อีกหน่อยนุดจะฟังเราออก! Baidu ยื่นขอจดสิทธิบัตรใช้ AI แปลงเสียงสัตว์เป็นคำพูด - Forbes Thailand

อีกหน่อยนุดจะฟังเราออก! Baidu ยื่นขอจดสิทธิบัตรใช้ AI แปลงเสียงสัตว์เป็นคำพูด

เหล่าทาสเคยเป็นไหม อยากเข้าใจว่าที่น้องหมาน้องแมวร้องนั้น กำลังอยากบอกอะไร? ซึ่งดูเหมือนว่าอนาคตที่เราจะฟังพวกเขาออกได้ กำลังใกล้เข้ามาทุกที หลังล่าสุดบริษัทเทคโนโลยีของจีน Baidu กำลังศึกษาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการแปลเสียงที่ไม่เข้าใจเหล่านั้นให้กลายเป็นภาษามนุษย์


    Baidu ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องมือค้นหาที่ใหญ่ที่สุดในจีน ได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติของจีน โดยมีข้อเสนอในการพัฒนาระบบอัจฉริยะที่สามารถแปลงเสียงที่สัตว์ร้องออกมาให้เป็นภาษามนุษย์ได้

    นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามถอดรหัสการสื่อสารของสัตว์มานานแล้ว และสิทธิบัตรของ Baidu นี้แสดงถึงความพยายามล่าสุดในการใช้ AI เพื่อทำสิ่งนี้

    เอกสารกล่าวระบุว่า ระบบจะเก็บข้อมูลจากสัตว์ รวมถึงเสียงร้อง พฤติกรรม และสัญญาณทางสรีรวิทยา ซึ่งจะได้รับการประมวลผลล่วงหน้าและรวมข้อมูลทั้งหมดก่อนที่จะมีการวิเคราะห์โดย AI เพื่อตรวจจับสถานะทางอารมณ์ของสัตว์

    สถานะทางอารมณ์เหล่านั้นจะถูกเชื่อมโยงกับความหมายทางภาษาศาสตร์ และแปลเป็นภาษามนุษย์

    Baidu กล่าวในเอกสารสิทธิบัตรว่าระบบนี้อาจช่วยให้เกิด “การสื่อสารทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งและความเข้าใจระหว่างสัตว์และมนุษย์ที่ดีขึ้น” โดยช่วยเพิ่มความถูกต้องและประสิทธิภาพในการสื่อสารข้ามสายพันธุ์

    “มีความสนใจมากมายในการยื่นคำขอสิทธิบัตรของเรา” โฆษกของ Baidu กล่าวเมื่อถูกถามว่าเมื่อไหร่ที่บริษัทจะสามารถนำสิทธิบัตรนี้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ “แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย”

    Baidu เป็นหนึ่งในบริษัทจีนรายใหญ่ที่ลงทุนใน AI อย่างหนักหลังจากการเปิดตัว ChatGPT ของ OpenAI ในปี 2022

    บริษัทได้เปิดตัวโมเดล AI ล่าสุดของตนอย่าง Ernie 4.5 Turbo เมื่อเดือนที่แล้ว โดยกล่าวว่าโมเดลนี้สามารถแข่งขันได้กับโมเดลที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมในการทดสอบหลายตัวชี้วัด อย่างไรก็ตาม Ernie ยังไม่สามารถสร้างความนิยมได้มากนักท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง

    ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ Baidu เท่านั้น นอกประเทศจีนเอง หลายบริษัทก็พยายามที่จะตีความสิ่งที่สัตว์ต้องการสื่อสาร

    นักวิจัยระหว่างประเทศจาก Project CETI (Cetacean Translation Initiative) ได้ใช้การวิเคราะห์เชิงสถิติและ AI ตั้งแต่ปี 2020 เพื่อทำความเข้าใจว่าวาฬสเปิร์มสื่อสารกันอย่างไร ขณะที่ Earth Species Project ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 และได้รับการสนับสนุนจาก Reid Hoffman ผู้ก่อตั้ง LinkedIn ก็กำลังพยายามใช้ AI ในการถอดรหัสการสื่อสารของสัตว์

    รายงานของสื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับคำขอสิทธิบัตรของ Baidu ได้กระตุ้นการพูดคุยในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีนในวันพุธที่ผ่านมา

    ในขณะที่บางคนรู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะสามารถเข้าใจสัตว์เลี้ยงได้ดีขึ้นในอนาคต แต่บางคนก็ยังคงสงสัย

    "แม้ว่ามันจะฟังดูน่าประทับใจ แต่เราต้องรอดูผลลัพธ์ในแอปพลิเคชันจริง" ผู้ใช้คนหนึ่งแสดงความคิดเห็นบน Weibo



แปลและเรียบเรียงจาก China's Baidu looks to patent AI system to decipher animal sounds

Photo by Jeffrey Buchbinder on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คนไทยเลี้ยงแมวมากเป็นที่ 8 โลก ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 14,200 บาทต่อปี อิมแพ็คฯ เผย ‘แมวเก็ตติ้ง’ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine