ttb เผยเศรษฐกิจตึงตัวกระทบสินเชื่อบ้าน-รถ ชี้กลุ่มรายได้ 3-5 หมื่นบาท เริ่มเปราะบาง - Forbes Thailand

ttb เผยเศรษฐกิจตึงตัวกระทบสินเชื่อบ้าน-รถ ชี้กลุ่มรายได้ 3-5 หมื่นบาท เริ่มเปราะบาง

ธนาคารทหารไทยธนชาตเผยเศรษฐกิจไทยตึงตัวกระทบสินเชื่อบ้าน-รถปีนี้อาจไม่ถึงเป้าหมายที่เคยวางไว้ ส่วนหนี้เสียตอนนี้ยังทรงตัว แต่ในส่วนบ้านปลายปีอาจะเพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า ชี้กลุ่มรายได้ 3-5 หมื่น/เดือนเริ่มเปราะบางต้องติดตามใกล้ชิดมากขึ้น


     นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อรายย่อยของทีทีบีอาจจะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ตอนต้นปี 2567 ไม่ได้โฟกัสที่การเติบโตสินเชื่อมากนัก สาเหตุเพราะเศรษฐกิจที่ตึงตัว และอีกส่วนมาจากยอดจดจำนองบ้านและรถยนต์ที่ต่ำลง การอนุมัติสินเชื่อปรับลดลง แม้จะไม่มีการปรับเงื่อนไขการขอสินเชื่อ แต่ภาระหนี้ต่อรายได้ของลูกหนี้ยังน่ากังวล มีเพียงสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังขยายตัวได้บ้าง จากคนยังต้องการสภาพคล่องมากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจนี้ อย่างไรก็ตามพอร์ตสินเชื่อไม่มีหลักประกันยังไม่สามารถชดเชยสินเชื่อบ้านและรถได้

     ในส่วนของสินเชื่อบ้าน ยังคงมีกลุ่มเปราะบางเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ 30,000-50,000 บาทต่อเดือน เริ่มมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ตามแนวโน้มความเปราะบางที่เพิ่มขึ้น จึงต้องเน้นเรื่องการจับกลุ่มลูกค้าและเจรจาปรับโครงสร้างหนี้

     ขณะที่ภาพรวมหนี้เสีย หรือ NPL ปัจจุบันทรงตัว แต่คาดว่าสิ้นปีอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสินเชื่อบ้านมี NPL ที่ราว 2% ช่วงสิ้นปีอาจเพิ่มขึ้นราว 0.1-0.2% ส่วนหนี้เสียรถยนต์อยู่ที่ 1% กว่า (ส่วนหนึ่งเพราะเป็นสินเชื่อรถยนต์ใหม่) แต่ยังเป็นกลุ่มที่มองว่าน่ากังวลเป็นพิเศษ ช่วงที่ผ่านมาจึงหันมาปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ก่อนจะกลายเป็นหนี้เสีย (DR) มากขึ้น ในส่วนสินเชื่อรถยนต์ช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมส มีการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยมาที่ 11,000 – 12,000 รายต่อเดือน จากเดิมที่ช่วงต้นปีอยู่ที่ราว 5,000-6,000 รายต่อเดือน ส่วนสินเชื่อบ้านมีการทำ DR ยังอยู่ในสัดส่วนปกติที่ราว 2,000-3,000 ราย เนื่องจากลูกค้าบางส่วนมีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้งตั้งแต่ครั้งมาตรการช่วยเหลือช่วงการระบาดโควิด -19 

     ทั้งนี้ ยังเชื่อมั่นว่าหากธนาคารมุ่งเน้นเรื่องปรับโครงสร้างได้ดี น่าจะทำให้แนวโน้มหนี้เสียชะลอตัวลง เพราะสามารถพยุงลูกค้า และเพิ่มโอกาสไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียได้มากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าอาจมีบางส่วนที่ไหลไปเป็น NPL อย่างไรก็ตามจากการพุดคุยกับลูกค้าช่วงที่ผ่านมาพบว่า ลูกค้าอาจกังวลในการทำ DR หากมีประวัติเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ในระบบเครดิตบูโร 



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แบงก์ชาติ - ส.ธนาคารไทย- แบงก์รัฐ เร่งออกมาตรการด่วนช่วยลูกหนี้ลดผลกระทบน้ำท่วม

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine