อ่าน 3 ปัจจัยทำ ‘บาทอ่อนค่าหนัก’ เมื่อทรัมป์หั่นเก็บภาษีจีนชั่วคราวเหลือ 30% - จับตา Fed ลดดอกเบี้ย - ราคาทองร่วง - Forbes Thailand

อ่าน 3 ปัจจัยทำ ‘บาทอ่อนค่าหนัก’ เมื่อทรัมป์หั่นเก็บภาษีจีนชั่วคราวเหลือ 30% - จับตา Fed ลดดอกเบี้ย - ราคาทองร่วง

เมื่อวานนี้ (12 พ.ค. 68) ทิศทางสงครามการค้ารอบใหม่ดูจะมีทางออกที่ดียิ่งขึ้น หลังจากสหรัฐฯ ประกาศลดการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนลงชั่วคราว เหลือ 30% จากเดิมที่ 145% ส่วนจีนก็ปรับลดอัตราภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ลงเหลือ 10% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่อง Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไหน รวมถึง ราคาทองที่ร่วงลงยังส่งผลต่อค่าเงินบาทอีกด้วย


    นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเช้าวันนี้ (13 พ.ค.) เปิดตลาดที่ 33.38 บาทต่อเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงหนัก จากที่สัปดาห์ก่อนหน้าปิดตลาดที่ระดับ 33.02 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (9 พ.ค.)   

    นับจากคืนวันศุกร์ค่าเงินบาทเริ่มพลิกอ่อนค่าต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้าน 33.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ไปทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สาเหตุหลักเพราะค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

    1. ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน หลังสหรัฐฯ กับจีนบรรลุข้อตกลงการค้าชั่วคราว ซึ่งภาพดังกล่าวได้ทำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก

    2. จากปัจจัยแรกส่งผลต่อการลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของ Fed

    3. การปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่มีจังหวะย่อตัวลงไปถึงโซน 3,200 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์

    อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบ้างตามแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ

    ส่วนสัปดาห์นี้ (13-16 พ.ค. 68) กรุงไทยระบุปัจจัยที่ต้องจับตาได้แก่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ เช่น อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) ฯลฯ พัฒนาการของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

    ในด้าน Fed หลังจากผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก จึงเห็นการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed จากที่เคยประเมินไว้ว่าอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3-4 ครั้ง ลงมาเหลือ 2 ครั้งในปีนี้ (อาจเริ่มลดดอกเบี้ย ช่วง ก.ย. จากเดิมที่ ก.ค. 68 โดยต้องรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed โดยเฉพาะประธาน Fed Jerome Powell

    อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ เอเชีย อย่าง Alibaba, Tencent และ JD.com ซึ่งจะส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินเอเชียได้พอสมควร

    ทิศทางค่าเงินบาท คาดว่าผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่เริ่มมีภาพของความไม่แน่นอนปรากฎขึ้น รวมถึงรอติดตามผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนเป็นสำคัญ โดยในสัปดาห์นี้คาดว่ากรอบค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.95-33.75 บาท/เหรียญสหรัฐ ระหว่างวันคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.60 บาท/ดอลลาร์เหรียญสหรัฐ

    อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าเงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ หลังโมเมนตัมการอ่อนค่ามีกำลังมากขึ้น โดยเงินบาทยังพอมีแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทว่าทิศทางเงินบาทจะขึ้นกับ เงินดอลลาร์ รวมถึงแนวโน้มราคาทองคำและบรรดาสกุลเงินเอเชีย ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาตินั้น อาจเห็นแรงซื้อหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ ทว่าอาจเห็นแรงขายทำกำไรสถานะลงทุนในบอนด์สั้นและบอนด์ยาวของไทยมากขึ้น

    ส่วนค่าเงินดอลลาร์นั้นประเมินว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจชะลอลงบ้าง และมีความเสี่ยง Two-Way Volatility ซึ่งจะขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยต้องรอลุ้นว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ จะยังคงออกมาสดใส หรือไม่

    นอกจากนี้ ปัจจัยหลักอย่างพัฒนาการของการเจรจาสงครามการค้า ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ยังเล่าถึง การที่จีนกับสหรัฐฯ เริ่มตกลงกันได้ในบางเงื่อนไข โดยมองว่า โลกที่เหมือนเริ่มจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่ไม่ใช่แบบเดิมอีกต่อไป

    สาเหตุเพราะ แม้จะเห็นว่าสหรัฐฯ ยอมถอยบางส่วนเพราะต้นทุนเริ่มส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศ ส่วนจีนยอมเจรจาเพื่อรักษาฐานเศรษฐกิจและกระแสเงินทุน แต่ในภาพรวมตลาดเงินเห็นการตอบสนองในเชิงบวก แต่ยังมีความลังเลแฝงอยู่เช่นกัน

    แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการค้าโลกแบบที่เคยเป็นมา ไปจนถึงความต่อเนื่องของนโยบายที่อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ซึ่งอาจจะสะท้อนไปถึงความสามารถในการวางแผนระยะยาวของภาคเอกชน

    ดังนั้นท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นนี้ การวางกลยุทธ์ต้องปรับให้ยืดหยุ่นกับความเปลี่ยนแปลง แต่ยังต้องเน้นเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการลงทุน นวัตกรรม และประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น



Photo by Mathieu Stern on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คำแนะนำจาก Warren Buffett “อย่าเพิ่งกังวลเรื่องเงินเดือนแรกเริ่มในเส้นทางอาชีพ”

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine