ญี่ปุ่นเดินหน้าลดวันทำงาน มุ่งสู่ Work-Life Balance แต่ติดปัญหา ‘คนบ้างาน’ - Forbes Thailand

ญี่ปุ่นเดินหน้าลดวันทำงาน มุ่งสู่ Work-Life Balance แต่ติดปัญหา ‘คนบ้างาน’

ญี่ปุ่นกำลังผลักดันให้บริษัทต่างๆ ปรับลดเวลาการทำงานให้เหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ ทว่าความพยายามนั้นกลับต้องเผชิญความท้าทายใหญ่หลวง นั่นคือวัฒนธรรมบ้างาน (Workaholic) ที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน


    เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งเดินหน้าแคมเปญ ‘ปฏิรูปสไตล์การทำงาน’ โดยมุ่งเน้นให้บริษัทต่างๆ มีการทำงานที่ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ลดชั่วโมงการทำงานลง และจำกัดการทำงานล่วงเวลา ซึ่งทางกระทรวงแรงงานได้มีการมอบเงินสนับสนุนและบริการให้คำปรึกษาฟรีเพื่อร่วมผลักดันแคมเปญอีกทาง

    ย้อนกลับไปในปี 2021 รัฐบาลญี่ปุ่นเคยริเริ่มการลดวันทำงานต่อสัปดาห์ลงแล้ว และเหล่าสมาชิกรัฐสภาก็ให้การรับรองอนุมัติ แต่ไม่มีประกาศคำสั่งใดๆ ออกมาอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วเท่าที่ควร ดังนั้นความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้จึงนับว่ารุดหน้าไปกว่าคราวก่อนมาก

    อย่างไรก็ตาม ‘ความบ้างาน (Workaholic)’ ถือเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่นมานาน ยากจะเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปสไตล์การทำงานครั้งนี้

    “สาเหตุหลักๆ ที่คนญี่ปุ่นมีชั่วโมงการทำงานเยอะมากคือสังคมและวัฒนธรรมครับ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาอันสั้น” Tim Craig ผู้มีประสบการณ์สอนหนังสือและทำวิจัยในโรงเรียนธุรกิจชั้นนำหลายแห่งของญี่ปุ่นมากว่า 20 ปีกล่าว

    กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น เผยว่ามีบริษัทในญี่ปุ่นเพียง 8% ที่อนุญาตให้พนักงานหยุดงานได้ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์

    Craig อธิบายว่า ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ ‘งาน’ มาก เพราะพวกเขามองว่างานเป็น ‘ส่วนที่ดีของชีวิต’ และแรงกดดันทางสังคมก็มีผลเช่นกัน “หากใครคนหนึ่งกลับบ้านเร็ว เพื่อนร่วมงานของเขาจะชำเลืองมอง และอาจต้องทำงานมากขึ้นเพื่อชดเชยส่วนของเขา ไม่ว่าจะแบบไหนก็ไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีเลยครับ”

    Martin Schulz หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์นโยบายแห่ง Fujitsu บอกเล่าจากการสังเกตของตัวเองว่า ที่ทำงานเป็นสถานที่ซึ่งชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พนักงานมักเต็มใจไม่รีบกลับเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมและไปร่วมรับประทานอาหารกันต่อ

    “การเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเปรียบได้กับการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และมักลงเอยด้วยชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น ไม่เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานที่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด” Schulz เผยกับสำนักข่าว CNBC

    เมื่อเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้เผยแพร่รายงานประจำปีที่ชี้ว่าชาวญี่ปุ่นมีชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปซึ่งเชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้าและ ‘Karoshi’ หรือการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินรับไหว ในปี 2022 ชาวญี่ปุ่น 2,968 คนกระทำอัตวินิบาตกรรมเพราะทนทำงานไม่ไหว เพิ่มขึ้นจาก 1,935 คนในปี 2021 (ทั้งนี้ ยังไม่มีการเผยแพร่สถิติในปี 2023)

    รายงานดังกล่าวยังเน้นว่า 10.1% ของผู้ชายและ 4.2% ของผู้หญิงที่ทำงานเกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีความเสี่ยงต่อการกระทำอัตวินิบาตกรรมหรือ Karoshi มากกว่าปกติ

    “ผมคิดว่าคงต้องใช้เวลาเพื่อปรับการทำงานให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์...เรายังไม่ชินกับความยืดหยุ่นกันเท่าไหร่” Hiroshi Ono ศาสตราจารย์ด้านทรัพยากรมนุษย์จากมหาวิทยาลัย Hitotsubashi กล่าว “สิ่งนี้ยังใหม่ในอีกหลายประเทศเช่นกัน ดังนั้นผมจึงคิดว่าญี่ปุ่นต้องใช้เวลามากเป็นพิเศษ”

    Ono ยังสังเกตว่าจำนวนบริษัทเพียงน้อยนิดที่รับเอาการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาใช้โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแท้ๆ เช่น Microsoft Japan ซึ่งหมายความว่าสำหรับบริษัทญี่ปุ่นเลือดบริสุทธิ์นั้นอาจต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนนานขึ้นไปอีก

    ยกตัวอย่างกรณีของบริษัทญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ Panasonic ที่ให้ตัวเลือกพนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในปี 2022 ทว่ามีพนักงานเพียงราว 150 คนที่เลือกใช้สิทธิ์ จากจำนวนที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด 63,000 คน

    สถาบันทางการเงินชั้นนำของญี่ปุ่น SMBC ก็ให้พนักงานเลือกทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา แต่จำกัดสิทธิ์เฉพาะพนักงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อให้มีเวลาดูแลครอบครัวมากขึ้น โดยผู้ที่จะใช้สิทธิ์นี้ได้ยังต้องทำงานที่บริษัทแห่งนี้ 4 ปีขึ้นไปอีกด้วย

    แม้อัตราการปรับลดวันทำงานในบริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นจะยังคงน้อยนัก แต่ความพยายามนี้กใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ไปเสียทั้งหมด Schulz เผยว่า “ความยืดหยุ่นของการทำงานในภาพรวมนั้นดีขึ้น” พร้อมเสริมว่ารัฐบาลกำลังผลักดันบริษัททั้งหลายให้หันมาใส่ใจ Work-Life Balance กันอย่างจริงจังยิ่งกว่าเดิม และไม่อนุญาตให้มีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาแบบไร้ที่สิ้นสุดอีกต่อไป

    นอกเหนือจากนี้ มีผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลกับ CNBC ว่า Karoshi หรือการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปนั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์พิเศษที่พบเพียงแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น ในปี 2019 มีข่าวว่าแรงงานกว่า 770 คนในสวีเดนเสียชีวิตจากความเครียดในการทำงาน

    “ความพิเศษเพียงอย่างเดียวสำหรับญี่ปุ่นคือทางกระทรวงมีการเก็บข้อมูลเรื่องนี้อย่างจริงจัง” Ono กล่าว


แปลและเรียบเรียงจาก Japan is pushing a 4-day working week - but its workaholic culture makes it a hard sell

ภาพ: Pexels


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : โลกชะลอเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย ปี 67 กสิกรยังคงเป้า GDP ปีนี้อยู่ที่ 2.6%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine