มิจฉาชีพหลองลวงออนไลน์ยังสูงต่อเนื่อง กว่า 2 ปีที่ผ่านมาเกิดความเสียหายเกือบ 70,000 ล้านบาท ล่าสด Whoscall จึงจับมือ 11 องค์กรทั้งภาครัฐ-เอกชน เปิดตัวฟีเจอร์ Scam Alert เตือนภัยมิจฉาชีพ ใช้ฟรีได้บนแอปฯ
นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) ในฐานะผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall กล่าวว่า ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาการหลอกลวงออนไลน์เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยหลายแสนคนต่อปี สถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่างเดือนมีนาคม 2565 ถึงกรกฎาคม 2567 พบว่าความเสียหาย จากการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่ารวมเกือบ 70,000 ล้านบาท หรือ เฉลี่ย 78 ล้านบาทต่อวัน
ทั้งนี้ ผลสำรวจเบื้องต้นจากรายงานของ องค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) ประจำปี 2567 ยังพบว่ามีคนไทยเพียง 55% ที่มั่นใจว่า รู้เท่าทันมิจฉาชีพ และ 89% เผยว่าต้องรับมือกับมิจฉาชีพ อย่างน้อยเดือนละครั้ง สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มิจฉาชีพได้ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาวิธีการหลอกลวงให้แนบเนียนยิ่งขึ้น เช่น การสร้างข่าวเท็จ เว็บไซต์ปลอม ฯลฯ
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 Whoscall สามารถตรวจพบสายโทรเข้าจากมิจฉาชีพได้เกือบ 19 ล้านครั้ง ในขณะที่กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (MDES) สามารถปิดกับเว็ปไซต์ที่บิดเบือน/หลอกลวง จำนวนกว่า 47,000 รายการ ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 - สิงหาคม 2567
ล่าสุด Whoscall เปิดตัวฟีเจอร์ ‘Scam Alert’ (เตือนภัยกลโกง) เป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ ที่ช่วยแจ้งเตือนภัยกลลวงและรับมือกับการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ออนไลน์ในรูปต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีและทั่วถึง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน 11 องค์กร ได้แก่
- สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
- สำนักงานคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)
- กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง (บช.ก.)
- กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
- บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)
- บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (ทรู)
- บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ
- บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์
- กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
- สภาองค์กรของผู้บริโภค
- โครงการโคแฟค ประเทศไทย (Cofact Thailand)
ทั้งนี้ Scam Alert เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกออกแบบให้เป็นฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์สำหรับประชาชน โดยแบ่งเป็น การเตือนภัยโดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐและข้อมูลเตือนภัยกลโกงในรูปแบบต่างๆ จากพันธมิตรภาคเอกชน ที่สามารถใช้ได้บน แอปพลิเคชัน Whoscall โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งเวอร์ชั่นฟรีและพรีเมียม ได้แก่
1) เตือนภัยกลโกงล่าสุด (Scam Trending Alert) ผู้ใช้งาน Whoscall สามารถเปิดการแจ้งเตือน อัตโนมัติบนแอปพลิเคชันเพื่อรับข้อมูลแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพที่สำคัญและเร่งด่วน เช่น การแอบอ้าง หน่วยงานที่สำคัญ การหลอกลวงที่มีมูลค่าความเสียหายขนาดใหญ่และก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างและการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลจากองค์กรภาครัฐ เช่น กองบัญชาการตํารวจ สอบสวนกลาง ตำรวจไซเบอร์ กสทช. และ สกมช.
2) เตือนภัยกลโกงรู้ทันมิจฉาชีพ (Scam Education Content) ฟีเจอร์นี้จะเป็นแพลตฟอร์ม ที่รวมความรู้เกี่ยวกับ กลวิธีการหลอกลวง และเคล็ดลับการป้องกันต่างๆ จากภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เช่น การหลอกลวงด้านการลงทุน การหลอกลวงการชำระบิล การหลอกลวง ในการซื้อของ การหลอกลวงทางอีคอมเมิร์ซ รวมถึงรายงานและข้อมูลเชิงลึกจาก Whoscall และ องค์กร Global Anti-Scam Alliance (GASA)
ปัจจุบัน Whoscall รวบรวมฐานข้อมูลครอบคลุมหมายเลขโทรศัพท์กว่า 2,600 ล้านเลขหมาย และรวบรวมลิงก์ที่เป็นอันตรายทั่วโลก อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์ และจำลองรูปแบบการหลอกลวง เพื่อป้องกันเชิงรุก ต่อการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
“การป้องกันการหลอกลวงเริ่มต้นด้วยการได้รับข้อมูลอย่างทันท่วงทีจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ซึ่งนอกเหนือจากผู้ใช้งานจะได้ รับทราบข้อมูลการเตือนภัย ผ่านฟีเจอร์ Scam Alert แล้ว Whoscall มีฟีเจอร์อื่นๆ เพื่อเป็นเกราะ ป้องกันความปลอดภัยเพิ่มเติม ให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน เช่น Auto Web Checker เพื่อปกป้องผู้ใช้จากการคลิก ลิงก์ฟิชชิ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจแบบอัตโนมัติ และ ID Security (เช็กข้อมูลรั่วไหม) เพื่อช่วยตรวจสอบความปลอดภัย ของข้อมูลส่วนบุคคลจากฟีเจอร์ที่ใช้งานได้ฟรีและแบบพรีเมียม” นายแมนวู กล่าว
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เพราะ ‘สูงวัย-กลุ่มแม่ๆ’ คือเป้าหมายมิจฉาชีพ Whoscall ผนึกกำลังตำรวจไซเบอร์ แจกโค้ดพรีเมียม 500,000 โค้ด ฟรี!
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine