'อ่อนประสบการณ์ ทักษะสื่อสารแย่' หลายบริษัทในต่างประเทศลังเลและหลีกเลี่ยงจ้างพนักงาน 'Gen Z' - Forbes Thailand

'อ่อนประสบการณ์ ทักษะสื่อสารแย่' หลายบริษัทในต่างประเทศลังเลและหลีกเลี่ยงจ้างพนักงาน 'Gen Z'

ผลการสำรวจในต่างประเทศล่าสุดได้รายงานว่า หลายบริษัทเกิดความไม่พอใจกับพฤติกรรมการทำงานร่วมกับพนักงานใหม่ที่ยังอ่อนประสบการณ์และมีทักษะการสื่อสารแย่อย่างกลุ่มคน Gen Z จึงเป็นผลให้เกิดความลังเลและอาจหลีกเลี่ยงการจ้างงานแก่เหล่าบัณฑิตจบใหม่ในอนาคตอีกด้วย


​    Intelligent แพลตฟอร์มที่ปรึกษาด้านการศึกษาและอาชีพ ได้ออกมาเผยแพร่ผลการรายงานล่าสุดโดยอ้างอิงจากการวิจัยสำรวจเหล่าผู้จัดการการจ้างงานเกือบ 1,000 คน โดยพบว่า 1 ใน 6 นายจ้าง ต่างเกิดความลังเลและไม่ค่อยเต็มใจที่จะจ้างพนักงาน Gen Z อันเป็นผลมาจากชื่อเสียงทางด้านพฤติกรรมของกลุ่มคนดังกล่าวซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เกิดในช่วงระหว่างปี 1997-2010 นั้น ค่อนข้างเอาแต่ใจ มีอารมณ์โกรธ ฉุนเฉียวง่าย อีกทั้งยังขาดความอดทนหรือมีจรรยาบรรณในการทำงานที่เข้มแข็ง มีปัญหาด้านการสื่อสาร และยังไม่สามารถรับมือกับข้อเสนอแนะต่างๆ ได้ดีอีกด้วย 

    Holly Schroth อาจารย์อาวุโสของ Haas School of Business ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้อธิบายให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของกลุ่ม Gen Z ว่า พวกเขามุ่งเน้นไปที่กิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในวิทยาลัย แทนที่จะได้รับประสบการณ์การทำงานจริงๆ จึงนำไปสู่ 'ความคาดหวังที่ไม่สมจริงซึ่งผิดเพี้ยนไป' เกี่ยวกับสถานที่ทำงานและวิธีการจัดการกับเจ้านายของพวกเขา

    “กลุ่มคน Gen Z ไม่มีความรู้ทางทักษะพื้นฐานสำหรับการติดต่อสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับกลุ่มลูกค้า เพื่อนร่วมงาน ซึ่งรวมไปถึงมารยาทที่ดีในที่ทำงาน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลที่แต่ละบริษัทจะเลือกรับพนักงานใหม่ของกลุ่มคน Gen ดังกล่าวตามความเหมาะสมและต้องให้การฝึกอบรมที่เพียงพอ รวมทั้งผู้ที่เป็นเจ้านายยังต้องทำหน้าที่เป็นโค้ชที่ดีเพื่อคอยดูแลด้วย” Schroth บอกเล่าเรื่องราวผ่านทางอีเมลแก่สำนักข่าว Euronews 


เหตุใดหลายบริษัทจึงตัดสินใจเลิกจ้างพนักงาน Gen Z ?

    บริษัทที่ร่วมทำการสำรวจ 6 ใน 10 แห่ง เผยว่า ได้ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานที่เป็นบัณฑิตจบใหม่ทั้งๆ ที่เพิ่งรับเข้ามาทำงานในช่วงต้นปีนี้ โดยให้เหตุผลส่วนใหญ่ว่า พวกเขาขาดแรงจูงใจในการทำงาน ขาดความเป็นมืออาชีพ และยังมีทักษะในการสื่อสารที่ไม่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น

    "เหล่าบรรดานักศึกษาจบใหม่อาจจะประสบปัญหาในการเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก เนื่องจากสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิจากสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยมาตลอดระหว่างการเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และแม้ว่าจะมีความรู้ที่ดีทางด้านทฤษฎีจากการศึกษา แต่พวกเขาก็มักจะขาดประสบการณ์จริงในเชิงปฏิบัติ รวมถึงทักษะที่ดีทางด้านอารมณ์ในสภาพแวดล้อมของการทำงาน" Huy Nguyen หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการศึกษาและการพัฒนาอาชีพของ Intelligent กล่าวในรายงาน

    ตัวแทนของบริษัทในการสำรวจยังบอกอีกด้วยว่า พนักงาน Gen Z บางคนประสบปัญหาในการบริหารจัดการหน้าที่ของตนเอง และมักจะมาสาย แต่งกายไม่เรียบร้อยหรือมีการพูดสื่อสารที่ไม่เหมาะสม

    รายงานอีกฉบับของเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งจัดทำโดย ResumeTemplates ซึ่งรวมคำตอบของกลุ่มผู้หางานรุ่นใหม่เกือบ 1,500 คน ชี้ให้เห็นว่าร้อยละ 70 ของกลุ่มคน Gen Z ยอมรับว่าตนเองได้ขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองในกระบวนการหางาน ขณะที่อีกร้อยละ 25 ขาดความไม่มั่นใจจึงต้องพาพ่อแม่ไปนั่งรอระหว่างการสัมภาษณ์ และอีกหลายๆ คนก็ยังต้องพึ่งพาให้พ่อแม่ช่วยเขียนเรซูเม่หรือส่งใบสมัครงานให้แก่พวกเขา

เหตุผลที่บริษัทส่วนใหญ่เลิกจ้างพนักงาน Gen Z



จะหางานทำในฐานะบัณฑิตใหม่ได้อย่างไร?

    เหล่าบรรดาบริษัทต่างๆ หรือนายจ้างต่างเน้นย้ำว่าคุณสมบัติหลักบางประการที่พวกเขาต้องการมองหาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z ก็คือ เรื่องของความคิดริเริ่มและทัศนคติเชิงบวก "แม้ปัจจุบันเหล่านายจ้างต่างลังเลที่จะจ้างงานกลุ่มคน Gen Z โดยเป็นผลมาจากอัตราการเลิกจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นและความท้าทายในการรับคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในตลาดแรงงาน แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังคงมีสัดส่วนมากกว่า 25% ของพนักงานในองค์กรทั้งหมด ซึ่งผลที่ตามมาคือ บริษัทต่างๆ อาจจำเป็นต้องใช้เงินและเวลาเพิ่มมากขึ้นในการฝึกอบรมเพื่อเพาะบ่มกลุ่ม Gen Z ให้เติบโตได้เป็นอย่างดีต่อไป”  Holly Schroth อาจารย์อาวุโส กล่าวทิ้งท้าย

คุณสมบัติในการทำงานของ Gen Z ที่บริษัทต่างๆ กำลังมองหา


แปลและเรียบเรียงจากบทความ : Companies are firing Gen Z workers soon after hiring them. What's behind their job market struggles?




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หน่วยวิจัยของ ‘สลิงชอท กรุ๊ป’ ชี้คนเจนใหม่ 48% ชอบการฟีดแบครายสัปดาห์ ให้ความสำคัญกับ ‘ทำไมจึงต้องทำ’ (why)

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine