เพราะเป็น Gen Z จึงเจ็บปวด! เงินเดือนน้อย ค่าครองชีพสูง ไร้เงินเก็บเกษียณ - Forbes Thailand

เพราะเป็น Gen Z จึงเจ็บปวด! เงินเดือนน้อย ค่าครองชีพสูง ไร้เงินเก็บเกษียณ

ชาว Gen Z กำลังเผชิญช่วงเวลาอันยากลำบาก ทำงานหาเงินใช้เดือนชนเดือน ลืมเรื่องการสร้างเนื้อสร้างตัวไปได้เลย


    ผู้ใหญ่ชาว Gen Z และมิลเลนเนียลราว 38% เชื่อว่าพวกเขากำลังประสบความไม่มั่นคงทางการเงินสูงกว่าที่รุ่นพ่อรุ่นแม่เคยเจอเมื่ออายุเท่ากัน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจ อ้างอิงจากรายงานล่าสุดของ Bankrate โดย Gen Z คือนิยามเรียกผู้ที่เกิดระหว่างปี 1996-2012

    Bankrate พบว่า ยามเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น 53% ของคน Gen Z วัยทำงานยังบอกด้วยว่าพวกเขาหารายได้เสริมมากเสียยิ่งกว่าคนรุ่นอื่นๆ อีก เพื่อให้มีเงินใช้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายรายเดือน น้อยคนนักจะได้เก็บออมเงินสำหรับอนาคต

    “แน่นอนว่านี่เป็นความท้าทายใหญ่หลวง” Laurence Kotlikoff ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบอสตันและประธานบริษัทซอฟต์แวร์ช่วยวางแผนทางการเงิน MaxiFi กล่าว “ผู้ปกครองต้องตระหนักว่าเด็กๆ กำลังมีปัญหา”


ชาว Gen Z ต้องฝ่าอุปสรรคนานัปการเพื่อความมั่นคงทางการเงิน

    อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่มความยากลำบากต่อผู้คนที่กำลังเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว กว่าครึ่ง (53%) ของชาว Gen Z เผยว่าค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกลายเป็นกำแพงขวางกั้นไม่ให้พวกเขาไปถึงความสำเร็จทางการเงิน อ้างอิงจากผลสำรวจโดยธนาคารแห่งอเมริกา

    นอกเหนือจากค่าอาหารและที่อยู่อาศัยที่แพงกว่าเดิมแล้ว ชาวมิลเลนเนียลและ Gen Z ยังต้องเผชิญอุปสรรคทางการเงินอื่นๆ ที่รุ่นพ่อรุ่นแม่ของพวกเขาไม่เคยเจอตอนยังหนุ่มยังสาว ไม่เพียงแค่ค่าจ้างที่พวกเขาได้รับจะน้อยกว่าสมัยพ่อแม่อายุ 20-30 กว่าๆ พวกเขายังต้องแบกรับหนี้ก้อนโตจากเงินกู้เพื่อการศึกษา

    ประมาณสามในสี่ของชาวอเมริกัน Gen Z บอกว่าเศรษฐกิจทุกวันนี้ทำให้พวกเขาไม่อยากตั้งเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว และสองในสามก็เผยว่าพวกเขาอาจไม่มีวันมีเงินพอสำหรับเกษียณ ตามข้อมูลจากรายงาน Prosperity Index Study โดย Intuit


คนรุ่นใหม่ยังมีเวลาเป็นแต้มต่อพอให้ตั้งตัว

    “ชีวิตของชาวอเมริกันอายุน้อยไม่ได้สบายนักท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ทุกๆ ความพยายามที่พวกเขาทุ่มเทสร้างความมั่นคงทางการเงินจะผลิดอกออกผลแน่นอน” Sarah Foster นักวิเคราะห์จาก Bankrate กล่าว

    เธอเสริมว่า ชาว Gen Z ยังมีข้อได้เปรียบสำคัญคือเวลา พวกเขายังมีเวลาเก็บออมอีกนานสำหรับเป้าหมายในระยะยาว เช่น การเกษียณ

    “ให้ความสำคัญกับการลงทุนในตัวเอง จ่ายหนี้ให้หมด และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้นโดยการเก็บออมทั้งสำหรับระยะสั้นและระยะยาว” Foster แนะนำ

    ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับผลประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้นมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเงินที่หาได้ถูกนำไปลงทุนซ้ำ ก็จะงอกเงยยิ่งขึ้นไปอีก

    Matt Schulz หัวหน้านักวิเคราะห์จาก LendingTree บอกแก่ CNBC ว่า ไม่มีทางลัด แต่มีพฤติกรรมทางการเงินบางประการที่จะให้ผลตอบแทนแน่นอน “ส่วนใหญ่แล้วเรื่องเกี่ยวกับการออมเงินนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสามารถทำกันได้ง่ายๆ”

    “ก็เหมือนกับการมีไลฟ์สไตล์สุขภาพดีนั่นแหละ แค่ต้องทำเรื่องที่ถูกต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความอดทน”


แปลและเรียบเรียงจาก Gen Z says they have it harder than their parents did — and the economy is to blame


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เศรษฐกิจไทยปี 67 ไหวแค่ไหน? เมื่อคนไทยเป็นหนี้นาน-พึ่งงานนอกระบบ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine