เมื่อผู้ก่อตั้ง Uniqlo บอกว่าตำแหน่งซีอีโอ "เหมาะ" กับผู้หญิงมากกว่า - Forbes Thailand

เมื่อผู้ก่อตั้ง Uniqlo บอกว่าตำแหน่งซีอีโอ "เหมาะ" กับผู้หญิงมากกว่า

Tadashi Yanai มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งอาณาจักรค้าปลีกเสื้อผ้าแบรนด์ Uniqlo เผยว่าเขาต้องการให้ผู้สืบทอดกิจการต่อจากเขาเป็นผู้หญิงมากกว่า

โดยมหาเศรษฐีวัย 70 ปีรายนี้เป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรและดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Uniqlo ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในกรุง Tokyo โดย Tadashi Yanai และครอบครัวครองหุ้นในสัดส่วน 44% ประมาณการเป็นสินทรัพย์ราว 2.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า Yanai กล่าวถึงบทบาทซีอีโอของเขาว่างานนี้เหมาะกับผู้หญิงมากกว่าและว่า ผู้หญิงนั้นมีความขยันหมั่นเพียร, ใส่ใจรายละเอียด และมีเซนส์ด้านความสวยงาม

ทั้งนี้ Yanai เริ่มเข้ามาสานกิจการนี้ต่อจากร้านตัดเสื้อของพ่อในปี 1984 จนสามารถขยายธุรกิจมาสู่โกลบอลแบรนด์ และเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารถทำรายได้ไปถึง 1.89 หมื่นล้านเหรียญ กำไร 2.3 พันล้านเหรียญ เป็นค้าปลีกเสื้อผ้าอันดับ 3 ของโลกรองจาก H&M และ Zara เท่านั้น

ขณะที่เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา Uniqlo รายงานว่าการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (same store growth) ในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมของปี 2018 นอกจากนี้ ยอดขายในเอเชียก็ยังแข็งแกร่ง แม้การขยายสาขาในตลาดอเมริกาจะถูกระงับไว้ก่อน โดยเมื่อปี 2012 Yanai ตั้งเป้าขยายสาขาในสหรัฐฯ ให้ได้ 1,000 สาขา แต่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 50 สาขา

ปีที่ผ่านมา Uniqlo ทำรายได้ไปถึง 1.89 หมื่นล้านเหรียญ เป็นแบรนด์ค้าปลีกเสื้อผ้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

สำหรับชื่อของผู้ที่เป็นไปได้ว่าอาจเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอคนถัดไปของบริษัทก็คือ Maki Akaida ที่เข้ามาทำงานที่บริษัทนี้ตั้งแต่ปี 2001 ปัจจุบันเธอเป็นหัวหน้าการดำเนินงานของ Uniqlo ญี่ปุ่น และมีรายงานว่าหน่วยงานที่เธอดูแลทำกำไรได้สูงที่สุด

ซึ่งเมื่อถาม Yanai ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ Akaida จะเข้ามารับบทบาทซีอีโอ เขาตอบว่าเป็นไปได้

ผู้บริหารวัย 70 ปีรายนี้ยังระบุอีกว่า เขาต้องการเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัทให้มีมากกว่าครึ่งหนึ่ง หลังประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงขึ้นมาเป็น 30% ในปี 2018

โดยปัจจุบันบริษัทแห่งนี้มีผู้หญิงที่รับบทบาทผู้บริหารอยู่ 6 คน

 

ช่องว่างระหว่างเพศ

ขณะที่การพูดถึงซีอีโอคนถัดไปของอาณาจักรค้าปลีกเสื้อผ้านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นยังเป็นที่พูดถึงในระดับโลกถึงการมีผู้บริหารเป็นผู้หญิงในสัดส่วนที่น้อย โดยหากดูรายชื่อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีบริษัทที่มีผู้บริหารเป็นผู้หญิงเพียง 4.1% เท่านั้น

โดย World Economic Forum ได้จัดให้ญี่ปุ่นอยู่ลำดับที่ 110 ของการจัดอันดับ Global Gender Gap Index 2018 ด้วยช่องว่างรายได้ระหว่างเพศหญิงและชายอยู่ที่ 24.5% ในปี 2017 เทียบกับการทำงานในบทบาทเดียวกัน

ในปี 2019 รายงานของ IMF กล่าวโจมตีว่าญี่ปุ่นนั้นปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศซึ่ง IMF อธิบายการจัดอันดับช่องว่างระหว่างเพศของญี่ปุ่นว่าน่าเวทนาแม้ว่าอันดับจะขยับขึ้นบ้างเล็กน้อยก็ตาม

ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Shinzo Abe ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการกับภาวะแรงงานของประเทศหดตัว รวมถึงต้องส่งเสริมคุณภาพการผลิตให้ดีขึ้น และผลักดันให้ผู้หญิงทำงานในตำแหน่งสูงมากขึ้น

  ที่มา  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine