แอพฯ หาคู่ชาวเกย์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน "Blued" เตรียมเปิดไอพีโอพันล้านปีหน้า - Forbes Thailand

แอพฯ หาคู่ชาวเกย์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน "Blued" เตรียมเปิดไอพีโอพันล้านปีหน้า

Blued แอพฯ หาคู่ชาวเกย์ ที่มุ่งเป้าในหมู่ชาวจีน วางแผนเปิดไอพีโอปีหน้า โดยบริษัทได้รับการประเมินมูลค่าไว้ถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ Blued มีแนวโน้มความเสี่ยงจากการควบคุมทางสังคมการเมืองในประเทศจีนเองและในประเทศอื่นๆ

Bloomberg รายงานว่า Blue City บริษัทผู้พัฒนาแอพฯ Blued อยู่ระหว่างเตรียมยื่นเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2020 โดยคาดว่าจะระดมทุนได้ 200 ล้านเหรียญ ทั้งนี้ แอพฯ Blued ซึ่งมีต้นกำเนิดในจีน เลือกเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะมีขั้นตอนการจดทะเบียนที่ง่ายกว่าและนักลงทุนก็กระเป๋าหนักกว่าในแดนมังกร

Blued นั้นเป็นแอพฯ หาคู่ที่มุ่งเป้ากลุ่มเกย์ชายและมีผู้ใช้ถึง 40 ล้านคน ซึ่งรายงานบางฉบับกล่าวถึงแอพฯ นี้ว่าเป็นแอพฯ หาคู่ของกลุ่มเกย์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน

โดยนอกจากจะเป็นแอพฯ หาคู่ให้คนโสดแล้ว ยังมีฟังก์ชันให้คู่รักชาวเกย์สามารถจับคู่กับแม่อุ้มบุญในต่างประเทศได้ด้วย ฟังก์ชันใหม่นี้ถือเป็นการสร้างความหลากหลายที่สำคัญของ Blued ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

Geng Le ประธานกรรมการบริษัทและผู้ก่อตั้ง แอพพลิเคชั่น Blued โดย Geng Le เป็นชื่อที่เขาใช้ในห้องแชท ส่วนชื่อจริงของเขาคือ Ma Baoli

อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่หนึ่งแอพฯ Blued อาจต้องเผชิญความยากลำบากในการจูงใจนักลงทุนจากการเลือกจับกลุ่มเกย์ เนื่องจากในประเทศจีนนั้น แม้ว่ากฎหมายเอาผิดความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันจะถูกยกเลิกไปเมื่อปี 1997 แต่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนก็ไม่ได้มีทัศนคติที่ดีนักต่อชุมชุม LGBTQ

ล่าสุดรัฐบาลจีนยังมีการสั่งแบนละครโทรทัศน์ที่ฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน กระตุ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วประเทศ ขณะที่ในอินโดนีเซีย Blued รวมถึงแอพฯ จับคู่กลุ่ม LGBTQ อื่นๆ ก็ถูกต่อต้านโดยรัฐและถูกตำรวจท้องถิ่นเพ่งเล็งชุมชนนี้

สำหรับการก่อตั้ง Blued นั้นเริ่มขึ้นโดย Geng Le ประธานกรรมการบริษัทผู้พัฒนาแอพฯ นี้ขึ้นในปี 2012 หลังจากที่เขาถูกบีบให้ลาออกจากอาชีพเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้ง Blued ระดมทุนสะสมไปแล้ว 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจาก Blued แล้ว แอพฯ หาคู่ชื่อดังในหมู่เกย์ทั่วโลกอย่าง Grindr ก็มีบริษัทจีนเป็นเจ้าของเช่นกัน โดยบริษัท Beijing Kunlun Tech Co. เข้าซื้อหุ้น 60% ใน Grindr เมื่อปี 2016 จากนั้นพวกเขาซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 80% ในปี 2018

Grindr เองกำลังเตรียมแผนเปิดไอพีโออีกครั้ง หลังจากผ่านปัญหายุ่งยากเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามบีบให้ Beijing Kunlun Tech Co. ขายบริษัท Grindr เพราะกังวลประเด็นภัยความมั่นคงของชาติ เนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกันในแอพฯ นี้มีทั้งเรื่องรสนิยมทางเพศจนถึงข้อมูลการติดเชื้อเอชไอวีซึ่งอาจจะเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับแบล็กเมล์ได้

  ที่มา   อ่านเพิ่มเติม