แม้ครึ่งปีแรก 2567 ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าถึง 7% แต่ครึ่งปีหลังอาจจะผันผวนต่อ ttb analytics คาดว่าแนวโน้มค่าเงินบาทสิ้นปี 2567 จะผันผวนมากขึ้นอยู่ในกรอบ 35-36 บาท/เหรียญสหรัฐ เพราะปัจจัยในประเทศที่เปราะบางกว่าในอดีต
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทโดยรวมปรับอ่อนค่า 7% ถือว่าอ่อนค่าแรงในภูมิภาคเอเชีย เป็นรองจากเงินเยนของญี่ปุ่นเท่านั้น แม้ผลกระทบหลักจะมาจากโยบายการเงินของสหรัฐ แต่อีกปัจจัยที่กระทบคือ ปัจจัยภายในประเทศ เช่น ฤดูการจ่ายเงินปันผล และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศที่กดดันการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ
ในส่วนของครึ่งปีหลัง 2567 นี้ แม้ว่าจากสถิติ 5 ปีที่ผ่านมา ทิศทางค่าเงินบาทมักจะปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เพระาปัจจัยฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย แต่ ttb analytics ประเมินแนวโน้มทิศทางค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น เพราะด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในเชิงการเมืองและการค้า
ณ สิ้นปี 2567 คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สาเหตุเพราะปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศยังคงเปราะบางกว่าในอดีต ได้แก่
1) ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ยังไม่สามารถสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเหมือนในอดีต ตัวที่สะท้อนภาพได้ชัดเจน คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่บอกถึงรายรับและรายจ่ายเงินตราต่างประเทศจากการขายสินค้าและบริการ ปัจจุบันไทยมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไม่มากเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าของไทยโตได้ช้าลง เนื่องจากเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างจากกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีเก่าที่มีความต้องการในตลาดโลกน้อยลง และผลจากนโยบายการกีดกันการค้าที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น จากการระบายสินค้าของจีน (De-Stocking) เข้ามาในไทยและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง
ซึ่งหากดูตัวเลขดุลการค้า (Trade Balance) ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลเพียง 7.1 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าเกินดุลเฉลี่ยปี 2558-2562 ที่ 14.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ในส่วนดุลบริการของไทยครึ่งแรกของปีของปี 2567 การท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวน 0.83 ล้านล้านบาท น้อยลงจากช่วงปี 2562 ที่สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท ผลจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปลี่ยนไป ในขณะที่ดุลบริการในส่วนของค่าขนส่งที่ปกติขาดดุลอยู่เดิมมีแนวโน้มติดลบมากขึ้นจากการปรับขึ้นค่าระวางเรือตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจากปัญหาความขัดแยังในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ
2) ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital & Financial Account) ยังขาดดุลเพิ่มขึ้น กดดันค่าเงินบาทต่อเนื่อง ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายที่สะท้อนการลงทุนโดยตรง และสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังมีแนวโน้มไหลออกจากปัจจัยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังมีอยู่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนภายในประเทศ และทิศทางของเงินทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงกว้างกว่าในอดีต ยังไม่เอื้อต่อการแข็งค่าของเงินบาท หนึ่งในนั้นคือการที่นักลงทุนภายในประเทศมีความสนใจสินทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตราสารหนี้ (Bonds) ที่มีเงินทุนไหลออกกว่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงไตรมาสที่ 1 จากผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้น ตามวัฏจักรดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในระดับสูง
ตลอดจนการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การไปลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนในประเทศ ประกอบกับดอกเบี้ยต่างประเทศที่สูงกว่าทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มส่งออกมีการฝากเงินสกุลต่างชาติมากขึ้น แทนการแลกเงินสกุลบาททันที เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศยังคงกว้างกว่าในอดีตมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวลดแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
3) แนวโน้มวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงทั่วโลก อาจช่วยสนับสนุนการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ แต่ต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศ แม้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะคาดว่า Fed จะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในช่วงปลายปีนี้ หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น ซึ่งบางส่วนอาจช่วยลดแรงกดดันเงินทุนไหลออกจากประเทศไทยได้บ้าง เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินตลอดทั้งปีนี้
อย่างไรก็ตาม การดึงดูดเงินทุนต่างชาติเข้าสู่สินทรัพย์ของไทยยังคงจำกัดจากการที่ตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีหุ้นกลุ่ม Growth และดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงต่ำ เมื่อเทียบกับภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลก และเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ ตลอดจนความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ ที่ยังคงมีอยู่
สุดท้ายนีั้ ttb analytics มองว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจไม่ฟื้นตัวตามที่เคยคาดการณ์ไว้ เพราะการส่งออกได้รับผลกระทบจากการค้าโลก ขณะที่ปัจจัยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังกดดันราคาพลังงานและขนส่งสินค้าให้อยู่ในระดับสูงต่อไป นอกจากนั้นวัฏจักรนโยบายการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเปลี่ยนผ่านนโยบายทางการเมืองของสหรัฐฯ จะสร้างความผันผวนและความไม่แน่นอนมากขึ้นให้กับตลาดการเงินโลก ดังนั้นผู้ประกอบการควรเตรียมตัวและป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ไต้หวัน’ จุดหมายใหม่นักท่องเที่ยวไทย หลังขยายนโยบายฟรีวีซ่าพาคนไทยไปไต้หวันโตเกือบ 18%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine