ถอดแนวคิดพัฒนานวัตกรรมของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก AWS - Forbes Thailand

ถอดแนวคิดพัฒนานวัตกรรมของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก AWS

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Aug 2019 | 06:10 PM
READ 11504

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ของการตั้งสำนักงานในไทยของบริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AWS บริษัทในเครือ Amazon.com ซึ่งไม่เพียงพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมสำนักงานแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ในอาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์ และมีพื้นที่ใหญ่กว่าเดิมเกิน 10 เท่า แต่ AWS ยังเปิดเผยแนวคิดของบริษัทสู่การเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมด้านนวัตกรรม (Culture of Innovation) ด้วย

ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่ 14 ที่บริษัทเทคโนโลยีอย่าง AWS เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าและผู้ใช้งาน

“2-3 ปีแรกลูกค้าของเราเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ล้วนเข้ามาดิสรัปต์อุตสาหกรรมของตัวเอง ซึ่งทำให้บริษัทใหญ่ๆ ต้องหันกลับมามองถึงความสามารถในการพัฒนาและสร้างเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพ และเริ่มเข้ามาใช้บริการกับเรา

ลูกค้าคนแรกของ AWS คือ Amazon ซึ่งเราจะเห็นว่าที่ผ่านมามีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเราไม่ได้สร้างประสบการณ์แก่ผู้ใช้งานเฉพาะบนเว็บไซต์เท่านั้น แต่นวัตกรรมของเรายังรวมไปถึงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์เข้าไปใช้ในคลังสินค้าของ Amazon ที่นำ machine learning มาใช้ในระบบจัดเก็บสินค้าบนเชลฟ์ ทำให้การจัดส่งทำได้รวดเร็วขึ้น จนปัจจุบันสามารถส่งสินค้าได้ภายใน 1 ชั่วโมง

ดร.ชวพล กล่าวว่า เราเชื่อว่าการนวัตกรรมไม่ได้เกิดจาก one time exercise แต่ต้องเป็นกระบวนการที่อยู่ในการทำงานและวิธีคิดของเราทุกวัน โดยธรรมชาติเราคิดสร้างนวัตกรรมของเราทุกวัน และถึงแม้นวัตกรรมจะมีมากมายหลายประเภท แต่สำหรับเรา นวัตกรรมที่ดีที่สุดคือนวัตกรรมที่สามารถทำให้ลูกค้าต่อยอดความคิดและสร้างความฝันได้

สำนักงานแห่งใหม่ของอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) ที่มีพื้นที่มากกว่าเดิมเกิน 10 เท่า

วิสัยทัศน์ของเราคือต้องการเป็นบริษัทที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer centric) ทุกอย่างเริ่มที่ลูกค้า ซึ่งแนวคิดนี้เริ่มจากจดหมายที่ Jeff Bezos ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Amazon.com Inc เขียนถึงผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกในปี 1997 ซึ่งเป็นปีที่ Amazon จะเข้าระดมทุนในตลาดเป็นครั้งแรก

จดหมายฉบับนั้นมีการกล่าวถึง Day 1 ซึ่งกลายมาเป็นปรัชญาของบริษัทที่ต้องการย้ำเตือนตัวเองว่าให้ทุกวันเป็นเหมือนวันทำธุรกิจวันแรกเสมอ และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเชื่ออยู่ว่าวันนี้คือ Day 1 บนความตั้งใจที่จะพัฒนาให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ทุกวัน โดยอาศัยความเชื่อที่เป็นกุญแจสำคัญ 4 ข้อด้วยกัน คือ

  1. Customer obsession: หลายองค์กรเลือกอย่างอื่นที่ไม่ใช่ลูกค้า แต่ที่ Amazon เราเลือกลูกค้าก่อนเสมอ
  2. Long Term Thinking: การมีขอบเขตมุมมองในระยะยาวที่เหนียวแน่นมั่นคง แต่ก็ไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายนั้นได้
  3. Willing to fail: พร้อมที่จะล้มเหลว เพราะเรามองว่าการล้มเหลวไม่ใช่เรื่องแย่ หากเราเรียนรู้จากมัน เพราะหากไม่เคยล้มเหลวเลย แปลว่าเราไม่เคยลงมือทดลองทำ และการทดลองก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวเสมอ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้นได้ด้วย
  4. Willing to be misunderstood: พร้อมที่จะถูกเข้าใจผิดจากคนอื่น จากการที่กล้าจะทำอะไรใหม่ๆ
ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด

ดร.ชวพลกล่าวอีกว่า การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้ทุกวันนั้นอาศัยวิธีการจัดการ 4 ส่วน คือ

-วิธีการ (mechanism) : ซึ่งวิธีการที่ Amazon เอามาใช้ทุกวันคือ working backward หรือกระบวนการทำงานแบบย้อนกลับหลัง ซึ่งรวมถึงการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการล่วงหน้า เป็นการสร้างเป้าหมายและวัตถุประสงค์ เพื่อให้มั่นใจว่าเราคิดแทนลูกค้าแล้วนั่นเอง

-สถาปัตยกรรม (architecture) : เนื่องจากที่ AWS เราต้องการคนที่เป็น builder ซึ่งหมายถึงคนที่ทั้งคิดและทำด้วย ดังนั้น เราจึงพยายามออกแบบเครื่องมือที่ไม่ต่างจากการต่อเลโก้ ที่จะทำให้คนที่มีไอเดียสามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมต้นแบบได้อย่างรวดเร็วขึ้น

-วัฒนธรรม (culture) : สิ่งที่ขับเคลื่อนองค์กรอย่าง Amazon และ AWS คือ leadership principle หรือหลักการชี้นำในการปฏิบัติที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ใช้ในทุกกระบวนการทำงาน ซึ่งรวมไปถึงการว่าจ้างและการประเมินพนักงานด้วย

โดยหลักการชี้นำของเราบางข้อ เช่น ส่งเสริมให้คนเห็นต่างโดยใช้ข้อมูล เพราะความเห็นต่างช่วยให้เห็นไอเดียใหม่ๆ ซึ่งทำให้เกิดความสร้างสรรค์ในองค์กร, การตัดสินใจที่ควรทำคือเมื่อมีข้อมูลประมาณ 70% (Bias for 70%) เพราะหากรอให้ได้ข้อมูลมากถึง 90% ก็อาจช้าเกินไปได้ เป็นต้น

-องค์กร (Organization) : เรายังจัดโครงสร้างทีมโดยอาศัยทฤษฎีทีมพิซซ่า 2 ถาดซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงเป็นทีมที่สามารถทานพิซซ่าได้ 2 ถาดพอดี หรือมีคนจำนวน 4-10 คน ทีมใดที่มีคนมากกว่า 11 คนจะเพิ่มความล่าช้าเป็นทวีคูณ

“2 ปีก่อน AWS เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนปัจจุบันเราเป็นผู้นำตลาดโดยมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 52% ดังนั้นการที่เราจะเติบโตแบบต่อเนื่องและเร็วกว่าตลาดได้ถือเป็นเรื่องที่เกิดยากมาก สิ่งสำคัญคือการที่เรายังย้ำเสมอว่าวันนี้เป็น Day 1 ไม่เคยเป็น Day 2 เพราะจะทำให้เราช้าลง ยิ่งเราเป็นผู้นำตลาดเรายิ่งต้องเร็วขึ้นดร.ชวพล กล่าวทิ้งท้าย

  อ่านเพิ่มเติม   รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine