ข่าวใหญ่ของวันนี้ (3 เม.ย. 68) หนีไม่พ้นการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ โดยจะเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ จากนานาประเทศขั้นต่ำ 10% ซึ่งไทยเผชิญกับอัตราภาษีถึง 37% สูงเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน และอัตรานี้ถือว่าสูงกว่าที่เหล่านักวิเคราะห์คาดไว้มาก
ขณะที่ประเทศที่เจออัตราภาษีสูงสุดคือ กัมพูชาที่โดนในอัตรา 49%, เวียดนาม 46%, อินเดีย 27%, เกาหลีใต้ 26%, ญี่ปุ่น 24%, และสหภาพยุโรป (EU) 20% แต่สิ่งที่หลายคนจับตามองคือ จีน ประเทศที่เป็นคู่ค้ากับทั่วโลกประกาศเพิ่มอีก 34% ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทย สรุปแล้วหลังจากนี้เราจะเจอผลกระทบอย่างไรบ้าง (ทางทำเนียบขาวมีการปรับเปลี่ยนข้อมูลภายหลังจากการแถลงข่าว)
ทองคำราคาพุ่ง! เปิดตลาดบวก 650 บาท ก่อนทยอยลดลง
ราคาทองโลกเร่งตัวแรงตามความกังวลต่อนโยบายภาษีการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ที่เบื้องต้นจะบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย. 68 (ที่อัตราภาษี 10%) และจะบังคับใช้อย่างเต็มอัตรากับกว่า 60 ประเทศในวันที่ 9 เม.ย. 68 เรียกว่าไทยอาจเจอภาษีการนำเข้าสูงถึง 37% ต่างจากเดิมที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองไว้ที่ระดับ 10-15% เท่านั้น
เช้าวันนี้ราคาทองคำแท่งจากสมาคมค้าทองคำเปิดตลาด (9.12 น.) อยู่ที่ 51,250 บาทต่อบาททองคำ เพิ่มขึ้นแรงถึง 650 บาท จนถึงช่วงเวลา 13.43 น. ราคาทองคำไทยปรับเปลี่ยนกว่า 18 ครั้ง โดยลดลงรวม 13 ครั้ง (รวม 700 บาท) จนราคาอยู่ที่ 50,750 บาทต่อบาททองคำ
ด้านผลกระทบต่อราคาทองคำ MTS GOLD ระบุว่า เช้าวันนี้ราคาทองคําปรับตัวขึ้นทันที และทํา All Time High ใหม่ที่ระดับ 3,167 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 3,140-3,155 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ในส่วนของกองทุนทองคํา SPDR เมื่อวานนี้ซื้อเข้า 0.57 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 931.94 ตัน ด้านส่วนราคาทองคำของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 51,250 บาทต่อบาททองคำ ส่วนหนึ่งเพราะค่าเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ 34.32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ในระยะต่อไปมองว่า ราคาทองคำยังจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีแรงเทขายทํากําไรในบางช่วง แต่ภาพรวมยังค่อนข้างเป็น Super Bullish โดยวันนี้คาดว่าราคาทองคําจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 3,135 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และแนวต้านที่ระดับ 3,180 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ในส่วนของราคาทองไทยจะมีแนวรับระยะสั้นที่ 50,800 บาทต่อบาททองคํา และมีแนวต้านระยะสั้นที่ 51,500 บาทต่อบาททองคํา

ตลาดหุ้นโลกหวั่นไหว จับตาเศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำ 2%
แน่นอนว่าเมื่อทรัมป์ประกาศท่าทีตอบโต้ที่รุนแรง ทำให้นักลงทุนเริ่มมองความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ผลกระทบแรกที่ชัดเจนคือ ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่แกว่งตัวในกรอบแคบ แม้ดัชนี Dow Jones จะบวก 0.5% แต่ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวลดลงตั้งแต่ 2-5% ส่วนตลาดหุ้นในเอเชีย ประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ดัชนี Nikkei ลดลง 3.3% ดัชนี Hang Seng ลดลง 2.0% รวมถึง SET Index ที่เปิดตลาดแดงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ 1,160.74 จุด ลดลง 11.95 จุด (1.02%)
ในด้านเศรษฐกิจไทย ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT กล่าวว่า การที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ชาติต่างๆ โดยระบุว่าลดราคาให้แล้วครึ่งนึง พร้อมประกาศว่าเป็น Liberation day หรือวันปลดแอกที่สหรัฐถูกชาติต่างๆแย่งชิงทรัพยากรและความมั่งคั่งไป พร้อมจะตอบโต้แบบตาต่อตา คือใครทำอะไรกับสหรัฐ สหรัฐก็จะทำคืน รวมถึงบอกว่าภาษีที่จัดเก็บได้นี้จะมาลดหนี้ นำมาใช้จ่ายให้คนสหรัฐ มีมุมมองว่า ทรัมป์ตั้งใจจะลดการพึ่งพิงจีนและชาติอื่นๆ รวมถึงตั้งใจแก้ปัญหาระยะยาวของสหรัฐ ทั้งแผนการลดหนี้และฟื้นฟูภาคการผลิตในสหรัฐ
แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เริ่มเห็นแนวโน้มที่ GDP ไทยอาจโตต่ำ 2% ส่วนหนึ่งเพราะจากภาคการส่งออกของไทยที่คิดเป็น 60% GDP นั้น มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐที่ 20% ของการส่งออกทั้งหมด (โดยรวมแล้วถือว่าเกิน 10% ของ GDPไทย)
“ถ้าส่งออกไปสหรัฐติดลบจะกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็ก้อนใหญ่ที่ส่งไปสหรัฐ ทางอ้อมคือที่ส่งไปประเทศอื่น อย่างจีน เวียดนาม ยุโรปที่จะลำบากมากขึ้นตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลง”
ดร.อมรเทพ มองว่าท่าทีของไทยหลังจากนี้ อาจต้องทำตามที่ทรัมป์เสนอบางส่วน เพื่อแสดงความจริงใจและเพิ่มการต่อรอง อย่างการให้ข้อมูลว่าภาษีที่ไทยเก็บจากสหรัฐไม่ได้สูงอย่างที่เห็น ขณะเดียวกันต้องเตรียมแผนรับมือผลกระทบด้วย เช่น การสวมสิทธิจากจีน สินค้าจีนทะลักกระทบภาคการผลิตไทย และหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงการแจกเงิน แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่น สร้างงาน สร้างรายได้ หามาตรการทางการเงินดูแลผู้ได้รับผลกระทบ คาดว่าหากเจรจายาก และภาษีเกิดจริง คณะกรรมการรโยบายการเงิน (กนง.) น่าลดอัตราดอกเบี้ยลงรอบ 30 เม.ย. นี้
ส่วนภาคการท่องเที่ยวของไทย อาจเจอผลกระทบด้วยหากคนขาดความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ และทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 37-38 ล้านคน แม้จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 35.5 ล้านคน แต่ยังต่ำกว่าที่คาดหวังกันไว้ราว 39 ล้านคน แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์เพิ่มเติม และเชื่อว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นก่อนช่วงสงกรานต์นี้

รัฐบาลไทยพร้อมเจรจาสหรัฐฯ นักวิเคราะห์มอง 3 แนวทางรับมือ 'สู้-หมอบ-ทน'
ในวันเดียวกันนี้ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีของไทย ออกแถลงการณ์ฯ ว่าไทยตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นของสหรัฐฯ ที่จะต้องปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าจำนวนมากผ่านนโยบายภาษี ซึ่งไทยได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมจะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว
เบื้องต้นมีคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นเมื่อ 6 ม.ค. 2568 มาทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจัดเตรียม “ข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีสาระสำคัญเพียงพอให้สหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจากับไทย” ที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยสามารถรับมือเรื่องนี้อย่างไร ยังมีความเห็นจาก ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่ระบุว่า เมื่อสหรัฐฯ คำนวณมาว่า ไทยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ (รวม nontariff barriers) 72% อย่างแรกคือรัฐบาลต้องหาที่มาของตัวเลขนี้ก่อน หลังจากนั้นคือเกมการเจรจา ซึ่งมองว่าไทยมี 3 ทาง (หรืออาจจะผสมผสานทั้ง 3 ส่วน) ได้แก่
1) สู้ เช่น แนวทางของแคนาดา ยุโรป หรือจีน แต่สำหรับไทยอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะไทยพึ่งพิงสหรัฐฯ มากกว่า
2) หมอบ ผ่านการเจรจาเพื่อหาทางออกที่สหรัฐฯ พอใจ เช่น ปรับลดภาษีที่ไทยเก็บสหรัฐในอัตราสูง ยกเลิก nontariff barrier ต่างๆ ฯลฯ รวมไปถึงข้อเสนออื่นๆ อาทิ การนำเข้าพลังงาน นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม ไปจนถึงการเปิดเสรีที่สหรัฐฯ พูดถึงมาตลอด เป็นต้น แต่การจะเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ อาจต้องมีการเจรจาภายใน (ประเทศ) ไปพร้อมกันว่ากลุ่มใดจะได้-เสียประโยชน์
“เกมที่ยากที่สุดคือการหาว่าสหรัฐต้องการอะไรจริงๆ เพราะอาจจะไม่ใช่เกมการค้า แต่เป็นเรื่องอื่นอย่างการทหาร ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เราคงต้องอ่านเกมดีๆ และประเมินผลได้ผลเสีย”
3) ทน ถ้าเราหาทางออกไม่ได้ คงต้องทน หรือหาแนวร่วมจากเพื่อนหัวอกเดียวกันในการกดดันและเจรจากับสหรัฐฯ เพราะเกมนี้สหรัฐอาจเจ็บอยู่ไม่น้อย สุดท้ายอาจจะต้องลดภาษีลงมา ถ้าแรงกดดันในประเทศเพียงพอ แต่การทนและได้แต่หวังแบบไม่มีแผน คงไม่ใช่กลยุทธ์ทางออกที่ดีนัก
ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีความเห็นเพิ่มเติมต่อกรณีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าฯ ของสหรัฐฯ
สุดท้ายนี้ในด้านการเงินนักลงทุนต่างต้องจับตามองว่า ไทยจะมีสามารถเจรจาดีลนี้ออกมาแบบใด หรือภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวรับมือกับสินค้าจีนที่จะทะลักเข้าสู่ตลาดไทย (เพื่อหนีภาษีสูงของสหรัฐฯ) และจะหาตลาดใหม่ๆ เพื่อลดผลกระทบการขึ้นภาษีของทรัมป์ได้อย่างไร
ภาพ: รัฐบาลไทย, สมาคมค้าทองคำ, Brendan SMIALOWSKI / AFP
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เศรษฐกิจไทยปีนี้เสี่ยงสูง! กกร. กังวลนโยบายภาษีทรัมป์-สินค้าจีนทะลัก-ภาคการผลิตยังชะลอต่อเนื่อง
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine