การบินไทย ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 67 กำไรสุทธิเหลือ 2,423 ล้านบาท ลดลง 80.7%YoY เหตุบาทอ่อนค่า และมีการบันทึกผลด้อยค่าสินทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นครั้งเดียว แม้รายได้รวมยังเติบโต 10.7% เผยปีนี้มีแผนเพิ่มความถี่-เพิ่มเที่ยวบินในยุโรป จีน อินเดีย ออสเตรเลีย รวมถึงเตรียมขายเครื่องบินปลดระวาง 18 ลำที่มีผู้ซื้อแล้ว
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,423 ล้านบาท ลดลง 80.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สาเหตุที่กำไรสุทธิลดลงมาจาก ผลกระทบค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่ 5,372 ล้านบาท รวมถึงการบันทึการด้อยค่าของเครื่องบิน และสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน 3,338 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ทำการบินรวม 73 ลำ เพิ่มขึ้น 8 ลำจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 1 ปี 67 ที่มีการบันทึกการด้อยค่าสินทรัพย์นี้มาจากการด้อยค่าเครื่องบิน 12 ลำ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญากับผู้ซื้อ และมีราคาเสนอซื้อที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี นอกจากนี้ยังมีการเจรจากับผู้ซื้อเครื่องบินอีก 6 ลำ (รวมแล้ว 18 ลำที่มีผู้ซื้อแล้ว)
ทั้งนี้ แผนงานในไตรมาส 2 ที่แม้จะเป็น Low season ด้านการเดินทาง แต่มองว่าจะมีบางประเทศที่เป็น High season และจะมีการเพิ่มความถี่ขยายเที่ยวบินเพิ่มเติม อีกทั้งมองว่าการฟรีวีซ่าจีนและอินเดียยังส่งผลให้ความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยการวางแผนเส้นทางการบินในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะขยายไปยังตลาดหลักอย่างยุโรปที่มีสัดส่วน 34.5% และจะเพิ่มเส้นทางการบินใน ออสเตรเลีย เดือน ก.ค. จะมีการเพิ่มเที่ยวบินไปยัง ออสโล นอร์เวย์ มิลาน อินเดีย และจีน (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ) โดยช่วงไตรมาส 4 จะขยายเที่ยวบินไป บรัสเซลส์
ส่วนกรณีที่ที่นั่งบนเครื่องบินไม่พร้อมให้บริการซึ่งเป็นกระแสสังคม ทางการบินไทยเร่งแก้ไขอยู่ แต่เนื่องจากยังต้องแย่งชิงอะไหล่จากผู้ที่ใช้เครื่องบินรุ่นเดียวกันจึงแก้ปัญหาเบื้องต้นผ่านการล็อกการขายตัว ที่นั่งบางส่วนไม่เปิดขาย ก่อนเครื่องออกราว 2 วันจะเช็คความพร้อมเครื่องบินหกาพบปัญหาจะจัดบินที่มีความหนาแน่นผู้โดยสารน้อยกว่า และคาดว่าจะดำเนินการซ่อมแซมให้เรียบร้อยภายในไตรมาส 2 นี้
อย่างไรก็ตามมองว่า ความเสี่ยงในระยะต่อไป คือ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งควบคุมได้ยาก เพราะการบินไทยยังมีรายจ่ายในอนาคตเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อบาทอ่อนค่าจะส่งผลให้ต้องบันทึกผลกระทบในทางบัญชี หรือในกรณีเยนอ่อนค่าส่งผลกระทบต่อรายได้ แต่การบินไทยมีการทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงินตามธรรมชาติ ด้วยการใช้จ่ายในสกุลเงินเยนเพื่อลดความผันผวนที่เกิดขึ้น
ข้อมูลภายในงบการเงินการบินไทย ไตรมาส 1 ปี 67 ที่น่าสนใจ (ณ 31 มี.ค. 67 ) มีดังนี้
- EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 14,000 ล้านบาท ใกล้เคียงไตรมาส 1 ปี 66
- ค่าใช้จ่ายรวม 34,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.5% มาจากค่าใช้จ่ายการบริการผู้โดยสาร ค่าบริการการบินในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินและอุปกรณ์ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 11,075 ล้านบาท ลดลง 15%YoY
- ต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,608 ล้านบาท
- รายได้รวม 45,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7%YoY มาจากการเติบโตของรายได้การขนส่งผู้โดยสารด้วยบริการเที่ยวบินขนส่งที่เพิ่มขึ้น และความต้องการเดินทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
- สินทรัพย์รวม 257,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จากสิ้นปีก่อนหน้า
- หนี้สินรวมจำนวน 297,829 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จากสิ้นปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ในไตรมาส 1 ปี 2567 การบินไทยยัง มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.8 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.1% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 10.1% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 83.5% ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งเฉลี่ยที่ 80.8% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.88 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.2% จากปีก่อน
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Bangkok Airways จัดแคมเปญ 'SAMUI SAVOR' กระตุ้นท่องเที่ยวท้องถิ่นผ่านร้านอาหารบนเกาะสมุย 42 แห่ง
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine