ทรูมันนี่ปรับโฉมแอพพลิเคชั่น "ทรูมันนี่ วอลเล็ท" รุกหนักบริการ e-payment ชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินของทรูมันนี่ได้หลากหลายขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ Fin Life พร้อมวางเป้าขยายบริการให้กู้ยืมเงิน-ประกันภัยภายในปี 2561 หวังดึงลูกค้าเงินกู้นอกระบบใช้บริการ
ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหาร
บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ทรูมันนี่ ผู้ให้บริการ e-payment พร้อมเปิดตัวโฉมใหม่ของแอพพลิเคชั่น
ทรูมันนี่ วอลเล็ท (TrueMoney Wallet) ที่มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ในการชำระเงินมากขึ้น จากเดิมสามารถใช้โอนเงินระหว่างบุคคล จ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค เติมเงินมือถือ และชำระเงินผ่านร้านค้าออฟไลน์ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น ทรูคอฟฟี่
หลังจากนี้ผู้ใช้บริการจะสามารถใช้ทรูมันนี่ชำระเงินได้หลากหลายขึ้น เช่น โอนเงินให้บุคคลในต่างประเทศ ซื้อตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม สแกน QR code เพื่อชำระเงินในร้านค้าออฟไลน์อื่นๆ ที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับทรูมันนี่ในเร็วๆ นี้ ไปจนถึงการลงทุนในกองทุนรวมและกิจกรรมทางการเงินอื่นๆ
โดยทรูมันนี่เตรียมจัดโปรโมชันกระตุ้นตลาดผ่านเซเว่นอีเลฟเว่น สำหรับผู้ที่ชำระเงินที่เซเว่นอีเลฟเว่นด้วยทรูมันนี่ วอลเล็ทสามารถรับเงินคืน 5% เริ่มวันที่ 24 สิงหาคมนี้
ปุณณมาศกล่าวว่า ทรูมันนี่ต้องการเป็นผู้ให้บริการการชำระเงินออนไลน์แบบครบถ้วนทุกความต้องการ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Fin Life และต่อจากนี้จะขยายบริการทางการเงินให้ครบทั้ง 4 กลุ่มบริการที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือ 1.การชำระเงินออนไลน์ 2.การให้กู้ยืมเงิน 3.การลงทุน และ 4.ธุรกิจประกัน
โดยในปี 2561 บริษัทจะเปิดตัวบริการให้กู้ยืมเงินและธุรกิจประกัน สำหรับ
การให้กู้ยืมเงิน จะดำเนินการผ่านใบอนุญาตของแอสเซนด์ นาโนซึ่งมีการให้กู้ยืมแบบแฟคตอริ่งอยู่แล้ว แต่การให้กู้ยืมผ่านทรูมันนี่ วอลเล็ทจะเป็นลักษณะเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ทรูมันนี่ต้องการจะเป็นพันธมิตรกับธนาคารพาณิชย์มากกว่าแข่งขันกัน เนื่องจากทรูมันนี่จะสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า (Data Analytics) และจัดเป็นเครดิตเรตติ้งสำหรับให้ธนาคารใช้ในการพิจารณา
"ลูกค้าที่อยู่ห่างไกลหรือเข้าไม่ถึงระบบธนาคาร เขาอาจไม่เคยมีประวัติกับธนาคารมาก่อนทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ไม่ได้ แต่ถ้ากลุ่มนี้ใช้บริการกับทรูมันนี่ เราก็จะมีข้อมูลการใช้จ่ายเงินของเขาซึ่งสามารถวิเคราะห์ส่งให้ธนาคารพิจารณาได้ หรือถ้าธนาคารไม่พร้อมอนุมัติทรูมันนี่ก็สามารถให้กู้ยืมเงินเองได้ สิ่งนี้จะช่วยลดปัญหาการกู้เงินนอกระบบของคนไทยซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยสูงมากถึง 25-40% ต่อเดือน" ปุณณมาศกล่าว ทั้งนี้ ในรายละเอียดวงเงินหรืออัตราดอกเบี้ยของทรูมันนี่ยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับ ANT Financial ในเครือ Alibaba ซึ่งเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ
ด้าน
ธุรกิจประกัน ปุณณมาศมองว่าจะเป็นการต่อยอดการใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวัน ซึ่งสอดคล้องกับการชำระเงินออนไลน์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทรูมันนี่ ดังนั้นจะเป็นประกันภัยที่ซื้อเป็นรายครั้ง เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยการเดินทาง ประกันภัยการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น
เป้าหมายจากกลยุทธ์ปี 2560-61 ของ
ทรูมันนี่ คาดว่าจะผลักดันยอดผู้ใช้งานที่มีการเคลื่อนไหว (active user) ของไทย จากขณะนี้ 3 ล้านราย ขึ้นเป็น 4 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ และ 8 ล้านรายภายในสิ้นปี 2561 ยอดการทำธุรกรรมจากปัจจุบัน 200-300 บาท/ครั้ง/คน ความถี่เฉลี่ย 7 ครั้ง/เดือน/คน คาดว่าอาจจะลดลงในอนาคตเพราะจะมีผู้ใช้งานรายใหม่เข้ามามาก แต่จะพยายามดึงลูกค้าให้ใช้งานต่อเนื่องให้มากที่สุดเพื่อกลับมามีความถี่การใช้งานสูงอีกครั้ง
"ปีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมไร้เงินสด ปัจจุบันคนไทยยังใช้ระบบไร้เงินสดเพียง 20% และส่วนใหญ่เป็นการใช้บัตรเครดิต แต่เชื่อว่าต่อไปจะมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในสังคมเมือง เป็นไปได้ที่จะเห็นการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดเพิ่มเป็น 70-80%" ปุณณมาศกล่าวปิดท้าย
Forbes in Details
- จากการวิเคราะห์ของแอสเซนด์ กรุ๊ป คาดว่ามีผู้ใช้ e-wallet ทุกระบบรวมกันประมาณ 7-8 ล้านราย และหากวัดจากยอดการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นผ่าน Google Play และ iTunes แอพฯ ทรูมันนี่ วอลเล็ทและ Kbank เป็น 2 แอพฯที่มีการดาวน์โหลดสูงสุด
- ทรูมันนี่ วอลเล็ทล่าสุดได้รับเลือกเป็นช่องทางชำระเงินใน App Store, Apple Music และ iTunes จากปกติจะชำระได้ผ่านบัตรเครดิต/เดบิตเท่านั้น
- การทำธุรกรรมที่นิยมมากที่สุดในแอพฯทรูมันนี่ วอลเล็ทคือการโอนเงินระหว่างบุคคล ซึ่งถูกนำไปใช้ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยต่อไปบริษัทมองว่าสามารถนำไปใช้ในการจ่ายค่าบริการส่วนบุคคลอย่าง แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ได้ด้วย