Techsauce เผยจำนวน สตาร์ทอัพไทย มีศักยภาพกว่า 100 ราย จากทั้งหมด 800 ราย เหตุติดกับดักขยายธุรกิจไม่ได้ในภูมิภาค แนะภาครัฐปฏิรูปการศึกษา-กฎเกณฑ์ภาษี
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Techsauce Media เปิดเผยถึงสถานการณ์ สตาร์ทอัพไทย ระหว่างการเปิดงาน Techsauce Global Summit 2019 โดยระบุว่า ในตอนนี้ประเทศไทยมีจำนวนสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยปัจจุบันคาดว่ามีสตาร์ทอัพในไทยทั้งหมดราว 800 ราย ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและได้รับการระดมทุนแล้วกว่า 100 ราย โดยแนวโน้มสตาร์ทอัพไทยเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เห็นได้จากโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพหลายโครงการที่มีสตาร์ทอัพหน้าใหม่เข้ามาสมัครค่อนข้างมาก และเป็นสตาร์ทอัพที่ค่อนข้างมีคุณภาพกว่าปีก่อนๆ
“อย่างไรก็ตาม ดูจากตัวเลขดังกล่าวแล้วอาจยังเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากสตาร์ทอัพไทยยังติดเรื่องการสร้างธุรกิจให้สามารถขยายไปในระดับภูมิภาค เราติดกับดักตรงที่ว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่และไม่เล็ก ทำให้สตาร์ทอัพหลายคนไม่คิดขยายธุรกิจไประดับภูมิภาค ส่งผลให้โอกาสในการระดมทุนรอบใหญ่ๆ ได้มีน้อย โดยหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสิงคโปร์ ซึ่งมีตลาดเล็ก เวลาสตาร์ทอัพสิงคโปร์ทำอะไรจึงไม่มองตลาดในประเทศ แต่มองไปถึงตลาดต่างประเทศเลย ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่พอที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในประเทศได้”
“HealthTech-FoodTech-AgriTech” มาแรง
อรนุชกล่าวอีกว่า จากข้อมูลของ Techsauce พบว่า ปี 2018 ที่ผ่านมาเป็นปีที่มีจำนวนการระดมทุนของสตาร์ทอัพไทยมากกว่าปีก่อนเล็กน้อย แต่จำนวนเงินลดลงมาอยู่ที่ 61.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ในปี 2017 มีการระดมทุนรวม 106.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการลงทุนมากที่สุดคือ FoodTech
“ปีนี้เราเริ่มเห็นสตาร์ทอัพหันมาโฟกัสกับเรื่องสุขภาพ (HealthTech), อาหาร (FoodTech) และการเกษตร (AgriTech) หรือสิ่งที่เป็นรากเหง้าพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการทำ FinTech ในไทยยังดูทำได้ยาก เพราะยังติดในเรื่องของกฎระเบียบ และเราเองยังไม่แข็งแกร่งด้านนี้เหมือนสิงคโปร์หรือประเทศอื่นๆ ประเทศไทยเราเติบโตมาจากประเทศเกษตรกรรม ขณะเดียวกันการแพทย์ของเราก็ถือว่าค่อนข้างดี ทำให้เห็นว่าตอนนี้คนที่มีอาชีพเฉพาะทางหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างแพทย์ก็เริ่มมาทำสตาร์ทอัพ เพราะเขามีความรู้ความเข้าใจ และรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการแพทย์คืออะไร”
อรนุชเผยว่า สำหรับความเคลื่อนไหวในวงการ สตาร์ทอัพไทย ที่เห็นได้ชัดในปีนี้คือ สตาร์ทอัพไทยมักทำโปรดักต์ที่ตอบโจทย์กับ B2B (Business-to-Business) มากขึ้น จากในช่วงปีแรกๆ มักทำแอพพลิเคชั่นมือถือเจาะกลุ่ม B2C (Business-to-Customer) ซึ่งทำตลาดได้ยากกว่า เพราะผู้บริโภคยังไม่พร้อมที่จะจ่ายเงิน โอกาสที่จะเกิดและเติบโตได้ในประเทศไทยส่วนใหญ่จึงเป็น B2B หรือ B2B2C (Business-to-Business-to-Customer) คือเป็นโปรดักต์เพื่อผู้บริโภคทั่วไป แต่รายได้มาจากลูกค้าองค์กร ซึ่งมักเป็นสตาร์ทอัพที่มีข้อมูลเฉพาะด้าน
“กุญแจสำคัญของทั้งยักษ์ใหญ่และสตาร์ทอัพ คือ ถ้าใครมีข้อมูลที่เอ็กซ์คลูซีฟมากๆ ก็จะดึงดูดพาร์ทเนอร์เข้ามาได้ง่าย อย่าง Wongnai ที่มีข้อมูลร้านอาหารมากมาย จนสามารถจับมือกับผู้เล่นรายใหญ่อย่างไลน์แมนได้ เป็นต้น”
เมืองไทยขาดแคลน “คนเก่ง”
ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Techsauce Media กล่าวอีกว่า สิ่งที่ยังขาดอยู่ในระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยตอนนี้ คือ คนเก่ง โดยเฉพาะด้าน Data Engineering เพราะคนเก่งเมื่อจบมาก็มักไปทำงานบริษัทใหญ่เนื่องจากผลตอบแทนสูง ส่วนสตาร์ทอัพยังไม่มีเงินทุนมากพอที่จะจ้างคนเก่งได้
“ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่สำคัญต่อการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่ง คือ การศึกษา ตอนนี้การศึกษาไทยเป็นระบบที่เหมือนให้ปลากับเด็ก แต่ไม่สอนวิธีตกปลา คือไม่ได้สอนวิธีคิดต่อยอดให้ ส่งผลให้เด็กที่เรียนสายวิทยาศาสตร์มักขาดความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่เด็กเรียนสายศิลป์เองก็ขาดเรื่องการคิดอย่างมีเหตุและผล ดังนั้น การศึกษาไทยจึงเป็นสิ่งที่ควรปฏิรูปเพื่อรองรับการผลิตบุคลากรให้ทันต่อการพัฒนาเทคโนโลยี”
- ประเทศไทยจะแหวกว่ายในมหาสมุทร Deep Tech อย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ “Audrey Tang” รัฐมนตรีดิจิตอลไต้หวัน ผู้ขับเคลื่อนประชาธิปไตยด้วยเทคโนโลยี
ส่วนภาครัฐไทยมีการตื่นตัวเรื่องสตาร์ทอัพมาพักใหญ่แล้ว เห็นได้จากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีการจัดอีเวนต์เกี่ยวกับสตาร์ทอัพหลายงาน แต่ในเรื่องกฎหมาย ยังมีอีก 2-3 ข้อที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสตาร์ทอัพไทยนัก เช่น เรื่อง Capital Gain Tax หรือการเก็บภาษีจากกำไรซื้อขายหลักทรัพย์ ที่เวลาสตาร์ทอัพลงระดมทุนได้ต้องเสียภาษีตัวนี้ด้วย ซึ่งในสิงคโปร์ไม่มี ทำให้เมื่อสตาร์ทอัพต้องการระดมทุนยอดสูงๆ เขาต้องไปต่างประเทศที่กฎหมายเอื้อกว่า กลายเป็นสมองไหล หากภาครัฐปรับเรื่องนี้ได้ก็จะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยสามารถจดทะเบียนได้ ไม่เกิดปรากฏการณ์สมองไหล
Techsauce เชื่อม "สตาร์ทอัพไทย" กับโลก
อรนุชกล่าวอีกว่า สำหรับการจัดงาน Techsauce Global Summit เป้าหมายหลักของเราคือการเป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีไทยและโลก และเชื่อมเทคโนโลยีโลกมาสู่ไทย และยังเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ที่ทำให้ผู้คนเข้าใจกันด้วยเนื้อหาในมิติอื่นอีกด้วย
“ปีที่ผ่านมามีผู้มาร่วมงาน 10,000 คน ส่วนในปีนี้คาดว่ามีผู้ร่วมงานเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีก่อน หรือเป็น 20,000 คน ซึ่งคาดว่ามาจาก 50 ประเทศทั่วโลก ส่วนการจับคู่ทางธุรกิจนั้น ปีที่ผ่านมามีการจับคู่ธุรกิจไป 750 ราย ส่วนปีนี้คาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจ 1,500 ราย ส่วนไฮไลท์ของงานอยู่ที่เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะวิวัฒนาการของ AI ในจีนและสหรัฐอเมริกา ที่จะทำให้เราเข้าใจถึงพื้นฐานความคิด และการนำไปใช้ที่ต่างกันของทั้ง 2 ประเทศ”
รายงานโดย : กนกวรรณ มากเมฆ Online Content Creatorไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine