เตรียมเปิดศักราชใหม่แห่งการบิน! อากาศยาน VTOL พลังไฮโดรเจนลำแรกของโลก บินเร็ว 520 กิโลเมตรต่อชั่วโมง - Forbes Thailand

เตรียมเปิดศักราชใหม่แห่งการบิน! อากาศยาน VTOL พลังไฮโดรเจนลำแรกของโลก บินเร็ว 520 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โลกแห่ง VTOL กำลังแผ่ขยายอย่างรวดเร็วและจะเปลี่ยนวิถีการสัญจรทางอากาศไปตลอดกาล ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นก้าวใหม่นี้มีแรงขับเคลื่อนมากมายซ่อนอยู่เบื้องหลัง นับตั้งแต่ความพยายามกระจายประชากรออกจากเมืองและสนามบินที่มีผู้โดยสารหนาแน่น ไปจนความจำเป็นต้องหามาตรการด้านคมนาคมที่ดีกว่า รวดเร็วกว่า และยังสะอาดกว่าเดิม


    อย่างไรก็ตาม มีสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องพิจารณาในการขยับขยายคราวนี้ คือปัจจุบันแผนการดังกล่าวเป็นไปในเชิงทฤษฎีเท่านั้น และยังคงขาดความชัดเจนอย่างมาก อากาศยานที่ขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง (VTOL) เปิดตัวออกมาไวมากจนเราแทบไล่ตามกันไม่ทัน ทว่าในความเป็นจริงนั้น ยังไม่มีเครื่องบินลำใดถูกนำออกมาใช้งานเลย

    มีการสร้างวิสัยทัศน์แห่งความเชื่อมั่นด้วยแรงสนับสนุนจากเงินลงทุนว่าเราจะได้เห็นอากาศยาน VTOL บินเชิงพาณิชย์ได้ในเร็วๆ นี้ และหากเราเชื่อในสิ่งที่รับฟังมา หนึ่งในเครื่องบินที่ใกล้จะพาผู้โดยสารทะยานสู่เวหาได้เร็วที่สุดคือ Sirius Jet



    Sirius Jet เป็นนวัตกรรมจากบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติสวิส Sirius Aviation ที่ถูกเรียกว่าเจ็ต เพราะใช้ระบบขับเคลื่อนใบพัดแบบมีท่อครอบ (Ducted Fan) แตกต่างจาก VTOL โดยทั่วไปที่ขับเคลื่อนใบพัดด้วยมอเตอร์โดยตรง นอกจากนี้ยังใช้พลังงานจากไฟฟ้า และหากชี้เฉพาะลงไปอีก คงต้องบอกด้วยว่าเป็นพลังงานจากไฟฟ้าไฮโดรเจน

    ระบบส่งกำลังของ Sirius Jet นั้นประกอบด้วยระบบกักเก็บไฮโดรเจนพลังงานต่อหน่วยสูงในส่วนถังเก็บเชื้อเพลิง ซึ่งเชื่อมต่อไปยังชุดเซลล์เชื้อเพลิง ออกซิเจนที่ได้มาระหว่างเที่ยวบินจะถูกนำเข้ามาผ่านช่องทางพิเศษบริเวณหัวเครื่องบินเพื่อทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจน นำมาสู่ผลลัพธ์คือการกำเนิดพลังงานไฟฟ้าและน้ำ

    ตามปกติแล้ว พลังงานไฟฟ้าจะถูกส่งไปยังมอเตอร์ไฟฟ้า เราไม่ทราบว่ามีทั้งหมดกี่เครื่อง แต่จากรูปที่ Sirius เปิดเผยออกมานั้นมีใบพัดไม่ต่ำกว่า 28 ใบ (8 ใบตรงหัวเครื่องบิน และอีก 20 ใบตรงส่วนปีก แบ่งเป็นข้างละ 10 ใบพัด เท่ากันทั้งด้านซ้ายและขวา) ซึ่งหากแต่ละใบพัดใช้มอเตอร์ของตัวเอง ก็น่าจะมี 28 เครื่อง แต่ละเครื่องผลิตกำลังแรง 224 ปอนด์ และหากคำนวณตัวเลขรวมทั้งหมดก็จะได้แรง 6,272 ปอนด์

    ส่วนน้ำที่ได้จากปฏิกิริยาจะถูกปล่อยทิ้งผ่านระบบระบายอากาศพิเศษที่ติดตั้งบริเวณหางเครื่อง



    เพราะ Sirius มีเชื้อเพลิงบนเครื่องอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานไฟฟ้า แต่ก็มีตัวหนึ่งติดเครื่องไว้ โดยจะทำงานเพียง 90 วินาทีต่อเที่ยวบินเพื่อเตรียมพร้อมทุกอย่างภายใน VTOL นอกจากนี้ Sirius ยังมีหน่วยลำเลียงและแปลงพลังงานด้วย

    จากองค์ประกอบทั้งหมดของ Sirius ทางบริษัทผู้ผลิตได้ให้คำนิยามเอาไว้ว่าเป็น “อากาศยาน VTOL ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนลำแรกของโลก” ซึ่งถือเป็นแถลงการณ์ที่กล้าหาญมาก ทั้งยังต้องได้รับการสนับสนุนจากบริษัทใหญ่มากมาย เพราะส่วนใหญ่คงไม่รู้จัก Sirius Aviation ที่เป็นสตาร์ทอัพหน้าใหม่อายุเพียงไม่กี่ปี

    แน่นอนว่านั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะบนเครื่องบินเจ็ตลำนี้ปรากฏตราของสองผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมยานต์นั่นคือ BMW DesignWorks และ Sauber Group เรายังไม่มีข้อมูลว่าสองบริษัทนี้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือแค่ไหน แต่เพียงเอ่ยถามเหล่านั้นก็ชวนให้รู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย

    VTOL ลำนี้ดูมีความเป็นอากาศยานแบบดั้งเดิมเสียยิ่งกว่าเครื่องบินลำอื่นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม segment เดียวกัน กล่าวคือ มีปีกเล็กคู่หนึ่งด้านหน้าพร้อมระบบสี่มอเตอร์ต่อข้าง และปีกอีกหนึ่งคู่ช่วงกลางลำพร้อมระบบสิบมอเตอร์ต่อข้าง กับหางรูปตัว V บริเวณท้ายเครื่อง ด้านหน้าเครื่องมีกระจกใหญ่ ส่วนข้างตัวเครื่องมีกระจกฝั่งละ 3 บาน

    Sirius Jet จะมีทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ Business Jet และ Millenium Jet จำนวนผู้โดยสารที่สามารถรองรับได้ในแบบจำนวนจำกัดของแต่ละลำแบบจำกัด้นั้น แลดูจะเป็นการใช้เทคโนโลยีที่สูญเปล่าเป็นอย่างมาก ทว่าสำหรับบริษัท ดาราดัง และผู้โดยสารระดับ VIP น่าจะโปรดปรานกันเลยเลยทีเดียว


    Business Jet มีไว้สำหรับการใช้งานส่วนตัว รองรับผู้โดยสารได้เพียง 3 คน เดินทางไกล 1,150 ไมล์ (1,850 กิโลเมตร) จากจุดออกตัว ไต่ระดับสูงสุด 30,000 ฟุต (9,100 กิโลเมตร) และเร่งความเร็วได้สูงสุด 323 ไมล์ต่อชั่วโมง (520 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

    ส่วน Millenium Jet ออกแบบมาสำหรับหน่วยงานพาณิชย์ แม้จะฟังดูเกินจริงไปหน่อย เพราะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียง 5 คน แต่สามารถไปได้ไกลกว่า Business Jet ถึง 650 ไมล์ (1,046 กิโลเมตร) ส่วนศักยภาพอื่นๆ เท่ากันทั้งหมด

    Sirius Aviation วางแผนพาเครื่องบินทั้งสองแบบทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าในปี 2025 หรือก็คือปีหน้า และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะเกิดขึ้นจริง

    หลายต่อหลายครั้งที่มีการประกาศอย่างมาดมั่นถึงอากาศยานที่จะมาปฏิวัติโลกใบนี้ และเมื่อถึงเวลาก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น อุปสรรคสำคัญที่จะไล่ตามมาเร็วๆ นี้คือกฏระเบียบต่างๆ และเราไม่รู้เลยว่า Sirius Aviation จะรับมืออย่างไร


แปลและเรียบเรียงจาก World's First Hydrogen-Powered VTOL Jet Has BMW DNA and It Seems Like a Waste of Tech โดย Daniel Patrascu


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ศึกยุติทำงานไกล เมื่อบรรดา CEO อยากให้พนักงานกลับออฟฟิศ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine