การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ขยายไปทั่วโลกรวมถึงไทย ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้วยังส่งผลต่อเศรษฐกิจอีกด้วย ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2020 มาอยู่ที่ -5.3% ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งซึ่งอยู่ที่ -7.6% และหากย้อนไปยังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ยังหดตัวเพียง -0.7% เท่านั้น นับได้ว่าในช่วงเวลานี้ ผู้นำองค์กร กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายและมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งยังเป็นกังวลกับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ และกำลังต้องขบคิดหาวิธีการในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้นในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ ผู้นำองค์กร ควรรับมืออย่างไรนั้น จากบทความของ Deloitte ภายใต้หัวข้อ The heart of resilient leadership ได้ทำการศึกษาว่าที่ผ่านมาผู้นำองค์กรสามารถนำพาองค์กรผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้อย่างไร และพบว่า 5 คุณลักษณะดังต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ผู้นำองค์กรควรมีในช่วงวิกฤต
1.ใช้หัวใจและสมองในการนำพาองค์กรในช่วงวิกฤต
ในช่วงวิกฤตผู้นำองค์กรควรมีความฉลาดทางอารมณ์และแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจต่อทั้งพนักงานและลูกค้า เนื่องจากในช่วงเวลานี้ ผู้คนไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความปลอดภัยและการมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ การดูแลพนักงานและลูกค้า
อย่างไรก็ตาม การประคับประคองผลประกอบการของบริษัทยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงนั้น ผู้นำองค์กรควรรวมอำนาจการตัดสินใจเพื่อความชัดเจน รวดเร็ว เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ การตัดสินใจและการดำเนินการทุกย่างก้าวนั้นควรอยู่บนเป้าหมายหลักขององค์กรเสมอ
2.ทำให้องค์กรสามารถดำเนินงานไปได้อย่างต่อเนื่อง
ในช่วงเวลานี้มักมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เร่งด่วนประดังเข้ามา แต่ผู้นำองค์กรควรมุ่งเน้นไปที่สิ่งสำคัญที่สุด โดยการกำหนดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ จากการศึกษาองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรคระบาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าผู้นำองค์กรควรมีการรับมือโดยการตั้งศูนย์สั่งการพิเศษ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ และติดต่อสื่อสารกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
3.ให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว ไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ
เนื่องจากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นตลอดเวลา ผู้นำต้องตัดสินใจอย่างกล้าหาญและทันท่วงที ตลอดจนมีแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ที่สำคัญ การมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้นำองค์กรสามารถตัดสินใจไม่อย่างรวดเร็วขึ้น แม้ว่าจะขาดข้อมูลที่ครบถ้วนก็ตาม
ทั้งนี้ อาจใช้ข้อมูลที่ใกล้เคียงมาทดแทนไปก่อน และเมื่อกลับสู่สถานการณ์ปกติ ควรมีการทบทวนและพัฒนาคุณภาพข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต
4.สร้างความเชื่อใจแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ความเชื่อใจในช่วงเวลาวิกฤตนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ความเชื่อใจจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสามปัจจัยรวมกันประกอบด้วย ความโปร่งใส หรือการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ปัจจัยถัดมาคือความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน
ปัจจัยสุดท้ายคือการที่ผู้เกี่ยวข้องเชื่อว่าบริษัทจะทำตามที่สัญญาไว้อย่างแน่นอน ซึ่งความเชื่อใจนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาร่วมแรงร่วมใจกันในการเอาชนะอุปสรรคนั่นเอง
5.มองหาโอกาสเพื่อเตรียมพร้อมรับ New Normal ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ผู้นำองค์กรควรหาจุดสมดุลระหว่างกลยุทธ์ระยะสั้นที่กับกลยุทธ์ระยะยาว หรือการเลือกที่จะลดต้นทุนบางอย่างเพื่ออยู่รอดในช่วงเศรษฐกิจหดตัว กับลงทุนสำหรับการเติบโตในอนาคต เนื่องจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การที่สภาวะแวดล้อมกดดันให้องค์กรจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้
ดังนั้นหากผู้นำองค์กรมัวแต่มุ่งความสนใจกับการดำเนินตามกลยุทธ์ระยะสั้น จนละเลยกลยุทธ์ระยะยาว อย่างลงทุนในเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นหรือทำ Digital Transformation อาจทำให้ไม่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลาถัดจากนี้
ผู้นำองค์กรที่มีคุณลักษณะข้างต้นจะบันดาลให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนผ่านวิกฤตได้ ทั้งยังช่วยยกระดับแบรนด์ขององค์กรให้ไปอยู่ในจุดที่ดีขึ้น และสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้วิกฤตเช่นนี้ยังนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ การเปลี่ยนแปลงองค์กร การสร้างสรรค์คุณค่าแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและสังคม ตลอดจนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
- อ่านเพิ่มเติม 5 อนาคตหลัง วิกฤตการณ์โควิด-19 “เศรษฐกิจ พฤติกรรม และโครงสร้างสังคม” ที่อาจเปลี่ยนแปลง
บทความโดย สุภศักดิ์ กฤษณามระ
กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine