“ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในระดับต่ำมาก” คำที่หลายคนอาจเคยได้ยินจากข่าวผลสำรวจดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ (English Proficiency Index) ของประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ซึ่งพบว่าภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในโซนอันดับท้ายๆ แทบทุกปี และบางปีก็รั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยซ้ำ
ประเด็นการอ่อนทักษะภาษาอังกฤษนี้เรียกได้ว่าเป็นประเด็นระดับชาติ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษะภาษามาพร้อมกับโอกาส และทักษะนี้เองก็มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติด้วย ทำให้หลายหน่วยงานพยายามหาแนวทางแก้ไข รวมถึงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ยกระดับการเรียนรู้และเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย
ล่าสุด คือ บริติช เคานซิล (British Council) ที่ได้จัดงานสัมมนากำหนดทิศทางการทดสอบและการวัดระดับทักษะทางภาษาระดับนานาชาติ ประจำปี 2567 (New Directions East Asia 2024) ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2024 ที่กรุงเทพมหานคร โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 12 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ อิทธิพลของการวัดระดับทักษะภาษาที่มีต่อบุคคลและสังคม เชิญชวนให้พิจารณาถึงผลของการเรียนรู้และการวัดระดับทักษะภาษาที่มีต่อการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพการศึกษา ตลอดจนการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรที่จะมีการฉลองครบรอบ 170 ปี ในปี 2568
Danny Whitehead ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน New Directions East Asia 2024 งานสัมมนานี้ยังคงเป็นเวทีสำคัญในการหารือระดับโลกถึงบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของการวัดระดับทักษะภาษา”

Barry O'Sullivan ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาอังกฤษบริติช เคานซิล เผยบนเวทีสัมมนาว่า ปัจจัยสำคัญของระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง ได้แก่ การวัดระดับภาษา การสอนภาษา และนโยบายด้านภาษา ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ต้องไปด้วยกันจึงจะประสบความสำเร็จสูงสุด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมากลับไม่เป็นเช่นนั้น
Whitehead ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมโดยขยายความจาก O'Sullivan เกี่ยวกับความท้าทายของการวัดระดับทักษะและความสามารถทางภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่เพียงเป็นวาระสำคัญในภาคการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาในภาคเศรษฐกิจและแรงงานที่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เขาชี้ว่าตลาดแรงงานไทยนั้นมีอัตราการว่างงานเพียงราว 2% ณ ไตรมาส 2 ปี 2024 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นสิ่งที่ต้องมุ่งยกระดับจึงเป็นผลิตภาพ (Productivity)
ในการยกระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยนั้น ก็ต้องดำเนินการผ่านการพัฒนาทักษะแรงงานที่จะเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือต้องพัฒนาการศึกษาเพื่อให้แรงงานเหล่านี้มีความรู้และทักษะมากเพียงพอ และหัวใจสำคัญของพัฒนาการศึกษาก็ไม่พ้นการทดสอบวัดระดับ
ผนึกกำลังสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
ไทยและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์ด้านการศึกษาที่แน่นแฟ้นตลอดระยะเวลาเกือบ 170 ปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรจึงมีความยินดีให้ความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือกระทรวงศึกษาธิการในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยเป้าหมายสร้าง ‘ความเสมอภาค (Equality)’ ด้านการศึกษาภาษาอังกฤษทั่วประเทศ
ประเทศไทยมีความหลากหลายสูง ซึ่งนับเป็นข้อดี ไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย มีเมืองใหญ่ที่ดึงดูดชาวต่างชาติและการลงทุน ทว่าความหลากหลายเหล่านั้นก็ยังรวมเอาพื้นที่ที่การพัฒนาเข้าถึงได้ยาก นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทั้งด้านคุณภาพชีวิตและการศึกษา
Whitehead ชี้ว่า “ณ ตอนนี้ หนึ่งในปัญหาท้าทายที่สุดของการศึกษาภาษาอังกฤษในไทย คือครูผู้สอนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศนั้นมีระดับความรู้และทักษะภาษาอังกฤษแตกต่างกัน” ทำให้ผู้เรียนจากต่างพื้นที่ได้รับความรู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน คุณภาพของการศึกษาจึงไม่เท่ากันไปด้วย
สหราชอาณาจักรในฐานะพันธมิตรทางการศึกษาพร้อมช่วยจัดหาทรัพยากรคุณภาพสูงให้ครูได้ใช้พัฒนาตัวเองและใช้ประกอบการเรียนการสอน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ยากจะเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆ โดยอาศัยประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้ไม่ว่าจะนักเรียนในเมืองใหญ่หรือนักเรียนในพื้นที่อันห่างไกลก็สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน

ออกแบบการสอบวัดระดับที่วัดผลได้จริง
Whitehead เผยว่าการพัฒนาการศึกษาควรเริ่มต้นจากการวัดระดับทักษะภาษา เพื่อให้สามารถออกแบบหลักสูตรและเนื้อหาบทเรียนได้อย่างเหมาะสม เพราะในโรงเรียน ครูมักต้องการให้นักเรียนสอบผ่าน และสอนเนื้อหาเพื่อการสอบเท่านั้น อีกทั้งการสอบยังมักเป็นแบบมีตัวเลือก (Multiple Choices) และการท่องจำคำศัพท์เพียงจำนวนหนึ่ง ทำให้ความรู้และทักษะที่นักเรียนได้รับมีจำกัด โดยเฉพาะสมรรถนะทางการสื่อสาร (Communicative Competence) ซึ่งเป็นส่วนที่ทดสอบได้ยาก จึงควรมีการออกแบบการเรียนการสอนและตำราภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะดังกล่าวให้มากขึ้น
การวางมาตรฐาน (Standardization) ก็สำคัญเช่นกัน การศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยยังไม่มีการสอบวัดระดับทักษะภาษาที่เป็นมาตรฐานกลาง ปัจจุบันแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีการจัดสอบภาษาของตัวเอง ยากจะบอกได้ว่าการสอบของมหาวิทยาลัยใดสามารถยึดถือได้จริงๆ ซึ่งในส่วนนี้ส่งผลกระทบไปถึงภาคเศรษฐกิจ เพราะองค์กรและบริษัทต่างๆ ต้องการแรงงานที่มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับที่เหมาะสม แต่เมื่อไม่มีการสอบที่เป็นมาตรฐานกลาง ก็ยากที่จะบอกได้ว่าใครมีทักษะเพียงพอ
ไทยจึงควรสร้างข้อสอบกลางที่มีคุณภาพ ยกตัวอย่าง ข้อสอบ IELTS ที่ทุกมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรใช้ในการคัดนักศึกษาเข้าเรียนเหมือนกันทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การนำข้อสอบจากต่างประเทศมาใช้ก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมนัก นอกจากค่าสอบที่สูงแล้ว ข้อสอบเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงบริบททางการศึกษาของไทย ภารกิจที่สหราชอาณาจักรและไทยต้องร่วมมือกันจึงเป็นการสร้างการสอบวัดระดับทักษะภาษาและระบบการเรียนการสอนที่ครอบคลุม (Comprehensive Learning System) เฉพาะสำหรับประเทศไทยนั่นเอง
AI เครื่องมือทรงอานุภาพที่ต้องใช้ให้เป็น
กล่าวถึง AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีมาแรง จนหลายคนกังวลว่าจะถูกแย่งงานหรือไม่ ต้องยอมรับว่าการมาของ AI ส่งผลกระทบต่อแวดวงภาษาและการศึกษาในปัจจุบันจริง โมเดล AI หลายตัวเข้ามามีอิทธิพลต่อการทำงาน เช่น ChatGPT ที่ช่วยในการค้นหาข้อมูลและสรุปเนื้อหาต่างๆ อย่างง่ายดาย

“มีครูหลายคนถามผมว่า AI จะมาแทนที่ครูไหม หรือ AI จะมาแทนที่คนออกข้อสอบหรือเปล่า” Whitehead เล่าและแสดงความคิดเห็นว่า “ไม่ AI จะไม่มาแทนที่ครู แต่ครูที่ใช้ AI เป็นจะมาแทนที่ครูที่ใช้ AI ไม่เป็น”
เขามองว่าเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึง AI เป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะช่วยให้การศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับงานอื่นๆ สิ่งสำคัญคือมนุษย์ต้องปรับตัวและเรียนรู้เพื่อใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ควรนำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ส่วนนักเรียนก็ควรรู้จักการใช้ AI อย่างเหมาะสม เช่น อาจใช้เป็นตัวช่วยในการเขียนการบ้าน แต่ไม่ใช่ให้ AI เขียนแล้วส่งเลย ควรตรวจสอบ เรียบเรียง และทำความเข้าใจเนื้อหาด้วยตัวเองอีกครั้ง ซึ่งอันที่จริงแล้วครูก็ดูออกว่างานไหนเขียนโดยมนุษย์ งานไหนเขียนโดย AI
ดังนั้น เพื่อเสริมแกร่งทักษะแรงงานไทยอันจะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จในอนาคต หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงควรร่วมมือกันผลักดันการศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารในระดับนานาชาติ ซึ่งงานสัมมนาในครั้งนี้ก็ได้ช่วยชี้ให้เห็นแล้วว่าจุดตั้งต้นควรเป็น ‘การวัดระดับทักษะภาษา’ ที่มีประสิทธิภาพ
ภาพ: New Directions East Asia 2024
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “กระหายการเรียนรู้และไม่หยุดพัฒนา” หลักการสำหรับผู้แสวงหาความสำเร็จที่ซีอีโอ Amazon แนะนำ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine