‘ดีแทค’ ชูขุมทรัพย์คลื่น 2300 MHz กวาดลูกค้าไทยเพิ่ม - Forbes Thailand

‘ดีแทค’ ชูขุมทรัพย์คลื่น 2300 MHz กวาดลูกค้าไทยเพิ่ม

FORBES THAILAND / ADMIN
21 May 2018 | 10:18 AM
READ 9845

ดีแทค ยิ้มรับคลื่นใหม่ 2300 MHz จากทีโอที ทุ่มงบเฉียด 2 หมื่นล้านบาท  เร่งขยายสัญญาณทั่วประเทศ  คนกรุงเทพฯ ได้สิทธิใช้ก่อนใจกลางย่านธุรกิจดัง ก่อนครอบคลุมทั่วประเทศปี 62 “ซีอีโอดีแทค” ชี้ เปิดมิติใหม่สื่อสารยุคดิจิทัล หวังปูทางสู่ความพร้อม 5G ในอนาคต ไม่สนทวงตำแหน่งเบอร์ 2 ของตลาดคืน 

ทันทีที่ ดีแทค กดปุ่มสตาร์ทเปิดให้บริการคลื่น 2300 MHz ของ บมจ.ทีโอที ที่แลกมาด้วยสัญญาทางธุรกิจ (และสัญญาใจ) บนแบนด์วิธขนาด 60 MHz ภายใต้แบรนด์ dtac-T อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยก็ดูเหมือนจะ "คึกคัก" ขึ้นมาอีกนิด ด้วยหวังว่าจะเป็นความแปลกใหม่บนบริการสื่อสารความเร็วสูงของประเทศแบบ 4G LTE-TDD ท่ามกลางการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้  ประเด็นน่าจับตาหลังจากดีแทคได้คลื่นที่มีแบนด์วิธมหาศาล  คือ แผนธุรกิจเชิงรุกที่จะถูกงัดขึ้นมาต่อสู้ ช่วงชิงลูกค้าให้เดินกลับเข้าสู่อ้อมอกของดีแทคอีกครั้ง  แน่นอนว่า คลื่น 2300 นี้ คือ อาวุธลับสำคัญ  ที่ดีแทคอาจมองไปถึงการหวนคืนบัลลังก์เบอร์ 2  ของตลาดโทรคมไทยอีกครั้ง หลังเปิดทางให้ "ทรู" แซงหน้าขึ้นไประยะหนึ่งแล้ว ขณะที่เมื่อสิ้นไตรมาส 1 ของปี 2561 ดีแทคมีจำนวนลูกค้าทั้งหมด 21.8 ล้านราย  แม้ Lars Norling ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค บอกว่า ไม่สนใจเรื่องตำแหน่งเบอร์ 1 เบอร์ 2 ในตลาดไทยอีกแล้ว ขอแข่งด้วยคุณภาพคลื่น และบริการที่โดนใจจะดีกว่า ..ก็ตาม 
Lars Norling ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค
เม็ดเงินลงทุนราวๆ 1.5-1.8 หมื่นล้านบาท  คือ เงินทุนขยายบริการบนคลื่นความถี่ 2100 และ 2300 MHz ของดีแทคในปีนี้  ให้ครอบคลุมได้ 37 จังหวัด หรือมากกว่า 25,000 สถานี  “ดีแทค จะเริ่มเปิดให้บริการคลื่น 2300 MHz ได้ภายในไตรมาส 2 โดยจะเริ่มจากกรุงเทพฯ ชั้นใน 10 พื้นที่ก่อน ก่อนที่จะเปิดให้บริการ 37 จังหวัดภายในสิ้นปีนี้ และครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2562” Norling ระบุ คลื่นใหม่ปูทางสู่ 5G - ดัน GDP ประเทศโต Lars Norling ที่กำลังจะโบกมือลา ดีแทค ในวันที่ 1 กันยายน 2561 นี้ บอกว่า ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้งานข้อมูลในประเทศไทยอัตราเฉลี่ยสูงมาก หรือมากกว่า 8GB ต่อผู้ใช้งานต่อเดือน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้น และการที่มีคลื่นความถี่บนเทคโนโลยีใหม่มาให้บริการ จะช่วยตอบโจทย์การใช้งานได้ดี และครอบคลุมกว่าเดิม  "ประโยชน์ของการใช้งานดาต้าผ่านเครือข่ายที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ยังส่งผลให้การทำงาน การศึกษา การประกอบธุรกิจสามารถทำประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ สร้างเม็ดเงิน รวมถึงดัน GDP ในระบบเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น" สำหรับ เทคโนโลยี TDD-LTE มีการใช้งานแล้ว 57 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะใน จีนที่ให้บริการ TDD-LTE ทั่วประเทศ ซึ่งจากจำนวนประชากรในจีนที่มีปริมาณมหาศาล ชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีนี้เหมาะมากต่อการใช้งานเพื่อรองรับการเชื่อมต่อดาต้าจำนวนมาก ในประเทศไทย ปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนจำนวนมากกว่า 70% ที่รองรับ 4G ซึ่งสามารถใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300 MHz TDD ได้เช่นกัน ปูทางไปสู่บริการ "5G" ที่ประเทศไทยมีความพร้อมได้ในอนาคต  ซีอีโอ ดีแทค บอกด้วยว่า ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ครั้งแรกของไทยที่นำเทคโนโลยีที่เรียกว่า TDD-LTE มาให้บริการ แต่ยังเป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยคลื่นความถี่ 2300 MHz และเทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD) จะสามารถจัดการแบนด์วิธสำหรับการอัพลิงค์ และดาวน์ลิงค์บนแบนด์วิธเดียวได้พร้อมกันตลอดเวลา โดยเฉพาะความถี่ที่กว้างถึง 60 MHz ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะถูกนำมาใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น TDD และ Massive MIMO คือ เทคโนโลยีที่ปฏิวัติเพิ่มการรับและส่งดาต้าในแต่ละเสาสัญญาณได้มากกว่าเดิม นับเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ก้าวสู่ “5G-ready” โดยคลื่นใหม่ที่นำมาให้บริการจะมีความจุที่มากที่สุด และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคนี้ การที่ ดีแทค เลือกนำเทคโนโลยี TDD-LTE มาใช้งานเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพราะมองว่ารูปแบบของเทคโนโลยีดังกล่าวเหมาะต่อพฤติกรรมของคนไทย ที่เน้นการรับชมคอนเทนต์เป็นหลัก เนื่องจากเมื่อให้บริการด้วยเทคโนโลยี TDD-LTE ผู้ให้บริการสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับส่งดาต้าให้เหมาะต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ ส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องแบ่งเป็นคลื่นสูงคลื่นต่ำ เหมือนเทคโนโลยี FDD-LTE ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน Norling บอกด้วยว่า ครั้งนี้ยังเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ประเทศไทย  เป็นการพลิกโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอีกครั้ง เพื่อหนุนไทยสู่ผู้นำด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

คนกรุงเทพฯใช้ก่อน ก่อนขยายครบทั่วประเทศปี 2562

สำหรับ คนกรุงเทพฯ ที่จะได้ใช้คลื่น 2300 นี้ได้ก่อน จะอยู่ในใจกลางเมือง เช่น สาทร พระราม 3 สีลม ราชประสงค์ สุขุมวิท และ เจริญกรุง ทั้งนี้ ดีแทค ได้รายงานงบการเงินไตรมาส 1 ของปี 2561 โดยไตรมาส 1 ดีแทค กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าในไตรมาส 1 ปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 229 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 19,060 ล้านบาท ขณะที่ ลูกค้าดีแทคไตรมาส 1 อยู่ที่ 21.812 ล้านเลขหมาย ลดลง 10%  เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว ซึ่งดีแทคมีลูกค้า 24.310 ล้านเลขหมาย สำหรับความร่วมมือระหว่างดีแทค และทีโอที มีระยะเวลาถึงปี  2568 ทีโอที จะเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมจาก เทเลแอสเสท  ซึ่งเป็นบริษัทลูกของดีแทค ไตรเน็ต เพื่อนำมาสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับให้บริการไร้สายความเร็วสูง (Broadband Wireless Access, BWA) ทั้งบริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) ผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่  ความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง (Capacity) ทีโอที ได้นำมาให้บริการตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของลูกค้า และตอบสนองนโยบายของรัฐ ขณะที่ ความจุโครงข่าย (Capacity) อีกส่วนหนึ่ง จะนำมาให้บริการแก่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ในรูปแบบของการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Roaming) ขณะที่ ทีโอที จะมีรายได้จากการให้บริการโรมมิ่งของดีแทคปีละประมาณ 4,510 ล้านบาท เรื่อง: เอกรัตน์ สาธุธรรม