เมื่อเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงขาลง ล่าสุด TISCO ESU หั่นเป้า GDP ไทยปี 68 เหลือ 2.8% แต่ยังไม่รวมผลกระทบนโยบายการค้าจากสหรัฐ โดยมองความเสี่ยงที่ GDP อาจจะลงลึกถึง 2.1% หากกระทบหนักจากสงครามการค้าและนักท่องเที่ยวที่หดหาย แนะนำพอร์ตลงทุนตราสารหนี้ 40% ลงทุนหุ้นโลก 40% และทองคำ น้ำมัน หุ้นสหรัฐกลุ่มการเงิน รวมถึงหุ้นญี่ปุ่น อย่างละ 5%
นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 ยังมีความเสี่ยงและความท้าทายหลายด้าน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงของสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ล่าสุดทาง TISCO ESU จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.0% (ยังไม่รวมผลกระทบสงครามการค้า)
ทั้งนี้ GDP ไทยปี 2568 ยังมีความเสี่ยงที่อาจลงลึกถึง 2.1% (ต่ำกว่าปี 2567 ที่ขยายตัว 2.5%) หากเจอผลกระทบใน 2 ด้านหลัก ได้แก่
1. มาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ (Reciprocal Tariff) ในกรณีที่ไทยต้องเจอกับกำแพงภาษีระดับ 5% อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.35-0.50% ซึ่งยังต้องติดตามในช่วงเดือน เม.ย. 68 นี้ว่า ทางสหรัฐฯ จะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมหรือเจรจาแล้วผลจะเป็นอย่างไร ขณะที่หากมีการตอบโต้ทางภาษีจากสหรัฐฯ บางส่วนอาจกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอาจเลือกย้ายฐานการผลิตกลับไปยังสหรัฐฯ
2. การท่องเที่ยวที่ชะลอลง หากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2568 ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 38.5 ล้านคน อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.20% สาเหตุหลักที่ต้องจับตามองคือจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว จากความกังวลเรื่องความปลอดภัยที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย โดยช่วง 2 เดือนแรกของปี 68 ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 6 ล้านคน ซึ่งในกรณีเลวร้าย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจต่ำกว่า 35.5 ล้านคนซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับปี 2567
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำ 2% หากเจอการตั้งกำแพงภาษีที่สูงถึง 25% จึงมองว่ามีโอกาสค่อนข้างน้อย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง คาดว่าทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย
ในด้านนโยบายการเงิน มองว่าการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 2.00% ในการประชุมครั้งแรกของปี ถือว่าสวนทางกับท่าทีที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งก่อนหน้านี้ กนง. ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่ประเมินไว้ และความเสี่ยงด้านลบเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ยังย้ำว่าเป็นการ “ปรับสมดุลของดอกเบี้ย ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง”
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ที่ 2.8% คาดว่า กนง. อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% ตลอดทั้งปี แต่ไทยเจอผลกระทบจาก Trade War และการท่องเที่ยวที่ชะลอลง มีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกราว 1 - 2 ครั้ง ในปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 1.50-1.75% ต่อปี
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงด้านการลงทุนที่ทั่วโลกต้องจับตามองคือ สงครามการค้า ที่ตั้งแต่ต้นปี 2568 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐมีท่าทีและทยอยประกาศใช้อย่างต่อเนื่อง และต้องจับตาการประกาศนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เม.ย.นี้
จากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ TISCO ESU มองว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วสะท้อนจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1) Investor’s sentiment ถือว่าแย่ใกล้เคียงกับ Bottom ในปี 2022 2) เศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะชะลอตัวแต่ยังขยายตัวต่อเนื่องโดยไม่มี Financial Shock 3) ปัจจัยบวกด้านสภาพคล่องจากที่สถานการณ์ Debt Ceiling ในปัจจุบันรวมถึงการชะลอการทำ QT ตั้งแต่เดือน เม.ย. 4) ต้องติดตามในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 หากมีการลดภาษีนิติบุคคลได้จริง อาจจะชดเชยผลกระทบของ Trade war ได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม สำหรับพอร์ตการลงทุนที่แบ่งเป็นตราสารหนี้ 40% และสินทรัพย์เสี่ยงอีก 60% ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เสี่ยงขาลงนี้ ยังแนะนำสัดส่วนลงทุนในตราสารหนี้ราว 40% (ส่วนใหญ่ยังแนะนำพันธบัตรสหรัฐทั้งระยะสั้นและระยะยาว) สัดส่วนการลงทุนในหุ้นโลก 40% และอีก 20% แบ่งเป็นทองคำ, น้ำมัน, หุ้นกลุ่ม US Finanacial และ หุ้นญี่ปุ่น (อย่างละ 5%)
ภาพ: ทิสโก้
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กสิกรไทยคงเป้าจีดีพีปี 68 โตที่ 2.4% แม้ยังเสี่ยงทั้งสงครามการค้า-ปัจจัยลบเพียบ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine