สถานการณ์ช่วงชิงแรงงานทั่วโลกรุนแรง ไทยยังติดหล่มพัฒนา "แรงงานทักษะสูง" - Forbes Thailand

สถานการณ์ช่วงชิงแรงงานทั่วโลกรุนแรง ไทยยังติดหล่มพัฒนา "แรงงานทักษะสูง"

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Jun 2019 | 10:32 AM
READ 8534

สถานการณ์แรงงานโลกกำลังปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แรงงานซึ่งเป็นที่ต้องการในโลกอนาคตจำเป็นต้องเป็น "แรงงานทักษะสูง" รองรับการทำงานที่ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีได้ ความตื่นตัวเรื่องนี้ในภาคการจ้างงานทั่วโลกเป็นอย่างไร และสถานการณ์ในไทยพร้อมแค่ไหนเป็นคำถามที่น่าสนใจ 

Forbes Thailand ขอนำรายงานการสำรวจความพร้อมและบทความเกี่ยวกับเรื่องแรงงานทักษะสูง ทั้งจากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับสากลและผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นคำตอบ 

เริ่มจากรายงานผลการศึกษาครั้งล่าสุดของ Korn Ferry (KFY) บริษัทผู้ให้คำปรึกษาแก่องค์กรชั้นนำระดับโลกชี้ว่า ผู้นำองค์กรธุรกิจในประเทศไทยต่างวิตกกังวลว่า แรงงานทักษะสูงที่มีจำนวนลดลงจะส่งผลกระทบถึงการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตระยะกลาง

การศึกษาครั้งนี้ เป็นการสำรวจผู้นำองค์กรในระดับผู้บริหารจำนวน 1,550 คน (ผู้บริหารระดับสูงหรือต่ำกว่าระดับสูง 1 ขั้น) จากองค์กรธุรกิจมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ใน 19 ประเทศทั้งในภูมิภาคอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรายงานผลการศึกษาจะให้ความสำคัญที่แรงงานทักษะสูงที่คาดว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนแบบเฉียบพลัน

ผลสำรวจพบว่า ผู้นำองค์กรธุรกิจในไทยมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงมากกว่าผู้นำในประเทศอื่นๆ โดยมีผู้บริหารระดับสูงเพียง 30% ที่คิดว่าจะมีแรงงานทักษะสูงเพียงพอหรือมากเกินความต้องการในปี 2573 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าผู้บริหารทั่วโลก

 

โลกขาดแรงงานทักษะสูงกว่า 85 ล้านคน

สำหรับผู้นำองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ในเมืองไทย ไม่ได้มองว่าจะเกิดการแข่งขันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในอนาคต โดย 88% กล่าวว่าบริษัทของตนจำเป็นจะต้องมีแรงงานทักษะสูงจำนวนมากขึ้น เมื่อเทียบสัดส่วนกับแรงงานทั้งหมดในอนาคต ซึ่งผู้บริหารจำนวนมากเท่าๆ กันก็เห็นพ้องว่าเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดงานที่ต้องอาศัยทักษะสูงเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ในการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของบริษัท ผู้นำในเมืองไทยกว่า 86% ยังคงวางแผนความต้องการแรงงานทักษะสูงในลักษณะเดิมๆ มีเพียง 9% ที่มีแผนต่อเนื่องไปจนถึงปี 2573

แรงงานทักษะสูง ไทย

การอุบัติของเทคโนโลยี ทำให้การพัฒนาธุรกิจมีอัตราเร่งเร็วยิ่งขึ้น การคาดการณ์แบบยืดหยุ่นและการสร้างแบบจำลองธุรกิจ เริ่มมีความสำคัญมากกว่าการใช้รูปแบบธุรกิจดั้งเดิม เช่น แผนระยะ 5 ปี Michael Distefano ประธานกรรมการ คอร์น เฟอร์รี่ เอเชีย แปซิฟิก กล่าวและว่า

โลกกำลังจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในอนาคตอันใกล้ โดยจะเกิดขึ้นทั้งกับเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว และเขตเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาไม่แตกต่างกัน

แรงงานทักษะสูง คอร์น เฟอร์รี่
Michael Distefano ประธานกรรมการ คอร์น เฟอร์รี่ เอเชีย แปซิฟิก

สำหรับประเทศไทย ปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานดังกล่าว อาจส่งผลกระทบถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสูงถึง 6.4% ในปี 2573

และเมื่อพิจารณาในระดับโลก งานศึกษาของ Korn Ferry คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูงถึง 85.2 ล้านคนภายในปี 2573 โดยในช่วงต้นปี 2563 การขาดดุลแรงงานอาจขึ้นไปแตะที่ 20.3 ล้านคน

การศึกษาเรื่องการโยกย้ายของแรงงานที่มีทักษะเผยให้เห็นว่าองค์กรทั่วโลกยังมองโลกในแง่ดี จนเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับความสามารถขององค์กรในการจัดหาแรงงานทักษะสูงเพื่อการทำงานในอนาคต

โดยผู้นำองค์กรธุรกิจเกือบทั้งหมด หรือ 95% มั่นใจว่าองค์กรของตนสามารถจัดหาแรงงานทักษะสูงเพื่อการทำงานในอนาคตได้ แม้มีแนวโน้มจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูงถึง 85.2 ล้านคนภายในปี 2573  โดยผู้นำน้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 9%  มีการวางแผนอย่างจริงจังถึงจำนวนแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นในการดำเนินงาน ตามกลยุทธ์ที่ครอบคลุมไปถึงปี 2573

 

ผู้นำธุรกิจยังมองปัญหาแรงงานเป็นวัฏจักร

นอกจากผลสำรวจดังกล่าวแล้ว ยังมีบทความเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานที่น่าสนใจเรื่องเมื่อโลกกําลังทําสงครามแย่งชิงคนเก่ง ประเทศไทยทําอะไรอยู่ เขียนโดย พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ และ พัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นปัญหาด้านแรงงานและเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่ไปไกลกว่าไทย ดังนี้

รูปแบบของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปจากกระแสของทั้งสังคมสูงอายุและเทคโนโลยีทำให้การแย่งชิง แรงงานทักษะหรือ “War for Talents” เป็นประเด็นร้อนแรงที่ผู้ทำนโยบายทั่วโลกจับตามอง นานาประเทศต่างมีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Economy 4.0 จึงต่างแสวงหาคนเก่งจากทั่งทุกมุมโลก เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศตนเอง

โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยากต่อการคาดเดาว่างานในอนาคตจะต้องการคนประเภทใด การผลิตคนในประเทศให้ตรงและทันกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็วกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

แรงงานทักษะสูง-ตัวอย่าง
แรงงานทักษะสูงนำเสนอเทคโนโลยีใหม่

ประเทศแถวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกา สามารถสร้าง Data Scientist ได้เพียง 35,000 คนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ข้อมูลจาก LinkedIn ในปี 2560 เผยให้เห็นว่า ความต้องการ Data Scientist ทั่วโลกปรับสูงขึ้นถึง 6.5 เท่า จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงสร้างแรงกดดันต่อการแย่งชิงแรงงาน ทำให้กว่า 2 ใน 5 ประเทศทั่วโลก ผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานต่างชาติทักษะสูงและมีมาตรการเชิงรุก ทั้งการจูงใจทางภาษีและการให้เงินสนับสนุน เพื่อดึงดูดคนเก่งที่สุดและดีที่สุด (The best and the brightest) ให้กับประเทศของตนเอง

 

สถานการณ์แย่งชิงแรงงานรุนแรงทั่วโลก   

สถานการณ์แย่งชิงแรงงานรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้สูง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่ "แคนาดา" ติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บริเวณทางเข้า Silicon Valley เพื่อเชิญชวนชาวต่างชาติโดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาใหม่ในสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถหางานได้จากการจำกัดจำนวนแรงงานต่างชาติผ่านโควตาวีซ่า H-1B และสถานการณ์แย่ลงจากกระแสอนุรักษ์นิยม หลังการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี Donald Trump เข้ามาทำงานในแคนาดา

แม้แต่ในประเทศที่มีกระแสชาตินิยมรุนแรงอย่าง "ญี่ปุ่น" ก็มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านแรงงานควบคู่กับการสร้างวัฒนธรรมการยอมรับคนต่างชาติในสังคม เพื่อลดผลกระทบจากสังคมสูงวัยที่รุนแรงขึ้น โดยญี่ปุ่นกำลังเปิดให้นำเข้าพยาบาล เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ที่สูงขึ้น และระบบการศึกษาไม่สามารถสร้างกำลังแรงงานที่มีทักษะดังกล่าวได้ทัน

มาเลเซียมีแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็น "ศูนย์กลางคนเก่งของอาเซียน" ทั้งจัดหน่วยงานอำนวยความสะดวก 24 ชั่วโมงสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการหางานในมาเลเซีย และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงคนมาเลย์ให้กลับมาทำงานในประเทศ

ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เริ่มเข้าร่วมในสงครามแย่งชิงคนเก่งเพิ่มขึ้น รวมถึงเพื่อนบ้านของไทย อย่าง "มาเลเซีย" ที่มีนโยบายเชิงรุกที่เป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2553 โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางคนเก่งของอาเซียน ผ่านการ สร้าง-ดึงดูด-รักษา ที่บรรจุเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อทำให้เกิดการผลักดันอย่างจริงจัง โดยจัดต้ังหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงและมีศูนย์อำนวยความสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง (MYXpats) สำหรับให้คำปรึกษาชาวต่างชาติที่ต้องการหางานในประเทศ รวมถึงโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวมาเลเซีย มีประสบการณ์และเรียนรู้จากต่างประเทศ

นอกจากนี้ มาเลเซียยังใช้นโยบายทางภาษี เพื่อดึงคนเก่งที่ออกไปทำงานในต่างประเทศกลับมาช่วยพัฒนาประเทศตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางของประเทศที่เผชิญภาวะสมองไหล เช่น "อินเดีย" ที่ประสบความสำเร็จในการดึงคนกลับประเทศจนสามารถสร้าง IT Hub ที่ Bangalore ได้

ขณะที่ "จีน" ที่มีอัตราสมองไหลสูงเช่นกันก็พยายามดึงคนจีนกลับบ้าน ถึงขนาดยอมให้คนจีนที่ย้ายสัญชาติไปแล้ว สามารถถือ 2 สัญชาติได้

จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่ดำเนินนโยบายแก้ปัญหา "สมองไหล" โดยอนุญาตให้ประชาชนจีนถือ 2 สัญชาติได้หากยินยอมกลับมาทำงานในจีน

กลับมามองประเทศไทย ข้อมูลของ UN ปี 2560 พบว่า ไทยเป็นประเทศที่เปิดรับแรงงานต่างชาติมากที่สุดในอาเซียน โดยมีมากถึง 3.6 ล้านคน แต่จํานวนนี้เป็นกลุ่มที่มีทักษะเพียง 1.5 แสนคนเท่านั้น หรือคิดเป็น 0.4% ของแรงงานท้ังหมด สะท้อนให้เห็นว่า ไทยพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมาก

ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมในการคัดเลือกและดึงดูดแรงงานทักษะที่จะตอบโจทย์เศรษฐกิจ 4.0 ยังไม่ชัดเจนนัก แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มีนโยบายด้านแรงงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว ที่แยกกันระหว่างการดึงดูดแรงงานทักษะสูง และลดการพึ่งพิงแรงงานทักษะพื้นฐาน

แรงงานทักษะสูง เปิดรับแรงงานต่างชาติ  

ไทยขาด "แรงงานทักษะสูง" ถึงขั้นย้านฐานผลิต

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สำรวจผู้ประกอบการกว่า 800 บริษัท ในปี 2017/18 พบว่า การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาสําคัญของบริษัทในไทย โดยกว่า 20%  ขาดแคลน แรงงานทักษะสูง โดยเฉพาะทักษะดิจิทัล เช่น การเขียนโปรแกรม ซึ่งผลกระทบดังกล่าวรุนแรงถึงขนาดทําให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งจําเป็นต้องย้ายธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลและการวิจัยไปลงทุนในประเทศที่มีนโยบายแรงงานที่เสรีกว่า เช่น สิงคโปร์ เพราะไม่สามารถหาแรงงานที่มีทักษะด้านการจัดการข้อมูลในไทยได้เพียงพอ ส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสในการจ้างงานกว่า 1,000 ตําแหน่ง

ด้วยบริบทของโลกที่ไร้พรมแดนในปัจจุบัน บริษัทสามารถจ้างคนต่างประเทศทำงานให้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน ทำให้การปกป้องแรงงานในประเทศด้วยการปิดกั้นชาวต่างชาติแทบจะเป็นไปไม่ได้

Tim Cook ซีอีโอ Apple เคยกล่าวไว้ว่า การที่ iPhone เลือกฐานผลิตในจีนไม่ใช่เพราะเป็นแหล่งผลิตราคาถูก แต่เป็นเพราะจีนมีแรงงานทักษะสูงจำนวนมากกว่าในสหรัฐฯ

ในทางตรงกันข้าม การเปิดรับคนเก่งให้มาอยู่รวมกันในประเทศไทยกลับเป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศและทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังที่ Tim Cook เคยกล่าวว่า การที่ Apple เลือกผลิต iPhone ในจีน ไม่ใช่เพราะเป็นแหล่งผลิตราคาถูก แต่เป็นเพราะจีนเป็นแหล่งรวมแรงงานทักษะที่มีจำนวนมากกว่าสหรัฐฯ

ระหว่างที่ทั่วโลกต่างแข่งขันกันเพื่อแย่งคนเก่ง ประเทศไทยกลับทําแค่ชําเลืองมองโดยไม่มีแผนการเชิงรุกที่ชัดเจน ท้ังที่ไทยกําลังก้าวสู่สังคมสูงวัยแรงงานถือเป็นปัจจัยสําคัญที่สุดสําหรับเศรษฐกิจ 4.0 เพราะไทยจะต้องหา แรงงานทักษะสูง กว่า 5 ล้านคน เพื่อตอบโจทย์ S-curve การเปิดรับต่างชาติในช่วงเริ่มต้น จึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยขับเคลื่อนให้สามารถบรรลุเป้าหมาย Thailand 4.0 ได้

ทัศนคติที่มองว่าแรงงานต่างชาติจะเป็นภัยคุกคามต่องานของคนไทยคืออุปสรรคสําคัญที่ปิดกั้นโอกาสของการพัฒนาศักยภาพของประเทศ เพราะสิ่งที่น่ากลัวกว่าการถูกต่างชาติแย่งงานคือการเลือกปกป้องแรงงานไทย จนท้ายที่สุดทําให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและคนไทยอาจไม่มีงานทํา

 

เรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์