ทะยานสู่ระดับยูนิคอร์นพันล้าน - Forbes Thailand

ทะยานสู่ระดับยูนิคอร์นพันล้าน

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Jun 2017 | 02:51 PM
READ 14239

Nadiem Makarim ลงมือปั้น Go-Jek จนเติบโตกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าทะลุ 1 พันล้านเหรียญแห่งแรกของอินโดนีเซีย

ณ เวลา 11 โมงเช้าของวันหนึ่งในช่วงกลางเดือนธันวาคม บริเวณนอกอาคาร Pasaraya Grande ย่านจัตุรัส Blok M ในเมือง Jakarta มีกลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างในชุดยูนิฟอร์มสีเขียวสดราว 14 คนกำลังพากันส่งเสียงอย่างตื่นเต้น พวกเขากำลังรอถ่ายรูปกับ Nadiem Makarim ผู้ก่อตั้ง PT Go-Jek Indonesia วัย 32 ปี เขาอยู่ตรงกลางและแต่งกายในเสื้อยืดสีดำที่สกรีนคำว่า “Go-Jek” อยู่ด้านหน้า พวกเขากำมือยกขึ้นกลางอากาศและพร้อมใจตะโกนว่า “Go-Jek, Go-Jek, Go-Jek” ขณะที่ยกกล้องขึ้นถ่ายรูปเซลฟี่กับ Nadiem กระแสตอบรับของคนขับมอเตอร์ไซค์เหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในปรากฏการณ์อันไม่ธรรมดาของ Go-Jek จากบริษัทขนาดเล็กที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 ปัจจุบัน Go-Jek ได้ทะยานขึ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จที่สุดของอินโดนีเซียอย่างไม่มีข้อกังขาพร้อมทั้งสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ข้อแรก บริษัทได้ปฏิรูปช่องทางทำมาหากินของชาวอินโดนีเซียหลายพันคนรวมไปถึงวิธีจัดส่งสินค้าและบริการที่ได้พลิกบทบาทจากบริการวินมอเตอร์ไซค์แบบดั้งเดิม ส่วนข้อที่สอง บริษัทแห่งนี้คือยูนิคอร์นรายแรกของอินโดนีเซียหรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าประเมินกิจการมากกว่า 1 พันล้านเหรียญ และประเด็นสุดท้าย Go-Jek หนุนให้ผู้ประกอบการธรรมดาที่เคยไร้ชื่อเสียง Nadiem กลายเป็นที่จับตาขึ้นแท่นดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการเทคโนโลยีอินโดนีเซียที่กำลังเติบโต ในการให้สัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ณ สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Go-Jek บนอาคาร Pasaraya Grande ชั้นบนสุด Nadiem อธิบายถึงความสำเร็จของ Go-Jek Go-Jek มีทั้งหมด 15 บริการ เริ่มตั้งแต่แอพฯ รับ-ส่งข้อความไปจนถึงขนส่งเอกสารและพัสดุ โดยระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ Go-Pay จะเชื่อมโยงและรองรับทุกบริการ ส่วนบริการใหม่ที่ชื่อ Go-Points จะช่วยให้ลูกค้าประจำสามารถสะสมคะแนนหรือรับคะแนนพิเศษเมื่อใช้บริการของ Go-Pay ดังนั้น ผู้ใช้จะสามารถเลือกใช้บริการต่างๆ บนระบบของ Go-Jek สำหรับทุกก้าวของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน “เรามีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายพร้อมรองรับทุกความต้องการ” Nadiem กล่าว เส้นทางของ Go-Jek คล้ายกับผู้บุกเบิกธุรกิจบริการรถโดยสารสาธารณะอย่าง Uber จาก San Francisco ที่ได้ขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆ เช่น Eats สำหรับจัดส่งอาหาร Freight เพี่อขนส่งสินค้าและแม้แต่ Moto บริการรถมอเตอร์ไซค์ที่มีรูปแบบคล้ายกับบริการเริ่มแรกของ Go-Jek Nadiem เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะ มีชีวิตวัยเด็กในหลากหลายประเทศ เขาเกิดที่สิงคโปร์ แต่เติบโตขึ้นที่ออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร “ผมเหมือนนักท่องโลก” เขากล่าว เขาเริ่มก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานกับบริษัท McKinsey ใน Jakarta หลังเรียนจบจากBrown University ในสหรัฐฯ เขาทำงานอยู่ 3 ปีและเริ่มมีความคิดอยากเป็นนายตัวเอง ดังนั้นหลังจากว้าปริญญา MBA จาก Harvard University และ ได้เดินทางกลับมายัง Jakarta เพื่อก่อตั้ง Go-Jek ในช่วงต้นปี 2011 ร่วมกับ Michael angelo “Mikey” Moran ทั้งนี้ Go-Jek เกิดจากไอเดียของ Nadiem ที่ต้องการพัฒนาบริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เขาใช้เป็นประจำ ในตอนนั้น Nadiem ใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์หลายครั้งในแต่ละวัน ซึ่งเขาพอใจมากกว่าการเรียกแท็กซี่หรือขับรถยนต์ส่วนตัว จนวันหนึ่งเขาเกิดความคิดที่จะตั้งศูนย์บริการลูกค้าที่ผู้โดยสารสามารถกดโทรศัพท์เรียกบริการรถมอเตอร์ไซค์ ในปีเดียวกัน Go-Jek เริ่มอยู่ในกระแสความสนใจเมื่อบริษัทคว้ารางวัลอันดับหนึ่งจากงาน Global Entrepreneur Program Indonesia (GEPI) ในกลุ่มบริษัทนอกธุรกิจเทคโนโลยีประจำปี 2012 โดย Nadiem ได้แรงหนุนครั้งสำคัญเมื่อ Eric Schmidt พูดถึง Go-Jek โดยนำไปเปรียบเทียบกับ Amazon ระหว่างขึ้นกล่าวบนเวทีที่งาน GEPI หลังจากระดมเงินทุนได้ ส่วนหนึ่ง Nadiem พร้อมเปิดตัวแอพฯ แรกของ Go-Jek ในเดือนมกราคม 2015 โดยรองรับทั้งระบบ iOs และ Android ขณะที่ก่อนหน้านั้นบริษัทดำเนินการผ่านเว็บไซต์และบริการ call center และการปฏิบัติการส่วนใหญ่ยังไม่ได้เป็นระบบอัตโนมัติ โดยมีทีมนักบิดในเครือข่าย 500 คน หลังจากนั้นบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายใน 6 เดือนมียอดดาวน์โหลดแอพฯ 6 ล้านครั้งและทะลุหลัก 9 ล้าน ณ สิ้นปี จากการเติบโตทำให้เหล่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างแบบดั้งเดิมรวมตัวกันประท้วง Go-Jek ในช่วงต้นปี 2015 ความขัดแย้งนี้ได้นำไปสู่การประกาศระงับบริการ Go-Jek เป็นเวลา 12 ชั่วโมงในเดือนธันวาคม 2015 จากคำสั่งของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น แต่ประธานาธิบดี Joko “Jokowi” Widodo ออกมาเพิกถอนคำสั่งด้วยตัวเอง “พวกเขายกเลิกคำสั่งระงับบริการแทบจะในทันที” Nadiem กล่าว ผู้ให้บริการแอพฯ รถร่วมโดยสารประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ในช่วงต้นปี 2016 มีการประท้วงบนถนน โดยบรรดาคนขับแท็กซี่พากันออกมาเดินขบวนบนถนนหลักของกรุง Jakarta พร้อมจุดไฟและปิดการจราจร“มันทำให้เราเป็นบริษัทที่มีความแตกต่างหลังรอดจากหายนะความรุนแรงเหล่านี้” Nadiem กล่าว “เหตุการณ์เหล่านี้สอนให้เรารู้จักควบคุมความกลัวและรับมือกับความวิตกกังวล” อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางอุปสรรคปัญหาดังกล่าวแต่ Go-Jek ยังคงเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ในเดือนธันวาคม 2016 Go-Jek และ Go-Pay มียอดใช้บริการรวมกันเกือบ 35 ล้านครั้งหรือคิดเป็นมูลค่าราว 1 พันล้านเหรียญ (คำนวณโดยประมาณการเป็นรายได้ต่อปี) และมีการเรียกใช้บริการเฉลี่ยมากกว่า 8 ครั้งต่อวินาที ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด App Annie เผยว่าปัจจุบันมีการดาวน์โหลดแอพฯ Go-Jek มากกว่า 30 ล้านครั้ง โดยการติดตั้งแอพฯ บน iOs ทะลุ 70% และบน Android มากกว่า 30% ในกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในอินโดนีเซีย (บริการรถร่วมโดยสารได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Go-Ride) “เราอาจเป็นแอพฯ ด้านธุรกรรมการบริการที่ครองสัดส่วนมากที่สุดในประเทศในแง่อัตราการเข้าถึงผู้ใช้มือถือ” Nadiem กล่าว ทีมขับรถของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คนและบริการ Go-Pay ของบริษัทซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายน 2016 อาจแตกหน่อธุรกิจเพิ่มเติม “บางธุรกิจของเรากำลังจะแตกลูกแตกหลาน” Nadiem กล่าว การสนับสนุนครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2016 เมื่อบริษัทได้รับเงินทุน 550 ล้านเหรียญจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรวมถึง KKR & Co, Warburg Pincus, Farallon Capital และ Capital Group การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในสองประเด็นหลักนั่นคือ จำนวนเงินและนักลงทุน เงินทุนมูลค่า 550 ล้านเหรียญทุบสถิติมูลค่าสูงสุดของการระดมทุนเพื่อเข้าลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับ Go-Jek คือตลาดอินโดนีเซีย Nadiem ระบุชัดเจนว่า Go-Jek จะไม่ขยายธุรกิจไปยังประเทศในอาเซียนหรือประเทศอื่นๆ เหมือน Grab หรือ Uber แทนที่จะขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ Nadiem ต้องการตอกย้ำความแข็งแกร่งในตลาดเดิมที่กำลังไปได้สวยอย่างอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “Go-Jek พุ่งเป้าไปที่อินโดนีเซียเพราะเรามีความเป็นชาตินิยม” Nadiem กล่าว นอกจากนี้ Nadiem กำลังเตรียมตัวรับมือการเติบโตครั้งสำคัญดังจะเห็นได้จากการย้ายมายังสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ บริษัทเหมาพื้นที่ชั้นบนสุดของอาคาร Pasaraya Grande ซึ่งเต็มไปด้วยโต๊ะและเก้าอี้ที่ยังว่างอยู่ พร้อมแผนสร้างร้านอาหารและระเบียงดาดฟ้ากลางแจ้งสำรับพนักงานที่มีกว่า 1,800 คน ในสำนักงานมีทั้งลังซึ่งจุแน่นไปด้วยน้ำแร่บรรจุขวดพร้อมดื่มสำหรับเติมความสดชื่นและป้ายที่แปะอยู่บนโต๊ะเพื่อบอกว่าแต่ละแผนกอยู่ตรงส่วนไหน ส่วนบริเวณที่ Nadiem นั่งอยู่ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งไม่ได้กั้นห้องเช่นเดียวกับคนอื่นๆ มีป้ายติดอยู่เช่นกันโดยเขียนสั้นๆ ว่า BOD “เราจะอยู่ในตลาดอินโดนีเซียนี้ไปอีกนาน” Nadiem กล่าว  
คลิกอ่าน "ทะยานสู่ยูนิคอร์นพันล้าน" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ พฤษภาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine