มหาเศรษฐีญี่ปุ่นเตือน Brexit อาจทำให้ UK กลับไปสู่สถานะ "คนป่วยแห่งยุโรป" - Forbes Thailand

มหาเศรษฐีญี่ปุ่นเตือน Brexit อาจทำให้ UK กลับไปสู่สถานะ "คนป่วยแห่งยุโรป"

มหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดในญี่ปุ่นเตือน Brexit นั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติและอาจทำให้สหราชอาณาจักรกลับไปอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเหมือนยุค 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่สหราชอาณาจักรถูกขนานนามว่าคนป่วยแห่งยุโรป

Tadashi Yanai มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Fast Retailing ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าอย่าง Uniqlo กล่าวว่า สหราชอาณาจักร (United Kingdom: UK) ได้ประโยชน์หลายปีจากการเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด แต่การออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit จะเปลี่ยนสิ่งนั้น และอาจกระตุ้นให้คนที่มีความสามารถหลายคนมองหางานที่อื่น

ทั้งนี้ การออกจากสหภาพยุโรปยังทำให้สหราชอาณาจักรต้องพบกับความท้าทายมากมาย เนื่องจากความจำเป็นต้องรักษาพรมแดนแบบเปิดระหว่างไอร์แลนด์ (เป็นสมาชิก EU) และไอร์แลนด์เหนือ (เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร) นอกจากนี้ยังรวมถึงการเรียกร้องขอแยกตัวออกเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการโหวตต่อต้านการออกจากสหภาพยุโรปในการลงประชามติเมื่อปี 2016

ผมคิดว่า Brexit นั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะจะทำให้พรมแดนเก่าสั่นคลอน และสหราชอาณาจักรหรือ UK ก็มีปัญหาทั้งกรณีของไอร์แลนด์เหนือและสกอตแลนด์ด้วย Yanai กล่าวกับ CNN Businessดังนั้น ผมคิดว่าการออกจากสหภาพยุโรปจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำได้จริง แม้ UK จะบอกว่าต้องการออกจากสหภาพยุโรปให้ได้จริงก็ตาม

หากเกิด Brexit ขึ้นจริงก็อาจทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรย้อนกลับไปเป็นแบบเดียวกับสถานการณ์ก่อนยุคของ Margaret Thatcher ซึ่งเป็นยุคที่สหราชอาณาจักรได้ชื่อว่าเป็นคนป่วยแห่งยุโรป ซึ่งผมกลัวว่าสถานการณ์นี้อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง

โดยอดีตนายกรัฐมนตรี Margaret Thatcher ผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1979 ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นช่วงหลายปีที่ระบบเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรประสบภาวะอัตราเงินเฟ้อและการว่างงานสูง จนในช่วง 1980 การดำเนินงานของ Thatcher ที่ปฏิรูปประเทศด้วยการเพิ่มเสรีภาพให้กับเอกชน ลดการควบคุมจากภาครัฐ ทำให้บริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นเริ่มมองว่าสหราชอาณาจักรเป็นประตูสู่ทวีปยุโรป ก่อนที่พวกเขาจะเทเม็ดเงินลงทุนในโรงงานประกอบรถยนต์, ธนาคาร และธุรกิจอื่นๆ

Uniqlo แบรนด์เรือธงของ Fast Retailing เริ่มเข้าไปทำตลาดใน London เป็นครั้งแรกเมื่อ 18 ปีก่อน (Photo Credit: AFP)

สำหรับอาณาจักรเสื้อผ้าระดับโลก Fast Retailing ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Uniqlo ร้านเสื้อผ้าที่เปิดสาขาแรกนอกประเทศญี่ปุ่นคือที่กรุง London เมื่อ 18 ปีก่อน หลังจากนั้นก็ได้ขยายสาขาไปที่ตลาดหลักๆ ทุกตลาดทั่วโลก โดยปีที่ผ่านมา Fast Retailing มียอดขาย 2.13 ล้านล้านเยน (ราว 1.92 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดย Forbes ประมาณการว่า Yanai มีสินทรัพย์ราว 3 หมื่นล้านเหรียญ และเป็นมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดในญี่ปุ่น

คำเตือนของ Yanai เกี่ยวกับการออกจากสหภาพยุโรปนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของผู้ประกอบการญี่ปุ่นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป และการเตรียมพร้อมออกจากกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปของ UK ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ เพราะหากสหราชอาณาจักรออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลงเพื่อปกป้องการค้า ก็จะทำให้สินค้าต่างๆ ที่ผลิตจาก UK แล้วส่งเข้าไปจำหน่ายใน EU ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากร ซึ่งสินค้านั้นรวมถึงรถยนต์ที่ผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่นด้วย

Nissan, Toyota และ Honda ผลิตรถยนต์ราวครึ่งหนึ่งของการผลิตในสหราชอาณาจักร และส่วนใหญ่สินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วก็วางขายในทวีปยุโรป ซึ่งพวกเขาต่างต้องปรับทิศทางให้ตัวเองอีกครั้ง หลังยอดขายตกลงและความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ในอนาคตของประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดกับประเทศใกล้เคียง

โดย Honda ได้ประกาศปิดโรงงาน Swindon ในปี 2022 ขณะที่ Nissan ได้ยกเลิกแผนการสร้างโมเดล X-Trail ในเมืองทางตอนเหนือของ Sunderland และยังย้ายการผลิตรถยนต์หรูรุ่นอื่นไปยังประเทศอื่นด้วย ฟาก Toyota ระบุเมื่อเดือนก่อนว่า บริษัทกำลังวางแผนหยุดการผลิตชั่วคราวของโรงงานใน Derbyshrine ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจทำให้การขนส่งที่ท่าเรือใน UK ต้องหยุดชะงักซึ่งอาจส่งผลต่อซัพพลายของชิ้นส่วนรถยนต์

ส่วน Uniqlo นั้น Yanai กล่าวว่า บริษัทยังคงมุ่งมั่นรักษาสถานะในสหราชอาณาจักรไปอีกนาน แม้ว่าจะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตก็ตาม

การดำเนินงานของ Uniqlo ในสหราชอาณาจักรในช่วงไม่กี่ปีมานี้เรียกได้ว่าต้องอาศัยการดิ้นรนไม่น้อย แม้ว่าปัจจุบันจะยังคงรักษาสาขาทั้ง 13 สาขาไว้ได้ แต่ความทะเยอทะยานขยายสาขาในช่วงต้นยุค 2000 กลับนำไปสู่ผลลัพธ์ตรงกันข้ามที่ทำให้เขาต้องปิดสาขาไปถึง 16 สาขา

อย่างไรก็ตาม คำเตือนจากชายที่ร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่นมาพร้อมกับการที่ Liz Truss เลขาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร เดินทางมา Tokyo เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น ในช่วงเวลาที่ใกล้ถึงการออกจาก EU ของสหราชอาณาจักรแล้ว

ทั้งนี้ แม้เกิดกรณีการออกจากสหภาพยุโรป แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นหนึ่งในนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเกาะบริเทน ซึ่งรัฐบาลระบุว่ามีมูลค่าลงทุนกว่า 3.7 หมื่นล้านเหรียญ โดยมีบริษัทญี่ปุ่นราว 1,000 บริษัทที่ตั้งอยู่ในบริเทน และทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 150,000 ตำแหน่ง

โดย Truss ได้ส่งสัญญาณถึงความต้องการในการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น ซึ่งเธอกล่าวว่าภาคธุรกิจสามารถมั่นใจได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีเจตจำนงที่จะเริ่มเจรจาถึงข้อตกลงการค้าเสรีใหม่กับญี่ปุ่นโดยเร็วที่สุด

  ที่มา
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine