สตาร์ทอัพ ride-sharing ฉุดยอดขายรถยนต์ในอินเดียให้ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ - Forbes Thailand

สตาร์ทอัพ ride-sharing ฉุดยอดขายรถยนต์ในอินเดียให้ต่ำสุดในประวัติศาสตร์

วัยรุ่นอินเดียกำลังผลักดันให้ความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างการซื้อรถเป็นของตัวเอง เปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้บริการ shared mobility หรืออาจเรียกว่า ride-sharing มากขึ้น

งานวิจัย Global Automotive Consumer 2019 ของ Deloitte ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่า กว่าครึ่งหนึ่งของชาวมิลเลนเนียลในประเทศอินเดีย ต่างตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการซื้อและเป็นเจ้าของรถยนต์ โดยคอนเซปท์ของ ride-sharing กำลังเติบโตในประเทศที่มีประชากรราว 600 ล้านคนแห่งนี้ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรเป็นคนอายุน้อยกว่า 25 ปี

ผลการศึกษานี้ดูเหมือนเป็นลางร้ายสำหรับภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในอินเดีย ซึ่งมีประจักษ์พยานคือยอดขายรถยนต์ที่แย่ที่สุดในรอบทศวรรษ โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในปี 2019 ตกลงทุกเดือนเมื่อเทียบกับยอดขายปีก่อน

ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในอินเดียอย่าง Maruti Suzuki ซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่เกือบ 50% มียอดขายรถในเดือนกรกฎาคม 98,210 คัน ลดลงถึง 35% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และถือเป็นการดำเนินงานที่แย่ที่สุดของบริษัทในเกือบ 20 ปี

ขณะที่ในภาพรวม ผู้ผลิตรถยนต์ต่างรายงานว่ายอดขายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาย่ำแย่ที่สุดใน 18 ปี ส่วนยอดจำหน่ายของเซกเมนต์รถยนต์นั่งในเดือนกรกฎาคมก็ลดลงถึง 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมียอดขายอยู่ที่ 200,790 คัน ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000

ทั้งนี้ บริษัทรถยนต์ต่างกำลังดิ้นรนในการจัดการกับราคาหุ้นที่ตกลง, จำนวนดีลเลอร์ลดลง, โรงงานปิด, อัตราภาษี GST สูงขึ้น และการปรับขึ้นราคารถยนต์ตามอัตราการปล่อยก๊าซของเครื่องยนต์ซึ่งกำหนดอยู่ในมาตรฐาน Bharat Stage Six

ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าของรถยนต์สักคันนั้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องดำเนินการตามกฎหมายประกันภัยและบรรทัดฐานความปลอดภัยของยานพาหนะใหม่” Jaspal Singh ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษาด้านการขนส่ง Valoriser Consultants กล่าว

Singh กล่าวอีกว่าขณะเดียวกัน วิกฤตสภาพคล่องยังทำให้เกิดการขาดแคลนตัวเลือกทางการเงินจากธนาคารและสินเชื่อที่มีมูลค่าสูงสำหรับผู้ซื้อที่มีศักยภาพ ดังนั้น จึงทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นต่อการซื้อรถยนต์ในระดับต่ำ ซึ่งกระตุ้นให้ดีมานด์การใช้บริการ ride-sharing เพิ่มขึ้น

ด้านรายงานของ Morgan Stanley คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 บริการ shared mobility ในอินเดียจะขยายตัวอย่างมาก จนอินเดียขึ้นแท่นผู้นำของบริการนี้ โดยคาดว่าจำนวนไมล์ที่ใช้ร่วมกันจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 35% ของจำนวนไมล์ที่เกิดจากการเดินทางทั้งหมดในประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2040

โดยการขยายตัวของบริการ ride-sharing  ที่รู้จักกันดีอย่าง Ola และ Uber ทำให้ดีมานด์รถยนต์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาลดลงถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้ยังเกิดสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่มาเขย่าโมเมนตัมของสองบริษัทนี้ ด้วยการสร้างนวัตกรรมที่เติมเต็มทุกความต้องการของการใช้ยานพาหนะ ที่ผู้เล่นระดับโลกไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Nitin Chadha ผู้ร่วมก่อตั้ง sRide หนึ่งในสตาร์ทอัพของธุรกิจนี้ กล่าวว่า “อินเดียมีตลาดขนาดใหญ่สำหรับบริการขนส่งที่ราคาต่ำกว่าช่วงราคาของ Uber และ Ola”

ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นสตาร์ทอัพ shared mobility ในประเทศ sRide ได้ร่วมกับบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Capgemini, Infosys, Wipro และ Tech Mahindra เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การขาดที่จอดรถที่เพียงพอ รวมถึงความท้าทายในการบริหารการใช้รถในช่วงเวลาพีคของวันทำงานอย่างตอนเช้าและเย็น

จากการที่เราได้มอบบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ทำให้รายได้ของเราเติบโตขึ้น 10 เท่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา” Nitin กล่าว และว่า นั่นทำให้ Ola สนใจเข้ามาลงทุนใน sRide และถือครองหุ้นในบริษัทอยู่ 26%

ในกลุ่มธุรกิจให้เช่ารถยนต์ Driverzy และ Zoomcar จัดเป็นบริษัทที่เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบบริการเช่าสินค้า และนำไปสู่ไลฟ์สไตล์ที่ไม่ต้องมีทรัพย์สินเยอะ

Zoomcar สตาร์ทอัพผู้ให้บริการเช่ารถในอินเดีย ที่ลูกค้าสามารถสมัครสมาชิกรายเดือนได้ด้วย (Photo Credit: Zoomcar)

โดยสตาร์ทอัพเหล่านี้ให้บริการเช่ารถขับเองซึ่งลูกค้าสามารถเลือกเซกเมนต์ของรถที่ต้องการได้อย่างอิสระ พร้อมทั้งไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสินทรัพย์เสื่อมราคานี้ด้วย โดยพวกเขามุ่งเน้นไปที่การให้เช่าทั้งนอกเมืองและในเมือง นอกจากนี้ Zoomcar ที่ถือเป็นผู้นำตลาดเช่ารถขับเองยังนำเสนอบริการสมัครสมาชิกรายเดือนอีกด้วย

ตัวเลือกใหม่อย่างการสมัครสมาชิกเช่ารถยนต์กำลังเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากกว่า หากเทียบกับพฤติกรรมการซื้อรถทั่วไป ซึ่งนี่เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และจะสร้างแรงจูงใจต่อผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศให้หันไปลงทุนในพื้นที่ของ shared mobility” Greg Moran ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Zoomcar กล่าว

ขณะที่ในอินเดียปีนี้ ผู้เล่นเบอร์ 2 อย่าง Hyundai Motor ได้ลงทุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน Ola และเริ่มนำเสนอบริการสมัครสมาชิกเช่ารถโดยร่วมกับบริษัท Revv

ส่วนผู้เล่นเบอร์ 3 อย่าง Mahindra & Mahindra ได้เปิดตัวบริการ ride-sharing รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีชื่อว่า Glyd และลงทุนราว 300-400 ล้านเหรียญใน Zoomcar ถือเป็นกลยุทธ์เหมือนกับที่เกิดขึ้นในเวทีโลกอย่างยุโรป, สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ถูกดิสรัปต์เช่นกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างสตาร์ทอัพและผู้ผลิตรถยนต์ได้สร้างกระดูกสันหลังที่แข็งแกร่งด้านเงินทุนและยานยนต์ ซึ่งทำให้สามารถขยายอุตสาหกรรมนี้ไปทั่วประเทศได้” Greg Moran กล่าวเพิ่มเติม

ในขณะที่ตามแผนธุรกิจแบบสองง่ามนั้น (Two-pronged strategy) ผู้ผลิตรถยนต์ต่างให้สตาร์ทอัพเติบโตภายใต้การแทรกแซงในตลาดคาร์แชริ่งของผู้ผลิตรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปร่วมงานกันในปัจจุบันจะเกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะยาวเท่านั้น เพราะในระยะสั้นพวกเขายังประสบปัญหายอดขายที่ลดลงอยู่ ทำให้บริษัทรถยนต์ยังต้องพึ่งพาแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาขับเคลื่อนความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสำคัญระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ ซึ่งนั่นหมายถึงรัฐบาลให้ความสำคัญกับการปกป้องการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ และปกป้องสถานะตลาดรถยนต์เบอร์ 4 โลกของอินเดียด้วย

  แปลและเรียบเรียงจาก Shared Mobility Startups Are Gaining Traction Amidst Historical Drop In Car Sales In India เขียนโดย Karan Kashyap เผยแพร่ครั้งแรกที่ forbes.com