‘บริษัทช่วยลาออก’ โตแรงในญี่ปุ่น สะท้อนสังคมการทำงานสุด toxic ที่อันตรายถึงชีวิต - Forbes Thailand

‘บริษัทช่วยลาออก’ โตแรงในญี่ปุ่น สะท้อนสังคมการทำงานสุด toxic ที่อันตรายถึงชีวิต

ทุกคนย่อมรู้จักบริษัทช่วยหางาน ที่มีบริการทั้งหาคนให้นายจ้างที่ขาดพนักงาน และหาตำแหน่งหน้าที่ให้คนที่ยังว่างงานอยู่ แต่ในแดนอาทิตย์อุทัยกลับมีบริษัทซึ่งให้บริการตรงกันข้าม นั่นคือช่วยให้พนักงานลาออก และกิจการนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนปัญหาใหญ่ในแวดวงการทำงานญี่ปุ่น ณ ปัจจุบัน


    ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์เผยว่า บริษัทช่วยลาออก มีมาตั้งแต่ก่อนการมาของโควิด-19 แล้ว แต่กิจการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลังโรคระบาด ส่วนหนึ่งมาจากการที่ต้องทำงานจากบ้านหรือ Work from Home ทำให้พนักงานออฟฟิศชาวญี่ปุ่นได้มีโอกาสทบทวนอาชีพการงานของตัวเอง ตลอดจนการที่บริษัทช่วยลาออกไปปรากฎบนหน้าสื่อต่างๆ จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายกว่าเก่า

    ผลสำรวจจาก En Japan บริษัทด้านทรัพยากรมนุษย์รายใหญ่ของญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมาเผยว่ากว่า 70% ของผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามรับรู้ถึงการมีอยู่ของบริษัทช่วยลาออก นอกจากนี้ แม้ยังไม่มีการเก็บข้อมูลว่ามีจำนวนบริษัทช่วยลาออกเพิ่มขึ้นมากแค่ไหนในญี่ปุ่น ทว่าผู้ที่ทำงานในธุรกิจดังกล่าวยืนยันได้ว่าความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นมหาศาลตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีให้หลังนี้


เมื่อการลาออกไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องมีบริการช่วยเหลือ

    Momuri คือหนึ่งในบริษัทช่วยลาออกตั้งอยู่ในย่านมินาโตะของเมืองโตเกียว เริ่มดำเนินงานครั้งแรกในปี 2022 เพื่อให้บริการลูกค้าผู้ต้องการความช่วยเหลือ โดย Momuri แปลว่า “ฉันทำต่อไปไม่ไหวแล้ว” สำหรับค่าใช้จ่ายในการช่วยลาออกจากงานประจำอยู่ที่ 22,000 เยน และงานพาร์ทไทม์อยู่ที่ 12,000 เยน บริการครอบคลุมตั้งแต่ช่วยวางแผนการลาออก เจรจากับบริษัท และช่วยคุยกับทนายในกรณีที่จำเป็น

    ถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แค่ยื่นใบลาออกเองมิใช่หรือ เหตุใดจึงต้องถึงขั้นใช้บริการบริษัทช่วยลาออก ประการแรกคือญี่ปุ่นมีค่านิยมไม่เปลี่ยนงาน หลายคนทำงานที่เดียวไปจนตลอดชีวิต การลาออกจึงเป็นเรื่องน่าลำบากใจ ประการต่อมาคงต้องบอกข้อเท็จจริงว่าบริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่น toxic กว่าที่คิด เช่น มีการใช้งานเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด การล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว ไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลา ฯลฯ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีคำเรียกว่า Black Company

    ไม่เพียงแค่งานเท่านั้น คนเองก็มีส่วนเติมความ toxic ให้กับที่ทำงานด้วยเช่นกัน Black Company หลายแห่งมีทั้งการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง การคุกคามทางเพศพนักงาน ไปจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ซ้ำร้ายเมื่อจะลาออกยังถูกบริษัทขัดขวาง เช่น ปฏิเสธคำขอ และต่อรองเพื่อไม่จ่ายเงินตามกฎหมาย

    “บางคนมาพึ่งเราหลังถูกฉีกจดหมายลาออกถึงสามครั้ง และนายจ้างไม่ยอมให้เขาลาออก แม้จะลงไปคุกเข่าก้มลงอ้อนวอนแล้วก็ตาม” Shiori Kawamata ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ Momuri เผย “บางครั้งเราก็ได้รับสายจากคนที่ร้องไห้ฟูมฟาย สอบถามว่าสามารถลาออกด้วยเหตุผลต่างๆ นานาได้หรือไม่ เราคอยบอกพวกเขาว่าได้สิ การลาออกจากงานเป็นสิทธิแรงงานอย่างหนึ่งนะคะ”

    Kawamata ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า พนักงานบางคนเล่าว่าถูกหัวหน้าข่มขู่หากพยายามจะลาออก มีการไปกดกริ่งที่อะพาร์ตเมนต์ซ้ำไปซ้ำมา เชิญให้กลับก็ไม่กลับ มีพนักงานคนหนึ่งถูกหัวหน้าบังคับพาไปที่วัดในเกียวโตเพื่อทำพิธี เพราะหัวหน้ามองว่าเขาโดนคำสาปทำให้ต้องการลาออก และอีกหลายคนที่ถูกหัวหน้าเก่าส่งข้อความคุกคามหลังออกจากบริษัทไปแล้วก็มี

    Kawamata เผยว่าผู้ที่มาใช้บริการช่วยลาออกนั้นมักเป็นพนักงานในบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยสถานการณ์ของผู้ที่มาจากธุรกิจอาหารนั้นย่ำแย่ที่สุด รองลงมาคือธุรกิจด้านสุขภาพและสวัสดิการ


ทำงานหนักจนตาย ภัยร้ายทำลายแรงงานญี่ปุ่น

    หากมองในภาพใหญ่ Black Company นับเป็นปัญหาสำคัญในสังคมญี่ปุ่น ในปี 2017 สำนักงานแรงงานทั่วประเทศได้เริ่มจัดทำบัญชีดำรวบรวมรายชื่อ Black Company ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทปรากฎชื่อรวมกว่า 370 บริษัทแล้ว

    ไม่เพียงเท่านั้น ญี่ปุ่นยังมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Karoshi หรือ “เสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป” ซึ่งนอกจากส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายแล้วยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นได้เริ่มจัดทำรายงานว่าด้วยประเด็น Karoshi เป็นประจำทุกปีหลังออกมาตรการทางกฎหมายป้องกันการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปครั้งแรกในปี 2014

    สำหรับรายงานประจำปี 2022 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากผู้เข้าร่วมทำแบบสำรวจในปี 2022 มีจำนวน 82.2% ที่เชื่อว่าตัวเองกำลังเผชิญกับความเครียดและวิตกกังวลอันเป็นผลมาจากการทำงาน กว่า 90% ของผู้ทำแบบสำรวจเผยว่าต้องการนอนหลับพักผ่อน 6 ชั่วโมงต่อคืน แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งของ 90% เท่านั้นที่ได้นอนหลับเพียงพอตามต้องการ โดย 39.8% ของผู้ทำแบบสำรวจทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอยู่ในอุตสาหกรรมศิลปะและบันเทิง

    Hisakazu Kato ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเมจิในโตเกียว กล่าวว่าญี่ปุ่นมีกฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองแรงงานและมั่นใจได้ว่าพวกเขามีอิสรภาพที่จะลาออก แต่ในทางปฏิบัตินั้น “บางครั้งบรรยากาศที่ทำงานก็ทำให้การเอ่ยขอลาออกเป็นเรื่องยาก”

    รายงานโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นและความคิดเห็นจาก Kato สอดคล้องกับข้อมูลของ Kawamata แห่งบริษัทช่วยลาออก Momuri ดังเช่นที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

    Kawamata อธิบายว่า “เราไม่ได้ต้องการสนับสนุนให้ผู้คนมีพฤติกรรมชอบลาออกค่ะ บริการช่วยลาออกอย่างเราไม่ได้มีอยู่เพื่อให้ทุกคนสามารถลาออกที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจ เราอยากให้ทุกคนใช้บริการเราเป็นตัวเลือกสุดท้ายเพื่อปกป้องตัวเองและก้าวต่อไปข้างหน้าให้ได้”

    เธอยังชี้ว่าจำนวนคำขอลาออกอาจกลายเป็นประเด็นร้อน แต่เมื่อมีผู้คนหันมาสนใจมากขึ้น ก็อาจเป็นการกดดันให้บริษัทต่างๆ หันมาพิจารณาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน พัฒนาความสัมพันธ์กับพนักงาน และใส่ใจสิทธิแรงงาน เมื่อถึงวันที่สังคมการทำงานญี่ปุ่นเป็นมิตรกับทุกคน บริษัทช่วยลาออกก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป

    “จากใจเลยนะคะ เราคิดและหวังว่าบริษัทช่วยลาออกจะหายไปจากสังคมในสักวันหนึ่ง คงดีกว่าหากทุกคนสามารถขอหัวหน้าลาออกได้ด้วยตัวเอง แต่จากเรื่องราวแสนน่ากลัวของบรรดาลูกค้า ฉันไม่คิดว่าธุรกิจเราจะหายไปในเร็วๆ นี้ค่ะ” Kawamata กล่าว


แหล่งที่มา:

Workers in Japan can’t quit their jobs. They hire resignation experts to help

Japan's workers turning to agencies that help them quit jobs

Report on overwork highlights Japan's work-life balance issues

Japan struggles to address work-life balance issues

The 2023 White Paper on Measures to Prevent Karoshi, etc.


ภาพ: Freepik.com


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Coursera เผย 5 คอร์ส GenAI ยอดนิยมในประเทศไทย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine