ประธาน ทีดีอาร์ไอ คาดเศรษฐกิจไทยทรุดยาว 3 ปี เตรียมเจอวิกฤตหลังโรคระบาดโควิด-19 ทั้งกีดกันการค้า รัฐหมดเงินลงทุน เมกะโปรเจกต์ส่อเลื่อนยาว แนะปรับใช้วิถีชีวิตใหม่ ช่วยลดต้นทุนประเทศ
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจหลังวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ แบ่งได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรก คือ การเผชิญภาวะไม่ปกติ (Current Abnormal) ที่เกิดจากการระบาดของโรค ซึ่งโควิด-19 ถือเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดนับจากการระบาดของไข้หวัดสเปนเมื่อปี 1918 และมีคนเสียชีวิตหลายสิบล้านคน ช่วงที่สอง คือ Transition Period เป็นช่วงของการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง และช่วงที่ 3 คือ New Normal หรือภาวะปกติแบบใหม่ที่คนทั่วโลกต้องเผชิญ คาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี กว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนปี 2019 “ขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย มากกว่าปี 2008 หรือแฮมเบอร์เกอร์ไครซิสที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่จะเป็น Great Depression หรือไม่ต้องรอดู” สมเกียรติ กล่าวว่า ทุกครั้งที่เศรษฐกิจตกต่ำ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การกีดกันทางการค้า ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยสหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่าอยู่เบื้องหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 สภาสูงของสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายที่จะดำเนินการกับจีนในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งการผ่านกฎหมายต่างๆ ที่จำกัดการดำเนินธุรกิจของจีนในสหรัฐอเมริกา ถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแย่ลงมาก และอาจจะเกิดสงครามการค้ารอบใหม่ที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของคนอเมริกันที่มีต่อจีน มีความรู้สึกที่ดีต่อคนจีนน้อยลง ซึ่งเป็นโอกาสให้นโยบายกีดกันการค้าได้รับการสนับสนุน ซึ่งกรณีนี้ผู้ประกอบการไทยต้องระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างสองประเทศมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ จากการที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รัฐบาลมีเงินลดลงในอนาคต เพราะฉะนั้นแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐจะลดลง โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์จะเกิดยาก ครัวเรือนมีรายได้ลดลง ทั้งนี้รัฐควรเก็บภาษีบางรูปแบบเพิ่มขึ้น เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อหารายได้เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ประธานทีดีอาร์ไอ มองว่า โควิด-19 มีข้อดีที่ทำให้เกิดการปรับตัวเพื่อทำสิ่งใหม่ๆ เช่น การทำงานที่บ้าน (Work from Home) ซึ่งทีดีอาร์ไอได้ทดลองให้พนักงานจำนวน 136 คน ทำงานที่บ้านในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าช่วยลดต้นทุนของสำนักงานได้ 2.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าใช้จ่าย 16,000 บาทต่อพนักงาน 1 คน “มองว่านี่คือโอกาสใหม่ ที่องค์กรสามารถลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลงไปได้ Work from Home ช่วยในด้านลดต้นทุนได้อย่างน้อย 20% ในด้านค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค อีก 80% ที่ได้ ทั้งค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถหาความรู้ หารายได้เพิ่มเติม ซึ่งก็เป็นความท้าทายใหม่ขององค์กรที่จะหาวิธีการให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” สมเกียรติกล่าว สำหรับธุรกิจบริการที่จะได้ประโยชน์ คือบริการ 5G ขณะที่คำแนะนำสำหรับภาคธุรกิจในขณะนี้ ต้องวางแผน 2 แบบ คือ แผน A การอยู่กับโควิด-19 ไปอีก 1 – 1 ปีครึ่ง และ แผน B สำหรับการรับมือเศรษฐกิจตกต่ำในช่วง 3 ปีข้างหน้า คลิกอ่านเพิ่มเติม: สภาพัฒน์ คาดจีดีพีปีนี้ติดลบ 5-6%ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine