ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล สตาร์ทอัพที่คู่ควร หายากกว่า “เงิน” - Forbes Thailand

ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล สตาร์ทอัพที่คู่ควร หายากกว่า “เงิน”

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Oct 2017 | 05:22 PM
READ 8576

จากที่เคยสวมบทสตาร์ทอัพพัฒนา Eatigo หรือแอพฯ ให้บริการจองและรับส่วนลดจากร้านอาหาร ในวันนี้ หนึ่งในผู้ก่อตั้งอย่าง ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล เริ่มผันมาเป็นนักลงทุนที่มุ่งค้นหากิจการหน้าใหม่ ที่กลั่นกรองจากมุมมองที่ผสาน 2 ด้าน ทั้งฝั่งสตาร์ทอัพและผู้ลงทุน

ปัจจุบัน ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีททิโก (ประเทศไทย) จำกัด มีการลงทุนในสตาร์ทอัพ 3 แห่ง ทั้ง Eatigo ซึ่งเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งตลอดจนสตาร์ทอัพขายสินค้าประเภทฮาร์ดแวร์และกิจการที่เขาให้คำจำกัดความว่า “ลงทุนในตัวบุคคล” ที่จะสานไอเดียธุรกิจดีๆ ของเขาให้ประสบความสำเร็จ
หน้าเว็บไซต์ Eatigo บริการจองและรับส่วนลดร้านอาหารที่ภูมินทร์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง
 

Business Model มาเป็นที่หนึ่ง และมั่นใจว่า “ขายต่อ” ได้

การพิจารณาเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพโดยดูจากสินค้าหรือบริการเพียงอย่างเดียวอาจสร้างความเสียหายให้นักลงทุนได้ ไม่ว่าสินค้า/บริการนั้นสร้างฐานลูกค้าได้กว้างขวางใหญ่โตมากมายเพียงใด หรือมีเงินทุนสนับสนุนมากแค่ไหน แต่ถ้าลูกค้าที่มีอยู่มากมายไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับกิจการ หรือไม่สามารถนำโมเดลธุรกิจที่เป็นอยู่ไปปรับใช้กับฐานตลาดในประเทศอื่น (scalable) ก็เป็นอันคาดการณ์ได้ว่า การขยายตัวก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วคงยุติลงในอนาคตอันใกล้ “โมเดลธุรกิจควรเป็นสิ่งแรกที่นักลงทุนสตาร์ทอัพนำมาประกอบการพิจารณา แผนการขยายธุรกิจ (expansion plan) ควรมีอยู่ในแผนนับแต่วันแรกที่ริเริ่ม หากมีศักยภาพเติบโตได้ในหลายประเทศยิ่งน่าสนใจ เนื่องจากสตาร์ทอัพจำเป็นต้องขาดทุนเพื่อการเจริญเติบโต ดังนั้น วิธีเดียวที่นักลงทุนจะป้องกันตัวเองให้พ้นจากการขาดทุนได้ก็คือ กิจการนั้นจะต้องสามารถขายต่อได้ นักลงทุนควรเห็นช่องทางในการขายตั้งแต่วันที่คิดว่าจะลงทุนในกิจการนั้น  

ลงทุนในสิ่งที่มีประสบการณ์ เพราะสตาร์ทอัพที่คู่ควรหายากกว่า “เงิน”

เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักเพียงประการเดียว จากประสบการณ์ที่เคยอยู่ในฐานะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพมาก่อน ภูมินทร์บอกว่า สิ่งที่สตาร์ทอัพที่ดีมองหาจากนักลงทุนไม่ใช่แค่เงิน แต่เป็นประสบการณ์และความสำเร็จที่ผ่านมาของนักลงทุน “บางคนคิดว่า VC ขอแค่มีเงินก็พอแล้ว ไม่จริงเลย ทุกวันนี้ supply มีไม่เพียงพอ สตาร์ทอัพดีๆ ซึ่งเหลือรอดไประดมทุนจาก series A (ช่วงที่เริ่มแนะนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด) มีจำนวนน้อย การหาสตาร์ทอัพที่คู่ควรยากกว่าการหาเงินมาก ผลงานระดมทุนจากนักลงทุนในอดีต ไม่ใช่สิ่งรับประกันการเป็นสตาร์ทอัพที่ดี หลายครั้งที่สตาร์ทอัพเจอนักลงทุน “เมา” คือ นักลงทุนที่ให้เงินลงทุนในสิ่งซึ่งตัวเองไม่มีประสบการณ์ และไม่รู้อะไรเลย”  

ตั้งคำถามเสมอว่าสตาร์ทอัพนั้นคู่ควรกับเงินลงทุนหรือไม่ และมองหาคนที่ได้ประโยชน์จากตัวคุณ

การประเมินมูลค่าของสตาร์ทอัพมีวิธีการหลากหลายมาก วิธีง่ายที่สุดที่ช่วยให้สังเกตได้ว่า สตาร์ทอัพนั้นมีศักยภาพจริงหรือไม่ คือการดูจากคู่แข่งสตาร์ทอัพที่มีคนต้องการเยอะแสดงว่ามีนักลงทุนหลายคนเล็งเห็นของดีที่ซ่อนอยู่ในตัว (แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งไป) หากเจอสตาร์ทอัพที่คิดว่าดี แต่ไม่มีนักลงทุนมาเป็นคู่แข่งกัน พึงเฉลียวใจเบื้องต้นไว้ว่า คุณอาจโดนขายของไม่ดีอยู่ก็ได้ “เป็นไปได้ยากที่สตาร์ทอัพเจ๋งๆ จะไม่มีใครอื่นในสายตา จึงพึงระวังความคิดที่ว่า ได้พบสตาร์ทอัพดีแต่ยังไม่มีใครพบ”  

ทำตัวเป็นนักลงทุนที่เป็น Strategic Partner

การเป็น VC ที่ไม่ทำหน้าที่อาจส่งผลให้เงินลงทุนสูญเปล่าไปโดยไร้ประโยชน์ VC ที่ดีควรทำตัวเป็นหุ้นส่วนกลยุทธ์ (strategic partner) ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของธุรกิจ (sustainability) มากกว่าการวัดผลจากดัชนีประเมินผลงาน (key performance indicators : KPI) ต่างๆ เช่น อัตราผลตอบแทนหรือกำไรเพียงอย่างเดียว อย่าลืมว่าการขาดทุนของสตาร์ทอัพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโต “การลงทุนในสตาร์ทอัพ ไม่มีใครมานั่งรอกำไรจากเงินปันผลหรอก สิ่งที่นักลงทุนหวังคือกำไรจากมูลค่ากิจการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่แปลกเลยหากสตาร์ทอัพตั้งใจขาดทุนเพื่อการเจริญเติบโตในอนาคต”  

ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิเลือก

ในฐานะที่เป็นเจ้าของเงินทุน ผู้ร่วมลงทุนมีสิทธิที่จะออกความคิดเห็นในกรณีที่ไม่เห็นด้วยและมีความคิดเห็นที่คิดว่าน่าจะดีกว่า สตาร์ทอัพมีสิทธิเปิดการเจรจากับนักลงทุนมากกว่า 1 รายเพื่อศึกษานิสัยใจคอของกันและกัน หาก VCที่เจรจาด้วยมีความเห็นไม่ตรงกันแล้วละก็ โดยมารยาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงต้องหลีกทางหรือจบด้วยการหา VC ใหม่ ปัจจุบัน Eatigo ผ่านการระดมทุนมาแล้ว 15.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 530 ล้านบาท) ผ่านพ้นจุดคุ้มทุนในประเทศที่เปิดดำเนินการแล้ว แต่ ภูมินทร์ กล่าวว่า ยังเลือกขาดทุนเพื่อให้กิจการเติบโต ภูมินทร์เลือกลงทุนในสตาร์ทอัพที่เป็นสินค้าฮาร์ดแวร์ เพราะสินค้าที่จับต้องได้ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ระดับหนึ่ง ส่วนสตาร์ทอัพล่าสุดคือการลงทุนในตัว “บุคคล” ที่เขามั่นใจว่ามีฝีมือ เพื่อนำทีมตะลุยธุรกิจที่ภูมินทร์ออกไอเดียให้ พร้อมข้อเสนอให้ซื้อกิจการ (option to buy business) หากประสบผลสำเร็จ   เรื่อง: ดรณ์ มาลัยธรรม ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านบทความด้านการลงทุนอื่นๆ ได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine