New Normal หลังโควิด หลายอาชีพจ่อสูญพันธุ์ - Forbes Thailand

New Normal หลังโควิด หลายอาชีพจ่อสูญพันธุ์

วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากทำให้ธุรกิจหยุดชะงักไปทั่วโลก ควบคุมการเดินทางตรึงผู้คนให้อยู่กับที่ด้วยมาตรการล็อคดาวน์ของหลายเมืองใหญ่ และ New Normal จากผลกระทบโควิด-19 อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้หลายอาชีพสูญพันธุ์ได้

เป็นเวลายาวนานกว่า 6 เดือนแล้วที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่การใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจของผู้คนในหลายประเทศ จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 5.6 ล้านคนทั่วโลกและเสียชีวิตมากกว่า 3.5 แสนคน (ข้อมูล 27 .. 2563) สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายตามมาและทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า New Normal ความปกติรูปแบบใหม่จากแรงกดดันทั้งผลกระทบการแพร่ระบาด COVID-19 และการปรับตัวของเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนมากขึ้น

หลายคนประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจ การใช้แรงงาน การจ้างงาน และการใช้เทคโนโลยีที่มีโอกาสเข้ามาแทนคนเร็วขึ้น รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข นักวิชาการชื่อดัง อดีตผู้บริหารสถาบันศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้กับหลายองค์กรขนาดใหญ่ กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่รวมถึงประเทศไทย สิ่งที่เราเรียกว่า New Normal ความปกติรูปแบบใหม่กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ต่างวิกฤตครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมา เพราะเป็นเรื่องโรคระบาดที่รุนแรงสามารถหยุดกิจกรรมของคนในทุกระดับได้ ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนก็ตามคุณมีเงินก็เดินทางไม่ได้ ทานข้าวนอกบ้านไม่ได้ ต้องอยู่แต่ในบ้านทำงานในบ้าน เศรษฐกิจหยุด การผลิตหยุดชะงัก การใช้แรงงานคนไม่ต้องพูดถึง มันหยุดทั้งหมด แม้แต่การใช้โรบอตก็ยังลำบากเป็นภาพคร่าวๆ ที่เกิดขึ้น โดย รศ.ดร.ศิริยุพา บอกว่าสาเหตุสำคัญอีกประการคือแหล่งสินค้าวัตถุดิบจากจีนหยุดชะงัก จีนเป็นประเทศที่ซัพพลายสินค้าให้หลายประเทศมาก เมื่อจีนส่งของมาให้ไม่ได้ทุกอย่างจึงกระทบกันไปหมด

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข

สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือความเสียหายทางเศรษฐกิจ การนำเข้าส่งออกหดหาย ผู้คนเกิดความกลัว เจ้าของกิจการก็กลัวคนงานเป็นโรค เศรษฐกิจแย่ลงแน่นอน ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจจะตามมา ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนจะมีมากขึ้น คนมีการศึกษาและคนการศึกษาน้อยจะเห็นความแตกต่างชัด และคนใช้ดิจิทัลไอทีเป็นกับคนที่ใช้ได้น้อยจะได้เปรียบเสียเปรียบต่างกันมากรศ.ดร.ศิริยุพา อธิบายว่าเมื่อรัฐบาลกระจายความช่วยเหลือผ่านช่องทางที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต บทเรียนนี้ทำให้คนมองโลกในยุคดิจิทัล 4.0 ชัดขึ้น และกำลังจะก้าวสู่เทคโนโลยี 5G ยิ่งทำให้ความจำเป็นในการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นคนไม่รู้อินเทอร์เน็ตอยู่ไม่ได้ การหัดขายของและรับเงินทางออนไลน์กลายเป็นสิ่งจำเป็น

 

เศรษฐกิจเปลี่ยน อาชีพเปลี่ยน

รศ.ดร.ศิริยุพา ประเมินว่าหลายอาชีพจะเปลี่ยนไปแน่นอน โดยมีอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์เป็นตัวแปรสำคัญ โดยอาชีพที่เคยทำรายได้ดีก่อนหน้านี้ ทั้งการท่องเที่ยวและการเดินทางได้รับผลกระทบหนัก ไม่เฉพาะช่วงนี้ แต่หลังจากการแพร่ระบาดผ่านพ้นไปก็ใช่ว่าธุรกิจนี้จะสามารถกลับมาได้ทันที เนื่องจากคนยังต้องระวัง เพราะการแพร่ระบาดคงไม่สิ้นสุดลงภายในเร็ววัน และแม้บางประเทศสถานการณ์คลี่คลายแต่อีกหลายประเทศยังคงวิกฤต ย่อมทำให้การเดินทางยังคงชะงักต่อเนื่องไปอีกนานพอสมคววร

งานที่จะสูญพันธุ์หลังจากนี้ เช่น งานโรงแรม ร้านอาหาร ท่องเที่ยว เพราะคนไม่กล้าไปทานอาหารตามร้านต่างๆ พนักงานขายในห้างสรรพสินค้าก็เช่นเดียวกัน เมื่อพฤติกรรมใหม่คนซื้อของออนไลน์มากขึ้น ด้านอุตสาหกรรมก็ไม่ต่างกัน หากมีคนงานป่วยด้วยโควิดต้องปิดโรงงาน อนาคตจึงอาจเลือกใช้หุ่นยนต์มาทำแทนคนเพื่อเลี่ยงปัญหาเป็นภาพเลวร้ายคร่าวๆ ที่ รศ.ดร.ศิริยุพา สรุปจากปัจจัยผลกระทบที่เกิดขึ้นในรอบ 6 เดือนแห่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชียแปซิฟิก

เมื่อมีผู้เสียประโยชน์และเสียหายจากผลกระทบโรคระบาด ก็ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รศ.ดร.ศิริยุพาประเมินว่าบางธุรกิจมีโอกาสเติบโตในช่วงวิกฤตโรคระบาด เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ส่งของ เดลิเวอรี่ เพราะผู้คนยังคงมีความต้องการใช้สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน แม้ต้องเก็บตัวอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านก็ตาม ทำให้การสั่งสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก การจับจ่ายใช้สอยด้านนี้ยังดีต่อเนื่อง และแน่นอนผู้ที่ให้บริการส่งสินค้าเหล่านี้ย่อมเติบโตตามไปด้วย

ซูเปอร์มาร์เก็ตก็ยังไปได้ มีคนต้องการและมีงานรองรับ แต่ห้างใหญ่คงลำบากเพราะถูกการตลาดออนไลน์แย่งชิงลูกค้าไป แต่ก็มีประเด็นน่าสนใจว่าสินค้าแบรนด์หรูยอดไม่ตกทั้ง Louis Vuitton, Gucci และอีกหลายแบรนด์ที่เชื่อว่าจะไม่กระทบ เพราะฐานลูกค้าคนรวยยังคงภาคภูมิใจกับแบรนด์สินค้าหรูเหล่านี้ แต่คนกลุ่มนี้ก็มีเพียง 10% ของประเทศ

ส่วนพนักงานขายธรรมดาๆ อาจจะหางานยากเพราะคนหันไปช็อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับคนไทยและการจราจรออนไลน์พบว่า คนใช้เวลาติดตามข่าวโควิดและอื่นๆ เพิ่ม 46% ช็อปปิ้งออนไลน์เพิ่ม 42% ใช้เทเลคอมเพิ่ม 23% ตัวเลขเดียวกันนี้ปรากฏใกล้เคียงกันในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แอปพลิเคชันไลน์ ช่วงวิฤตนี้คนใช้ไลน์กันมากขึ้น นอกเหนือจากการพูดคุยตามปกติ ยังมีการใช้เพื่อประชุมสั่งงานผ่านไลน์เพิ่มขึ้น 264% การพูดคุยทางไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือแบบวิดีโอเพิ่มขึ้น 270% และการโทรแบบวอยซ์คอลปกติเพิ่มขึ้น 236% นอกจากนี้ยอดการใช้ไลน์ทีวีก็เพิ่ม 24%

สิ่งเหล่านี้มันบอกว่าชีวิตเริ่มเปลี่ยนเป็นดิจิทัลแล้วรศ.ดร.ศิริยุพา ย้ำ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจมีเดีย สื่อ โลจิสติกส์ อาหาร ขายของเครื่องใช้ทางออนไลน์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ยา และพวกจัดส่งของเดลิเวอรี่ รวมถึงธุรกิจประกันซึ่งขายดี ธุรกิจเหล่านี้จะยังคงอยู่และไปได้ดี แต่ธุรกิจที่แย่ คือการผลิต อุตสาหกรรมหนัก และน้ำมัน เนื่องจากคนใช้น้อยลง โดยคาดว่าหลายบริษัทยังคงนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน หลังโควิดก็ยังอาจไม่ต้องมาออฟฟิศ ต่อไปบริษัทให้เช่าอาคารสำนักงานราคาแพงอาจลดลง

 

อุตฯการบิน-ท่องเที่ยวหนักสุด

นอกจากนี้มีหลายธุรกิจที่กำลังลำบากมาก เช่น อุตสาหกรรมการบิน โรงแรม ภัตตาคารที่เน้นรับนักท่องเที่ยว และธนาคาร เนื่องจากคนทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ยิ่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีโอกาสมาทำงานแทนนักบัญชีได้ด้วย นักบัญชีอาจถูกแย่งงาน คนมีโอกาสจะตกงานมากขึ้น เป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลที่จะต้องวางแผนแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้สถานการณ์ว่างงาน 6.5 ล้านคน รัฐจะอุ้มอย่างไร?

การบริหารงานของรัฐบาลน่าห่วงการเป็น digital government อาจต้องเต็มตัวกว่านี้ ข้าราชการเชยๆ แก่ๆ คนเหล่านี้จะไปอยู่ไหนเมื่อเราต้องปรับมาเป็น digital government หลังจากนี้เราคงได้เห็นรัฐบาลยกเครื่องสู่ดิจิทัล แต่ตอนนี้ยังต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอาเงินช่วยคนได้รับผลกระทบโควิดก่อนนักวิชาการด้านการบริหารบุคคลย้ำ และว่า New Normal จะเกิดขึ้นหลายส่วน ทั้งระดับองค์กรที่อาจต้องปรับเป็นองค์กรเสมือน (Virtual ) และจะเกิด new business model ธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา มีการทำงานที่เป็นอัตโนมัติมากขึ้น มีดีลใหม่เกิดขึ้น การนำเสนอแบบใหม่ แม้กระทั่งบริการด้านสุขภาพก็เป็นออโต้ช็อปปิ้งเช่นกัน รศ.ดร.ศิริยุพา บอกว่า องค์กรต่างๆ จากนี้ไปจะเน้น lean ลดต้นทุนและดำเนินธุรกิจแบบกระชับรวดเร็ว (Agile) มากขึ้น

ส่วนพนักงานต้องมีความสามารถที่หลากหลาย ต้องเพิ่มความสามารถการใช้ไอซีที ทั้งด้านอินเตอร์ไอที การสื่อสารและเทคโนโลยี พนักงานออฟฟิศจำเป็นต้องมีทักษะที่หลากหลายด้านไอที ดังนั้นหลังจากนี้ไปรัฐบาลต้องวางนโยบายการศึกษาโดยจัดให้มีการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก สร้างคนให้มีความรู้และคุ้นเคยกับเทคโนโลยี เพื่อพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต 

ขณะที่องค์กรต่างๆ จะหันมาเน้นเรื่องการประหยัดมากขึ้น ต่อจากนี้ไปอาจไม่มีการจัดงบเดินทาง ไม่มีงบดูงาน โดยเฉพาะหน่วยราชการ เพราะสามารถดูงานแบบเสมือนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ 

นอกจากนี้ ปัญหาซัพพลายเชนจะเป็นเหตุผลที่จำเป็นมากขึ้น การดูแหล่งผลิตสินค้าอาจปรับตัวให้มีความคล่องตัวและเหมาะสมมากขึ้น หากดูจากผลต่อเนื่องกรณีที่จีนปิดประเทศในช่วงโควิด จะทำให้หลายประเทศหันมาทบทวนการผลิตในบ้านตัวเองมากขึ้น

   
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine