ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน กนง. มีมติคงดอกเบี้ย ชี้โควิดระลอก 3 กระทบหนักเศรษฐกิจไทย หนุนรัฐเร่งกระจายวัคซีน พระเอกช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 – 65 ขึ้นกับแผนกระจายวัคซีน มีผลต่อเศรษฐกิจไทย ร้อยละ 3 – 5.7 ของจีดีพี
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน กนง. วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ถือเป็นอัตราที่อยู่ในระดับต่ำและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่จำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด พร้อมประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากจากการระบาดของโควิด 19 ระลอก 3 ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมกนง.ครั้งนี้ คณะกรรมการได้ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งกระทบการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการเปิดประเทศที่ช้ากว่าคาดและนโยบายจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน สำหรับแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่มีผลต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานที่จำกัด ขณะที่มาตรการเยียวยาและมาตรการการเงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น และแรงกระตุ้นภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 อาจลดลงจากการเร่งเบิกจ่าย พ.ร.ก. กู้เงินในปีงบประมาณปัจจุบัน ทั้งนี้ ความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ขึ้นอยู่กับ 1. การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีนป้องกัน โควิด-19 2.การฟื้นตัวที่แตกต่างกันและไม่ทั่วถึง ทำให้ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น และส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและการบริโภคภาคเอกชน และ 3. ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง ขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลงทำให้ความสามารถในการรองรับค่าใช้จ่ายได้ลดลง ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ ทิตนันทิ์ กล่าวว่า แผนการจัดหาและกระจายวัคซีน เป็นพระเอกที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยกนง.ได้ประเมินผลจากวัคซีนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยเป็น 3 กรณี โดยการฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้นจะช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 – 2565 ตั้งแต่ร้อยละ 3 – 5.7 ของจีดีพี หรือประมาณ 4.6 – 8.9 แสนล้านบาท ดังนี้ กรณีที่ 1 หากฉีดวัคซีนได้เร็ว และจัดหาวัคซีนได้เพิ่มเติม 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 และทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาสแรกของปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2 ในปี 2564 และ 4.7 ในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 1.2 – 15 ล้านคน อัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.7 ล้านคน กรณีที่ 2 หากฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่ 64.6 ล้านโดส และทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาส 3 ของปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2564 และ 2.8 ในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 1 – 12 ล้านคน อัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.8 ล้านคน กรณีที่ 3 หากฉีดวัคซีนได้น้อยกว่าแผนที่ 64.6 ล้านโดส และทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาส 4 ของปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 1 ในปี 2564 และ 1.5 ในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 8 แสน – 8 ล้านคน อัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.9 ล้านคน “ตอนนี้ วัคซีนเป็นพระเอก ผลวัคซีน ผลจากวัคซีน จะช่วยลดการระบาดระลอกใหม่ และลดภาระการคลังจากมาตรการเยียวยาต่างๆ ทำให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เร็วขึ้น อย่างช้าคือปลายปีนี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ถ้าวัคซีนมาเร็ว ทำให้เอสเอ็มอี ภาคท่องเที่ยว แรงงานฟื้นตัวได้เร็ว มาตรการดูแลอื่นๆ จะมุ่งไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป” ทิตนันทิ์ กล่าว ห่วงอัตราการว่างงานนานขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุม กนง. ยังเป็นห่วงสถานการณ์การว่างงานของไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก แม้ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564 อัตราการว่างงานจะลดลงอยู่ที่ 3.7 แสนคน แต่แนวโน้มผู้ว่างงานในระยะยาวมีเพิ่มขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ว่างงานตั้งแต่การระบาดระลอกแรก และปัจจุบันยังคงว่างงานอยู่ มีประมาณ 60,000 คน จำนวนผู้ว่างงานระยะสั้น ปัจจุบันอยู่ที่ 80,000 คน และผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน หรือเด็กจบใหม่ มีจำนวน 2.6 แสนคน ทิตนันทิ์ กล่าวว่า การที่แรงงานบางกลุ่มว่างงานนานขึ้น อาจเกิดแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทยที่แรงขึ้น สะท้อนจากผู้ว่างงานระยะกลางกลายเป็นผู้ว่างงานระยะยาว หรือออกไปนอกกำลังแรงงานมากขึ้น ผู้ว่างงานระยะกลางส่วนใหญ่ว่างงานจากภาคบริการในสาขาร้านอาหาร การค้า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน อายุ 15 – 30 ปี และมีทักษะปานกลาง – ต่ำ ขณะที่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งมาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลัง ควรรักษาความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลังและลดผลกระทบของการระบาด รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ออกมาเพิ่มเติมควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและประเมินประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่ออย่างใกล้ชิด อ่านเพิ่มเติม: สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” เร่งเพิ่มโอกาสช่วยสมาชิกหลังโดนพิษโควิด-19 รอบที่ 3ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine