กรุงศรี-ทีทีบี มองสินเชื่อ SME ปี 67 โตตามเศรษฐกิจไทยแค่ 2-3% จับตาหนี้เสียต่อเนื่อง - Forbes Thailand

กรุงศรี-ทีทีบี มองสินเชื่อ SME ปี 67 โตตามเศรษฐกิจไทยแค่ 2-3% จับตาหนี้เสียต่อเนื่อง

ธุรกิจขนาดกลางและเล็กหรือ SME เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะมีการจ้างงานมากกว่า 70% และหากดูมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วยังมีส่วนกว่า 35% ของ GDP ไทย แต่ปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่าสินเชื่อให้กับกลุ่ม SME ยังหดตัวและยังมีฐานะทางการเงินที่เปราะบาง

แต่สถานการณ์ปี 2567 นี้จะเป็นอย่างไร


กรุงศรี คาดสินเชื่อ SME ปี 67 โตตามเศรษฐกิจที่ 2-3%

    เริ่มกันที่ ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ปี 2567 นี้ กรุงศรีประเมินว่ายอดสินเชื่อใหม่ SME จะอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท จะขยายตัวตามการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ราว 2-3% (แม้ปี 2566 จะขยายตัว 11%) ซึ่งการเติบโตระดับนี้ยังมีความท้าทาย เพราะมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่างๆ เช่น เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว การกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ ฯลฯ

    ขณะเดียวกันคาดว่าจะควบคุมหนี้เสีย หรือ NPL ไว้ที่ระดับ 2.5% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยหนี้เสียยังกระจายตัวในหลายอุตสาหกรรม แต่การเป็น NPL ยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางการเงินของแต่ละบริษัท เช่น หากลูกหนี้มีภาระหนี้สินเยอะจากการขยายตลาด หรืออื่นๆ ทางธนาคารจะให้ความช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้

ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

    ทั้งนี้ ปี 2567 มีกลยุทธ์ 3GO ได้แก่ GO Green ที่เน้นให้สินเชื่อเพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน GO Digital จะพัฒนาบริการดิจิทัลที่ตอบโจทย์ และ GO Beyond ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น แพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจ Krungsri Business Link ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 2,000 บริษัท โดยคาดว่าสิ้นปี 2567 จะมียอดสินเชื่อคงค้างในส่วน SME ราว 350,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3.24%) จาก ณ สิ้นปี 2566 ที่อยู่ระดับ 339,000 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาทางกรุงศรีฯ SME ได้ปล่อยสินเชื่อ ESG ในหลายกลุ่ม โดยแบ่งสัดส่วนเป็น Environment ที่ 35% และ Social ที่ 65% นอกจากนี้ยังมีการให้สินเชื่อเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality) ให้กับธุรกิจ SME ที่มีผู้บริหารหรือเจ้าของที่เป็นผู้หญิง นับตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างที่ 23,138 ล้านบาท


ttb ชี้ตลาดสินเชื่อ SME อาจติดลบต่อในปีนี้เพราะยังต้องระมัดระวัง

    ขณะที่ ศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb กล่าวว่า ปี 2567 นี้มองว่า ในภาพรวมตลาดสินเชื่อ SME ยังมีความเป็นไปได้ที่จะติดลบอีก เพราะเห็นความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อจากความผันผวนปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในส่วนของ ttb สินเชื่อ SME ยังเน้นการเติบโตอย่างระมัดระวังมาตลอด โดยเลือกจากอุตสาหกรรมที่ยังเติบโต และวิเคราะห์งบการเงิน ตรวจสอบบริษัทในเครือเพื่อให้สินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ดังนั้นจึงตั้งเป้าหมายว่าปี 2567 นี้จะลดต้นทุนความเสี่ยง (Risk Cost) ให้เหลือ 0.7% จากปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 0.86%

ศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb

    ทั้งนี้ ประมาณการณ์ว่าปี 2567 สินเชื่อธุรกิจ (ทั้งรายใหญ่และ SME) ของ ttb จะไม่ได้เติบโตมากนักโดยมองว่าสินเชื่อใหม่จะเติบโตที่ราว 2-3% และสิ้นปี 2567 คาดว่าจะมียอดสินเชื่อคงค้าง 500,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจให้เติบโตมากกว่า 15% ซึ่งมาจากการเพิ่มโซลูชั่นทางธุรกิจให้หลากหลายและเป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น และจะเพิ่มบริการ Corporate Card รวมถึงให้บริการฝั่งประกันภัยมากขึ้น โดยปัจจุบันส่วนใหญ่รายได้ค่าธรรมเนียมมาจากธุรกรรมการค้า และอัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ

    อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4/67 จะมีการออก SME Digital Lending หรือสินเชื่อ SME ในรูปแบบดิจิทัล คาดว่าจะให้วงเงินสินเชื่อราว 2-5 ล้านบาท แต่อยู่ระหว่างการทำโมเดลธุรกิจ ซึ่งหากเปิดตัวแล้วได้รับการตอบรับที่ดี อาจขยายวงเงินสินเชื่อให้มากขึ้น เพราะในอนาคตสาขาธนาคารจะลดลงจึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มที่ดี และต้องทำทุกธุรกรรมบนออนไลน์ได้


    นอกจากนี้กลยุทธ์หลักในสินเชื่อธุรกิจปี 2567 จะมุ่งเน้นที่ 4 กลยุทธ์ ได้แก่
1. Industry Solutions โซลูชันที่ตอบโจทย์ทุกส่วนธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม
2. Green Transition Solutions ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป ฯลฯ โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจ 60,000 ล้านบาท
3. Digital Solutions จะพัฒนาทุกขั้นตอนการทำธุรกรรมให้สามารถทำบนดิจิทัลได้ทั้งหมด
4. Importer-Exporter Solutions โซลูชันบริหารความเสี่ยงสำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก เช่น บริการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน บริหารอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินท้องถิ่น ฯลฯ

    ปัจจุบันฐานลูกค้าของ ttb แบ่งเป็นลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ (ที่มียอดขาย 400 ล้านบาทขึ้นไป) มีจำนวน 45,000 บริษัท ขณะที่ลูกค้า SME (ยอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาท) มีจำนวน 230,000 บริษัท



Photo by Rio Lecatompessy on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ตลาดแบรนด์เนมมือสองเมืองไทยโตดี “KOMEHYO” ร้านญี่ปุ่นร่วมทุนเครือสหพัฒน์ เปิดสาขาที่ 5 ในไทยแล้ว

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine