‘อินฟลูเอนเซอร์’ อาชีพมาแรงยุคดิจิทัลที่ชาวอเมริกันกว่า 50% อยากทำเป็นงานประจำ - Forbes Thailand

‘อินฟลูเอนเซอร์’ อาชีพมาแรงยุคดิจิทัลที่ชาวอเมริกันกว่า 50% อยากทำเป็นงานประจำ

ในยุคดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่างง่ายดาย ใครๆ ก็สามารถสร้างสรรค์และแบ่งปันคอนเทนต์ของตัวเองได้ ทำให้อินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นอาชีพใหม่มาแรงที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน หนึ่งในนั้นอาจอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากคุณ


    ผลสำรวจล่าสุดของ IZEA แพลตฟอร์มการตลาดและเทคโนโลยีอินฟลูเอนเซอร์ได้ทำการสำรวจผู้พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกากว่า 1,200 คน ที่นิยามตัวเองเป็นอินฟลูเอนเซอร์หรือไม่ก็ตั้งใจจะประกอบอาชีพนี้ พบว่า 54% ของผู้ที่มีอายุ 18-60 ปีบอกว่าพวกเขาจะลาออกจากงานหากสามารถเลี้ยงชีพด้วยการเป็นอินฟลูเอนเซอร์บนโลกโซเชียลแบบฟูลไทม์ได้

    “ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่แค่กระแสชั่วคราว แต่กำลังพลิกโฉมการทำงานแห่งอนาคตครับ” Ted Murphy ซีอีโอ IZEA เผยกับสำนักข่าว Business Insider “สิ่งนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลกำลังปรับเปลี่ยนโมเดลการจ้างงานให้ต่างออกไปจากเดิม”

    อันที่จริง 26% ของผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามบอกว่าพวกเขามองตัวเองเป็นอินฟลูเอนเซอร์ไปแล้ว เพราะพวกเขาใช้เวลาบนโลกออนไลน์ค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่แล้วยังคงดิ้นรนกับการทำงานอื่น โดย 59% บอกว่าพวกเขามีงานประจำทำอยู่

    หากพูดถึงพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ไม่ว่าจะ TikTok, Instagram และแพลตฟอร์มอื่นๆ พบว่า ผู้คนต่างแชร์ประสบการณ์เฉพาะตัวหลากหลายรูปแบบ เช่น การท่องเที่ยว การเงิน แฟชั่น ฯลฯ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีผู้ติดตาม ผู้ชมออนไลน์จำนวนมาก จะเริ่มมีรายได้จากช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเซ็นสัญญาทำงานกับแบรนด์ การโปรโมตสินค้า และสตรีมอื่นๆ จนทำให้หลายคนเลือกออกจากงานประจำเพื่อเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ จากผลสำรวจ IZEA พบว่า 36% ของอินฟลูเอนเซอร์ที่เข้าร่วมทำแบบสำรวจมีรายได้เฉลี่ย 100,000 - 199,000 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2023 เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2022

    เมื่อเม็ดเงินมหาศาลจะหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นทำให้ Emarketer คาดการณ์ว่า ปี 2024 นี้เม็ดเงินที่นักการตลาดในสหรัฐฯ ใช้จ่ายไปกับคอนเทนต์สปอนเซอร์จะเพิ่มขึ้นแตะ 8.14 พันล้านเหรียญ เติบโต 16% เทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม Business Insider ชี้ว่า การยึดงานนี้เป็นแหล่งรายได้หลักอาจไม่มั่นคงนัก จึงทำให้อินฟลูเอนเซอร์ฟูลไทม์หลายคนยังเลือกกลับไปทำงานบริษัท เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และผลประโยชน์จากการทำงานร่วมกับมืออาชีพ

    “มุมมองเกี่ยวกับการเป็นอินฟลูเอนเซอร์แบบฟูลไทม์มักจะดูสวยงามกว่าความเป็นจริง” Mitchie Nguyen คอนเทนต์ครีเอเตอร์กล่าว และบอกด้วยว่างานนี้เหงากว่าที่คิด

    อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายคนที่สร้างรายได้จากการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้มากกว่างานประจำที่บริษัท และเลือกจะลาออกจากงาน เช่น กรณีของ Ariana Nathani ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์บน TikTok และจัดรายการพอดแคสต์ อินฟลูเอนเซอร์สาวรายนี้ทิ้งตำแหน่งงานประจำที่ Johnson & Johnson เพื่อมาทุ่มเทให้กับงานบนโซเชียลมีเดียของเธอเอง

    “การออกจากงานเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่มาก แต่ฉันหวังว่าทุกวินาทีและหยาดเหงื่อที่ทุ่มเทลงไปจะผลิดอกออกผลค่ะ” เธอให้สัมภาษณ์กับ Business Insider โดยรายได้ส่วนใหญ่ของเธอมาจากการเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ต่างๆ เช่น Bumble และ About Time Coffee ผ่านการโพสต์คอนเทนต์สปอนเซอร์ โดยเธอทำเงินจากช่องทางนี้ 49,700 เหรียญเมื่อปีที่ผ่านมา

    รายงานของ IZEA พบว่าผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่เข้าร่วมทำแบบสำรวจ 64% ยินดีตกลงรับค่าตอบแทนเพื่อให้แบรนด์ต่างๆ ใช้พื้นที่ของพวกเขาเพื่อโปรโมตสินค้าและบริการ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงระหว่างปริมาณเวลาที่คนๆ หนึ่งใช้ไปกับโลกออนไลน์และโอกาสที่จะได้รับการจ้างให้โพสต์คอนเทนต์ ผู้ที่ใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวันบนโลกโซเชียลมีโอกาสทำเงินมากกว่าถึง 4.4 เท่า

    “สถิติชี้ชัดว่าการลงทุนด้านเวลาเพื่อสร้างตัวตนในโลกออนไลน์และผลิตคอนเทนต์สำหรับผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนมาเป็นโอกาสทางการเงินและเพิ่มความสำคัญของโซเชียลมีเดียที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจปัจจุบันได้” Murphy จาก IZEA กล่าว


แปลและเรียบเรียงจาก ‘สร้างความเชื่อใจ’ หลักการของผู้นำ Amazon ที่ไม่ใช่แค่ ‘ใจดีให้พนักงานรัก’

ภาพ: Pexels


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พาตัวเองไปอยู่กับคนเก่ง ไม่หยุดเรียนรู้ และเป็นที่รัก 3 คำแนะนำสู่ความสำเร็จจาก Warren Buffett

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine