ประเทศไทยจะแหวกว่ายในมหาสมุทร Deep Tech อย่างไร - Forbes Thailand

ประเทศไทยจะแหวกว่ายในมหาสมุทร Deep Tech อย่างไร

FORBES THAILAND / ADMIN
05 Apr 2019 | 10:16 AM
READ 6052

ยุคสมัยนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกด้านของชีวิต แต่ในโลกแห่งการแข่งขันที่เทคโนโลยีที่เราใช้กันอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกต่อไป ในวงการธุรกิจจึงพูดถึงการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่เรียกว่า Deep Technology หรือ Deep Tech ซึ่งก็คือการเอาเทคโนโลยีที่ซับซ้อน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Blockchain, Big Data มาสรรสร้างก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่

ธุรกิจไหนสามารถประยุกต์ใช้Deep Tech ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ก็จะยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จในสมรภูมิแห่งอนาคตมากยิ่งขึ้น แวดวงสตาร์ทอัพก็กำลังตื่นตัวกับการพัฒนาDeep Tech ทว่าน่าเสียดายที่หนทางสู่การพัฒนาและครอบครองDeep Tech ของสตาร์ทอัพไทยยังดูแสนจะยาวไกล เพื่อให้คุณผู้อ่านเห็นภาพมากยิ่งขึ้น ผมขอเปรียบเทียบโลกของDeep Tech กับโลกใต้มหาสมุทรที่มีทรัพยากรมากมาย มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ลึกสุดหยั่งไกลสุดจินตนาการ ณ ปัจจุบันนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในการสำรวจและเก็บเกี่ยวทรัพยากรแห่งใหม่ในโลกใต้ท้องทะเลนี้ ขณะที่สตาร์ทอัพไทยยังอยู่แค่การแข่งขันในระดับพื้นผิวทะเล โดยยังอยู่ในขั้นที่เรียกว่าเป็น Copy Cat หรือก็คือการเอาไอเดียที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทไทย มากกว่าที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเอง เพราะเรายังมีประสบการณ์น้อย และการจะลงไปสำรวจทรัพยากรแห่งใหม่ในโลกใต้ท้องทะเลต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน ต้องมีความพร้อม มีเม็ดเงินลงทุน เท่านั้นยังไม่พอต้องเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย จากการประชุม World Economic Forum ณ เมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการกล่าวว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งนี้ มีความสำคัญตรงที่ถึงแม้ว่าการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่จะมีผลดีมากมายอาทิ ก่อให้เกิดการสร้างงาน หรือแม้แต่การคิดค้นวิธีการรักษาโรคด้วยวิธีใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการแบ่งแยกความเจริญได้อย่างชัดเจน ซึ่งความเจริญนั้นวัดกันที่ประเทศไหนสามารถครอบครอง Deep Tech ไว้ได้มากกว่ากัน หากประเทศไหนมีองค์ความรู้ สามารถครอบครองเทคโนโลยีชั้นสูงได้มาก ก็มีแต้มต่ออยู่ในมือจำานวนมาก สร้างความแตกต่างเหลื่อมล้ำากับประเทศที่ไม่ได้ครอบครองเทคโนโลยีอย่างมหาศาล ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการตื่นตัวเร่งสร้าง Data Scientist หน้าใหม่ เพื่อค้นคว้าวิจัยข้อมูลที่ประเทศจีนครอบครองอยู่ล้นมือ ด้วยวิถีชีวิตอย่าง Cashless Society ไม่ว่าจะทำธุรกรรมทางการเงินหรือซื้อของ เพียงแค่กดในมือถือ ก็สามารถจัดการได้เรียบร้อย ทำให้ข้อมูลทั้งหลายวนเวียนอยู่ในระบบ ราวกับปลาว่ายวนในมหาสมุทร ที่แม้แต่สหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่สามารถรวบรวมข้อมูลได้มากเท่ากับจีน และเมื่อมีข้อมูลมหาศาลในมือก็จะสามารถพัฒนา Deep Tech ด้าน AI ได้อย่างรวดเร็ว ประเทศจีนจึงสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาประเทศอื่น มีการคาดคะเนว่าในอีก 10 ปี ประเทศจีน อาจจะมีรถ Autonomous Car (รถยนต์ไร้คนขับ) วิ่งอย่างแพร่หลายขณะที่สหรัฐอเมริกาอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่านั้น ส่วนประเทศไทยนั้นก็ได้แต่รอเป็นผู้ซื้อฝ่ายเดียวหากเรายังไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาDeep Tech ได้แต่รอคอยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นนอกจากเรื่องที่หลายคนกลัวว่าเทคโนโลยีชั้นสูงจะมาแทนที่คน ทำให้เกิดการว่างงานจำานวนมหาศาลแล้ว ในภาพรวมแม้เราอาจจะไม่ใช่คนที่ต้องเสียงานให้ปัญญาประดิษฐ์แต่เราก็จะสูญเสียรายได้ของเราให้กับประเทศอื่นผ่านการซื้อเทคโนโลยีที่แพงหูฉี่แต่ไม่มีก็ไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจ ต่อจีดีพี แถมการนำเทคโนโลยีต่างประเทศมาใช้ ยังเป็นการอนุญาตให้ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีดึงข้อมูลจากประเทศเราไปใช้พัฒนาต่อแล้วกลับมาขายเราได้อีกด้วย แล้วทางรอดของประเทศไทยจะทำอย่างไร ผมมองว่าหนึ่งในปัญหาหลักที่เรากำลังประสบอยู่ คือการขาดทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านข้อมูลและเทคโนโลยี สิ่งที่จะช่วยให้เรารอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้ก็คือการศึกษา หากภาครัฐให้การนับสนุนในสาขาวิชาด้านเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ Data Analysis, Data Science จะเป็นการช่วยเสริมทัพให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้น อย่างประเทศจีนที่จริงก็ใช้เวลาแค่ 3-4 ปีมุ่งสร้าง Data Scientist ก็สามารถขึ้นนำเป็นอันดับ 1 ของโลกด้านเทคโนโลยีชั้นสูงได้แล้ว ผมจึงคิดว่าประเทศไทยไม่ได้หมดหวังเสียทีเดียว แต่เราต้องไหวตัวได้แล้ว ฝั่งนักลงทุนก็ต้องพร้อมติดอาวุธให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพส่วนสตาร์ทอัพไทยก็ต้องเร่งปรับตัว มองอนาคตข้างหน้า ต้องกล้าพุ่งทะยานออกจากสมรภูมิเดิม สู่ใต้มหาสมุทรใหญ่ได้แล้ว! ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำากัด และนายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA)
ติดตามอ่านบทความทางด้านธุรกิจและเศรษฐกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2562 และติดตามได้ในรูปแบบ e-Magazine