ยักษ์ไอทีคัดค้านหนัก
ใจความสำคัญของคดีต่างๆ คือ การตีความขอบเขตการบังคับใช้ของกฎหมาย SCA ซึ่งรัฐบาลตีความว่ากฎหมายนี้ใช้บังคับได้ตราบใดที่เกี่ยวข้องกับคดีที่เกิดขึ้นภายในประเทศ แต่อีกมุมหนึ่ง บริษัทเทคโนโลยีและกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพ มองว่า หมายค้นไม่สามารถใช้ได้กับข้อมูลที่อยู่ในแผ่นดินต่างประเทศ ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม คดีที่กดดันที่สุดอยู่ในรัฐ Philadelphia ที่ซึ่ง Google ได้รับคำสั่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ให้ส่งข้อมูลของบัญชี Gmail บัญชีหนึ่งเพื่อใช้ในการสืบสวนคดีฉ้อโกง คดีไปถึงขั้นอุทธรณ์และมีบริษัทใหญ่ใน Silicon Valley หนุนหลัง ทั้ง Apple, Amazon, Cisco, Microsoft และ Yahoo ที่ร่วมกันลงชื่อใน เอกสารการให้ข้อมูลต่อศาลก่อนการตัดสินคดี (amicus briefs) เพื่อสนับสนุนจุดยืนของ Google เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เอกสารเสนอว่าศาลควรจะตัดสินตามแนวทางเดียวกับคดีของ Microsoft โดยกล่าวอ้างความกังวลเกี่ยวกับนโยบายความเป็นส่วนตัว และมองว่ารัฐบาลสหรัฐฯไม่มีสิทธิในการเรียกดูข้อมูลผู้ใช้ที่เก็บไว้ในต่างประเทศ ด้วยสาเหตุ อาทิ- เป็นการบุกรุกในอำนาจอธิปไตยของต่างประเทศที่สภาคองเกรสไม่ได้รับอำนาจเหนือ
- การบังคับใช้กฎหมายเกินเลยจากขอบเขตดินแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ปัญหาเดียวกันจะเกิดขึ้น เพราะการกระทำนี้เป็นการเชื้อเชิญให้ชาติอื่นสามารถบังคับให้รัฐบาลสหรัฐฯและบริษัทเทคโนโลยีส่งข้อมูลการสื่อสารส่วนตัวของประชาชนสหรัฐฯที่เก็บไว้ในสหรัฐฯ เพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อมูลที่จะส่งจากต่างประเทศ
- บริษัทเทคโนโลยีที่เก็บรักษาข้อมูลผู้ใช้ไว้ในต่างประเทศอยู่ในจุดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องเสี่ยงกับการละเมิดกฎหมายต่างประเทศด้านนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ เพื่อจะปฏิบัติตามหมายค้นที่ออกโดยศาลสหรัฐฯ
- ลูกค้าไม่ได้คาดหวังว่ารัฐบาลจะตั้งกฎเกณฑ์ให้ผู้ให้บริการต้องเข้าถึง ทำสำเนา และส่งต่อข้อมูลในอีเมลของพวกเขาให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อส่งต่อแก่ผู้บังคับใช้กฎหมาย การกระทำที่มอบอำนาจให้แก่รัฐบาลเกินปกตินี้ถือเป็นการบุกรุกความเป็นส่วนตัว
รอสภาคองเกรสฟันธง
สำหรับกระทรวงยุติธรรมแห่งสหรัฐฯ (DoJ) การตัดสินคดีของ Microsoft และความพยายามของยักษ์ใหญ่แห่ง Silicon Valley เพื่อสกัดการเข้าถึงกลายเป็น “ปัญหาที่สำคัญยิ่ง” เพราะการที่ Google สร้างระบบจัดเก็บแบบทั่วโลกทำให้ FBI เข้าถึงข้อมูลยากลำบากขึ้น แม้ว่าบริษัทไอทีจะไม่ได้ตั้งใจจัดระบบเพื่อขัดขวางการสืบสวนสอบสวนก็ตาม สำหรับฟากบริษัทไอทีและผู้สนับสนุนมองว่าการตัดสินใจของรัฐบาลเกินขอบเขตอย่างมาก Lee Tien ทนายความอาวุโสของ Electronic Frontier Foundation (EFF) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความเป็นส่วนตัว กล่าวโจมตีว่า “หากยึดตามหลักของบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 4 แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ (Fourht Amendment) นี่เป็นการกระทำที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญ” (หมายเหตุ: Fourth Amendment คือ สิทธิของประชาชนในความปลอดภัยของร่างกาย ทรัพย์สิน และเคหะสถาน จากการตรวจค้นหรือยึด จะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุอันควรไม่ได้) สิ่งเดียวที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็คือ เรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับคำอธิบายให้กระจ่างจากสภาคองเกรสว่ากฎหมายมีวัตถุประสงค์ให้ข้อมูลแบบไหนที่เข้าถึงได้และไม่ได้ เพราะกฎหมาย SCA ซึ่งตราขึ้นตั้งแต่ปี 1986 ปรับตัวตามไม่ทันเทคโนโลยี ยกตัวอย่างระบบการเก็บข้อมูลของ Google แค่เพียงไฟล์เดียวก็ถูกแยกชิ้นส่วนไปเก็บตามแหล่งต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่กฎหมายระบุให้ข้อมูลที่รัฐเข้าถึงได้ต้องอยู่ภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายซับซ้อน แต่ความหวังที่จะเร่งสร้างความกระจ่างให้กฎหมายคงไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะเพียงแค่ต้นเดือนพฤษภาคม คณะกรรมการตุลาการวุฒิสภา ซึ่งจะทำการไต่สวนขอบเขตกฎหมาย SCA ก็เริ่มส่อแววเตะถ่วง ด้วยการขอเลื่อนการไต่สวนไปแล้ว 1 นัดเป็นวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ โดยไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นเรียบเรียงจาก Inside Google's Fight To Keep The U.S. Government Out Of Gmail's Inboxes โดย Thomas Fox-Brewster