสร้างประโยคการโต้วาทีได้สำเร็จ แต่สิ่งที่ขาดคือเธอเพียงแต่นำเสนอหลักฐานต่างๆ เพื่อสนับสนุนประเด็น มาฟังทางฝั่ง Natarajan ซึ่งจะต้องค้านกลับกันบ้าง
Natarajan ใช้วิธีการโน้มน้าวใจที่ละเอียดซับซ้อนกว่ามาก เป็นวิธีที่จะสะท้อนกลับไปสู่มนุษย์ด้วยกัน Natarajan เคยบอกกับผมว่า นักพูดที่เก่งกาจนั้นจะต้องหาพื้นที่เพื่อมา ‘เจอกันตรงกลาง’ กับคนที่คิดเห็นตรงข้ามกับตัวเอง และนั่นคือสิ่งที่เขาทำ
“ก่อนอื่นเลย ผมขอเน้นในสิ่งที่เราเห็นตรงกัน” เขาเริ่มการดีเบต “ความยากจนนั้นเลวร้าย และสิ่งที่เลวร้ายเช่นกันคือเมื่อประชาชนไม่มีน้ำประปาหรือสาธารณสุขเพื่อดูแลบุตรหลาน...”
Natarajan ใช้เวลาของเขาเพื่อโต้แย้งว่า ในขณะที่การอุดหนุนโรงเรียนอนุบาลนั้นเป็นเป้าหมายที่น่ายกย่อง แต่เราก็ยังอาศัยอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีเงื่อนไขทางการเงิน และมีขีดจำกัดของงบที่เราจะใช้จ่าย เขาโต้แย้งมุมมองของ Project Debater ว่า การสนับสนุนโรงเรียนอนุบาลจะกลับกลายเป็นการทำร้ายผู้คนที่รัฐต้องการจะช่วยเหลือ ด้วยการโยกย้ายทรัพยากรอันมีจำกัดไปจากสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่สำคัญยิ่งกว่า
ในตอนจบของการดีเบต ผู้ชมสดในห้องประชุมกว่า 800 คนได้รับเชิญให้ลงคะแนนเสียง และ Natarajan ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะเนื่องจากหลายๆ คนบอกว่า Natarajan สามารถเปลี่ยนความคิดตั้งต้นที่พวกเขามีต่อประเด็นนี้ได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นชัยชนะในการโต้วาที เพราะการแข่งขันนี้จุดประสงค์ไม่ใช่การทำคะแนนให้มากที่สุดแต่เป็นการเปลี่ยนความคิดของคนให้จงได้
AI ของ IBM ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อ “เอาชนะ” หรือมาทดแทนมนุษย์ ที่จริงแล้วมันถูกสร้างมาเพื่อเป็นส่วนเสริมหรือช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจได้ โดยข้อมูลจากทีมวิจัยผู้สร้าง AI เครื่องนี้กล่าวว่า โปรเจ็กต์นี้สร้างขึ้นเพื่อยกระดับการสื่อสารด้วยหลักฐานและเหตุผล
AI ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นมันจึงไม่สามารถอ่านใจคนฟังหรือเชื่อมสัมพันธ์กับผู้คนได้ในเชิงอารมณ์ แต่มันสามารถสร้างข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลพร้อมกับงานวิจัย เอกสาร และหลักฐานหลายล้านชิ้นมาเป็นข้อสนับสนุน
Natarajan กล่าวกับผมหลังการแข่งขันโต้วาทีว่า
การเสนอญัตติของ Project Debater นั้น “ใช้วลีได้อย่างสวยงามและใช้คำในบริบทต่างๆ ได้ดีกว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ AI เครื่องนี้มีพลังมหัศจรรย์ที่มาช่วยเหลือมนุษย์ได้”
Aristotle เชื่อว่า ในการจูงใจคนให้เปลี่ยนความคิดนั้น ผู้พูดจะต้องมีส่วนผสมของ
ethos (บุคลิก), logos (ตรรกะ, เหตุผล และหลักฐาน) รวมถึง pathos (อารมณ์) ด้วย Aristotle เสนอว่าการจูงใจคนจะต้องมีองค์ประกอบทั้งสามอย่างอย่างครบถ้วน แต่ Project Debater ของ IBM นั้นขาดในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ทำให้เธอไม่มีจินตนาการที่จะสร้างภาพความฝันขึ้นมา ซึ่งสิ่งนั้นเป็นจุดสำคัญที่สงวนไว้ให้กับมนุษย์ผู้สร้าง AI อย่างไรก็ดี เธอก็มีสิ่งหนึ่งซึ่งทรงคุณค่าต่อมนุษย์ในการตัดสินใจนั่นคือ...หลักฐาน เหตุผล และตรรกะนั่นเอง